‘ปชป.’ ซัดงบฯ 65 ไม่ตอบโจทย์ ‘ชาดา’ ชวน ‘อนุทิน’ กลับบ้าน

‘ปชป.’ ซัดงบฯ 65 ไม่ตอบโจทย์ ‘ชาดา’ ชวน ‘อนุทิน’ กลับบ้าน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา วันแรกของการประชุม สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์ (ปชป.) และภูมิใจไทย (ภท.) ได้อภิปรายเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำงบประมาณ อย่างเช่น นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า สถานะการเงินของประเทศ รัฐบาลตั้งรายได้สุทธิในปี 2565 ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท แต่พบหนี้สาธารณะ จำนวน 8.195 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2564 ถึง 2.1 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบเพื่อชำระเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 1,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือน 13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.6% ของจีดีพี และเมื่อรวมหนี้รัฐบาลรวมกับของประชาชน จะมีมากกว่า 21 ล้านล้านบาท มากกว่าจีดีพีของประเทศ เรียกว่าหนี้ท่วมรายได้ มากถึง 3.3 เท่า และต้องใช้เวลา 81 ปี เพื่อชำระหนี้สิน

นายกนกกล่าวต่อว่า สถานการณ์ปัจจุบัน และอีก 10 ปีจากนี้ ปัญหาของประเทศและประชาชน มี 3 ประการ คือ 1.ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ถึงจุดวิกฤต เพราะมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง 2.การเป็นหนี้ระยะสั้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ที่จะทำให้คนไทยมีภาวะลำบาก หนี้ท่วมรายได้อย่างน้อย 10 ปี และ 3.ผลิตภาพที่แข่งขันไม่ได้ในระยะยาว ไม่มีการพัฒนา ดังนั้น ทุกกระทรวงต้องเร่งแก้ปัญหา ผ่านการจัดสรรงบประมาณ ตนขอฝากคำเตือนงบประจำปีนี้ ว่าเมื่อรายได้ไม่เพิ่ม แต่หนี้เพิ่ม วิกฤตเศรษฐกิจตามมา เมื่อผลิตภาพไม่โต ประเทศแข่งขันไม่ได้ และล้าหลัง ในที่สุดงบประมาณแต่ละกระทรวงต้องแก้ปัญหาประชาชนอย่างมีความรู้และแม่นยำ เพราะงบมีจำกัด ในสถานการณ์ที่ประเทศมีโควิด ต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และปัญหาระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นจุดอ่อนของการแก้ปัญหาประเทศ

ต่อมา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ เป็นการทำงบที่ไม่ให้เกียรติพี่น้องประชาชน เพราะในสถานการณ์โควิด-19 สำนักงบประมาณตัดงบของกระทรวงสาธารณสุข ลงแทบทุกกรมทุกส่วน ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 คนที่ดูแลประชาชนคือสาธารณสุข ท่านบอกว่าจะไปใช้งบกลางก็เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก เปรียบเหมือนส่งทหารไปรบแต่ไม่ให้อาวุธ ไม่ให้สิ่งอำนวยความสะดวกไปด้วย แล้วคิดว่าศึกนี้จะชนะหรือ แบบนี้คือการจัดงบที่ไม่สนใจความรู้สึกประชาชน ไม่นึกถึงคนที่ทำงานอยู่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย

Advertisement

นายชาดากล่าวว่า งบกระทรวงสาธารณสุข 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าน้อยนิด สิ่งสำคัญคือเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัยของแพทย์ 6 พันกว่าล้านบาท ตั้งแต่โควิดรอบแรกจนวันนี้ยังไม่เบิกจ่ายให้เขา แล้วแบบนี้จะอยู่กันอย่างไร ท่านทำให้ประชาชนคนทำงานเจ็บปวด ทั้งนี้ อยากให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ ไปโรงพยาบาลรัฐบ้างว่าวันนี้ยังขาดแคลนอะไรบ้าง ในสถานการณ์โควิดยังตัดแม้แต่งบแพทย์ปฐมภูมิ ที่ต้องดูแลประชาชนโดยตรง ตัดตรงนี้ถือว่าใจดำมาก อยากให้สภาพัฒน์พิจารณา และดูบทบาทหน้าที่ตัวเองใหม่ เพราะแทนที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์แนะนำรัฐบาล แต่กลับมาพิจารณางบเสียเอง

“หรือสำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่รักนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ” นายชาดากล่าว

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า ตนคาดหวังว่าการจัดสรรงบประมาณปี 65 จะเป็นไปตามสถานการณ์ของประเทศ ปีนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมหาวิกฤตโควิด สิ่งที่คาดหวังคือการทุ่มสรรพกำลังลงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลเรื่องโควิด หนีไม่พ้นกระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข แต่ตัวเลขที่เห็นไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถูกตัดงบไปกว่า 4 พันล้านบาท อีกทั้งค่าตอบแทน อสม. สำนักงบประมาณก็โอนมาให้ไม่ครบ และงบบัตรทองที่เอาไว้ช่วยเหลือประชาชนก็ถูกตัดด้วย นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้รับการจัดสรรงบ 4 พันล้านบาท แต่ปีนี้เหลือเพียง 3.5 พันล้านบาท ทั้งที่กรมควบคุมโรคเป็นกรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ ภารกิจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

Advertisement

นายภราดรกล่าวว่า ที่สำคัญทางกรมควบคุมโรคได้เสนองบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีน 70 ล้านโดส มาฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศ แต่งบส่วนนี้กลับถูกตัดออก โดยอ้างเหตุผลว่าจะให้ไปใช้งบกลางหรืองบเงินกู้ นี่คือความผิดหวังจากการจัดสรรงบของสำนักงบประมาณ นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายกฯมีนโยบายชัดเจนว่า ภายในสิ้นปีนี้ รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งปีที่ผ่านมา มีการจัดสรรงบประมาณให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวน 4.85 พันล้านบาท แต่ปีนี้ 2.88 พันล้านบาท หายไป 2 พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่าสำนักงบประมาณจัดสรรงบไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่เป็นไปตามสถานการณ์ ทั้งนี้ ตนหวังว่าจะมีการนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image