สกู๊ปหน้า 1 : จับสัญญาณพรรคร่วม จากวาระเดือด ชำแหละงบฯ65

สกู๊ปหน้า 1 : จับสัญญาณพรรคร่วม จากวาระเดือด ชำแหละงบฯ65

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายนนี้ โดยแต่ละฝ่ายได้เวลาพิจารณารวมกันทั้งสิ้น 47 ชั่วโมง 30 นาที

การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯช่วงวันแรก การอภิปรายของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ต่างสะท้อนปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอก 3

แน่นอนในส่วน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ตามหลักการและธรรมเนียมได้อภิปรายชี้ให้เห็นถึงการจัดงบประมาณที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ให้เห็นว่า แผนงบประมาณที่ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ไม่ตรงเป้า ไม่บรรเทาความเดือดร้อน ไม่ลดความรุนแรงของปัญหา

และที่เห็นได้อย่างชัดเจนมีเสียงท้วงติงจากรอบด้าน คือจัดงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากที่สุด ซึ่งมากกว่าของกระทรวงสาธารณสุขถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาท โดยในแผนงบประมาณปี 2565 งบกระทรวงสาธารณสุข ถูกปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ถึงกว่าสี่พันล้านบาท

Advertisement

ที่น่าสนใจ คือ ท่าทีและทิศทางการอภิปรายของ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีรัฐมนตรีของพรรคดูแล กระทรวงสาธารณสุข อภิปรายสะท้อนและส่งสัญญาณไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำงบประมาณฯปี 65

ส.ส.พรรค ภท.มุ่งเป้าอภิปรายท้วงติงและให้ข้อเสนอแนะการจัดงบประมาณฯปี 65 ของสำนักงบประมาณว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่าง ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรค ภท. อภิปรายแบบพุ่งตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ว่า การตัดงบกระทรวงสาธารณสุขในปี 65 เปรียบเหมือนส่งทหารไปรบแต่ไม่ให้อาวุธ ไม่ให้สิ่งอำนวยความสะดวกไปด้วย แล้วท่านคิดว่าศึกนี้จะชนะหรือ แบบนี้คือการจัดงบที่ไม่สนใจความรู้สึกประชาชน หรือสำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่รัก นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับ ถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ

เช่นเดียวกับ ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรค ภท. อภิปรายว่า คาดหวังว่าการจัดสรรงบประมาณปี 65 จะเป็นไปตามสถานการณ์ของประเทศ ปีนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมหาวิกฤตโควิด สิ่งที่คาดหวังคือการทุ่มสรรพกำลังลงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลเรื่องโควิด หนีไม่พ้นกระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข แต่ตัวเลขที่เห็นไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถูกตัดงบไปกว่า 4 พันล้านบาท อีกทั้งค่าตอบแทน อสม. สำนักงบประมาณโอนมาให้ไม่ครบ และงบบัตรทองที่เอาไว้ช่วยเหลือประชาชนก็ถูกตัดด้วย

Advertisement

ที่สำคัญทางกรมควบคุมโรค ได้เสนองบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีน 70 ล้านโดส มาฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศ แต่งบส่วนนี้กลับถูกตัดออก โดยอ้างเหตุผลว่าจะให้ไปใช้งบกลางหรืองบเงินกู้ นี่คือความผิดหวังจากการจัดสรรงบของสำนักงบประมาณ หวังว่าจะมีการนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ต่อไป

ขณะที่อีกหนึ่งพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายชี้ให้เห็นถึงการก่อหนี้จำนวนมากของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. อภิปรายว่า สถานะการเงินของประเทศ รัฐบาลตั้งรายได้สุทธิในปี 2565 ไว้ที่ 2.4 ล้านล้าน แต่พบหนี้สาธารณะ จำนวน 8.195 ล้านล้าน เพิ่มจากปี 2564 ถึง 2.1 ล้านล้าน ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบเพื่อชำระเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 1,000 ล้าน

แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือน 13 ล้านล้าน คิดเป็น 86.6% ของจีดีพี และเมื่อรวมหนี้รัฐบาล รวมกับของประชาชน จะมีมากกว่า 21 ล้านล้านบาท มากกว่าจีดีพีของประเทศ เรียกว่าหนี้ท่วมรายได้ รัฐบาลมีหนี้สูงกว่ารายได้ มากถึง 3.3 เท่า ต้องใช้เวลา 81 ปี เพื่อชำระหนี้สิน ดังนั้น งบประมาณปี 2565 จึงไม่ตอบโจทย์

แม้การอภิปรายของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรค ปชป.และพรรค ภท.จะยิงหมัดตรงมายังนายกฯในฐานะแกนนำ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและเสียงของพรรคร่วมในการค้ำยัน ความเป็นอยู่ของรัฐบาลพรรคผสม เพราะยังมียกที่สองในการเจรจาต่อรองการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯในวาระที่ 2 คือ ชั้นการแปรญัตติจะมีตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองเข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ทั้ง 64 คน ประกอบด้วย ครม. 16 คน พรรค พท. 13 คน พรรค พปชร. 12 คน พรรค ภท. 6 คน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรค ปชป. พรรคละ 5 คน ส่วนพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเพื่อชาติและพรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคละ 1 คน พิจารณาปรับลดงบประมาณให้มีความเหมาะสมตามที่ควรจะเป็น

ท้ายที่สุดด้วยการเจรจาต่อรองกันในทางการเมือง หากยังอยากให้รัฐบาลได้ทำงานต่ออยู่รอดจนครบวาระ การโหวตในวาระแรกด้วยเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาล 277 เสียงต่อ 211 เสียง คงจะไม่เหลือบ่าฝ่าแรงเข็นร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65 ให้ผ่านสภาไปได้ แต่ต้องสแกนและเช็กชื่อกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าจะมีพรรคร่วมพรรคไหน มีสมาชิกแหกมติ ทำตัวเป็นเด็กดื้อ ให้แกนนำรัฐบาลต้องปวดหัวล็อบบี้ในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวาระ 2 และ 3 อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image