‘บิ๊กตู่’-ผู้นำฝ่ายค้าน ประชันเวทีถกงบฯ

‘บิ๊กตู่’-ผู้นำฝ่ายค้าน ประชันเวทีถกงบฯ

‘บิ๊กตู่’-ผู้นำฝ่ายค้าน
ประชันเวทีถกงบฯ

หมายเหตุ – ส่วนหนึ่งในการอภิปรายระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อภิปรายเสนอเหตุผลการจัดงบประมาณฯ ขณะที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายแนะนำและข้อเสนอการจัดทำงบประมาณฯ ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

หลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯว่า ตั้งงบไว้ 3,100,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,074,424,773,300 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596,666,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,978,560,000 บาท ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง จากปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่างๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2564-2565 แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง และนโยบายของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

Advertisement

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางตลาดแรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง และนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7

ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2.51 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.26 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 111,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับงบฯเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ

Advertisement

สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 8,068,913.7 ล้านบาท ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 372,784.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง 387,909 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของวงเงินงบประมาณ 2.ด้านการสร้างความสามารถการแข่งขัน 338,547 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การก่อสร้างทางหลวงชนบท การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 548,185.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของวงเงินงบประมาณ พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ให้มีคุณภาพ เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 733,749.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 119,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 เพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว

6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 559,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การส่งเสริมภาครัฐดิจิทัลโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชนการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ยืนยันว่ารัฐบาลได้กลั่นกรองการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ จะเข้มงวดกวดขันป้องกันทุจริตการใช้งบประมาณ พร้อมให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงประชาชนก็แจ้งข้อมูลมาได้ จะใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดความโปร่งใส ทำเพื่อประชาชน เพื่ออนาคตของลูกหลาน

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)
ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน

การจัดทำงบประมาณจำเป็นต้องแก้ไขวิกฤตของประเทศและประชาชนให้ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันเป็นภาวะวิกฤตด้านความมั่นคงทางสุขภาพ เชื่อมโยงกับสถานการณ์เศรษฐกิจ แรงงาน และสวัสดิการในภาวะฉุกเฉิน การจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองและจัดการปัญหาหลายมิติ ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อน ครอบคลุม กระจายทรัพยากรทั่วถึงและเหมาะสม ต้องอาศัยบุคคลที่มีศักยภาพ เข้าใจปัญหา แต่เมื่อได้เห็นงบประมาณที่รัฐบาลนำเสนอเหมือนอยู่กันคนละโลกกับประชาชน เพราะความเป็นจริงที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือยุทธศาสตร์การจัดการภาวะวิกฤตเป็นหลักประกันสำคัญในการกำหนดงบประมาณ เมื่อยุทธศาสตร์มีลักษณะแยกส่วน หน่วยงานแยกกันแบบต่างหน่วยต่างทำ และแย่งกันทำงานอย่างไม่ประสานกัน สะท้อนความล้มเหลวและความหละหลวมในการบริหาร วันนี้ประชาชนกำลังลำบากแต่รัฐบาลกลับวางแผนจัดงบประมาณราวกับประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติ

การรับมือโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 รัฐบาลปลาบปลื้มความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดได้ดี แต่กลับมองไม่เห็นความเดือดร้อนจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะด้านบริการ การท่องเที่ยว ธุรกิจ เอสเอ็มอี ไม่ใส่ใจรับฟังเสียงขอความช่วยเหลือ แก้ปัญหาล่าช้า จนเกิดการระบาดระลอก 2 และระลอก 3 และสิ่งที่ประชาชนได้รับรู้ คือความไม่พร้อมของรัฐบาลเรื่องการวางแผนจัดเตรียมวัคซีน ความผิดพลาดนี้ทำประเทศมีวัคซีนที่จำกัด การระบาดรุนแรงมากขึ้น เกิดปรากฏการณ์วัคซีนไม่พอ มาไม่ทันกำหนด ไม่มีคำอธิบายใดๆ ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เป็นความผิดพลาดที่เพิ่มความสับสน ความกลัวและความวิตกกังวลจากข้อมูลโดยรัฐ

การกระจายวัคซีนที่ไม่หลากหลาย ไม่รวดเร็ว ไม่ทั่วถึง ไม่ทันการณ์ เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงการไร้ศักยภาพการบริหารจัดการของผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีแผนการรับมืออย่างเป็นระบบ ไม่เคยมีแผนทางเลือกเชิงอนาคต การบริหารเศรษฐกิจประเทศ ล้มเหลวไม่เป็นท่า การบริหารประเทศของรัฐบาล ภายใต้การนำของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้มีคนตกงานในระบบประกันสังคมสูงที่สุด อัตราการว่างงานทะยานขึ้นอย่างน่ากังวล คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด เศรษฐกิจเสียหายกว่า 1 ล้านล้านบาท และเศรษฐกิจประเทศมีแนวโน้มจะจมดิ่งต่อไป

สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2565 ที่รัฐบาลนำเสนอมาให้รัฐสภาพิจารณาไม่อาจจะยอมรับให้ผ่านได้ใน 4 ประเด็น คือ 1.เป็นแผนงบประมาณที่ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ไม่ตรงเป้า ไม่บรรเทาความเดือดร้อน ไม่ลดความรุนแรงของปัญหา และที่เห็นได้อย่างชัดเจนมีเสียงท้วงติงจากรอบด้าน คือจัดงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากที่สุด ซึ่งมากกว่าของกระทรวงสาธารณสุขถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาท โดยในแผนงบประมาณปี 2565 งบกระทรวงสาธารณสุข ถูกปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ถึงกว่าสี่พันล้านบาท

2.ไม่คำนึงถึงปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน ไม่แยแสทุกข์ของประชาชน ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา ในสภาวะของประเทศที่ต้องการสวัสดิการเพื่อดูแลชีวิตของประชาชน แต่งบประมาณของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กลับถูกตัดลดลงไปอย่างมาก

3.ไม่มีวิสัยทัศน์ ขาดการคิดวางแผนงบประมาณในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมตัวให้ประเทศออกจากวิกฤต เช่น การเตรียมจัดงบที่สนับสนุนการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การดูแลและฟื้นฟูงบประมาณให้ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจรายย่อยที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่โควิดระลอกแรก แต่ในการจัดงบประมาณ กลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

4.สะท้อนถึงความอ่อนด้อยด้านการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะก้าวพ้นวิกฤตในอนาคตได้ จัดงบประมาณปี 2565 แบบชนเพดานทุกมิติ กระดิกตัวไม่ได้อีกแล้ว กู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มก็ไม่ได้อีกแล้ว เศรษฐกิจพัง ธุรกิจล่มสลาย เก็บภาษีได้น้อย ไม่รู้จักวิธีหาเงินเข้าประเทศ รู้จักแต่วิธีการกู้เพื่อนำมาใช้แบบไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ก่อให้เกิดการหมุนของวงรอบทางเศรษฐกิจ การจัดงบประมาณเช่นนี้และด้วยวิธีคิดที่ขาดยุทธศาสตร์ จะทำให้จีดีพีของประเทศตกต่ำลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image