ครม.เคาะ 4 โครงการช่วยประชาชน 51 ล้านคน 14 มิ.ย.ดีเดย์ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3

ครม.เคาะ 4 โครงการช่วยประชาชน 51 ล้านคน 14 มิ.ย.ดีเดย์ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 โควิดฉุดสปา-นวดไทยเจ๊ง 70%

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ ที่มียอดผู้ติดเชื้อล่าสุด 1 แสนกว่าคน ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยาผลกระทบแก่ประชาชน ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด 4 โครงการ ครอบคลุมประชาชนประมาณ 51 ล้านคน โดยแต่ละคนสามารถเข้าร่วมได้ 1 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ประมาณ 13.65 ล้านคน ช่วยเหลือค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน วงเงินรวม 1.63 หมื่นล้านบาท

น.ส.กุลยากล่าวว่า 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อาทิ ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงไม่สามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง และใช้งานแอพพลิเคชั่นเป๋าตังได้ จากโครงการเราชนะ 2.5 ล้านคน จะช่วยเหลือค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท หากประสงค์รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้แทน จะต้องลงทะเบียนโครงการที่ต้องการ ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ภายในวันที่ 28 มิถุนายน และถือเป็นการสละสิทธิในโครงการนี้

ชี้คนละครึ่งเฟส3สะพัด1.8แสนล.
น.ส.กุลยากล่าวว่า 3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการไม่เกิน 31 ล้านคน จะได้รับสิทธิภาครัฐร่วมจ่าย 50% ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน สำหรับค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และค่าบริการ อาทิ นวด สปา ทำผมทำเล็บ ค่ารถโดยสารสาธารณะ แบ่งเป็นช่วงแรกเดือนกรกฎาคม-กันยายน 1,500 บาท และเดือนตุลาคม-ธันวาคม อีก 1,500 บาท รวมไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน วงเงินรวม 93,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 186,000 ล้านบาท

น.ส.กุลยากล่าวว่า 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ผู้ได้รับสิทธิไม่เกิน 4 ล้านคน ที่ชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่น ถุงเงิน ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเวาเชอร์ สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ซึ่งจะคืนเป็นวงเงินใน จีวอลเล็ตทุกต้นเดือนถัดไป โดยไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ วงเงินรวม 28,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 268,000 ล้านบาท

Advertisement

14มิ.ย.ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส3
น.ส.กุลยากล่าวว่า สำหรับการลงทะเบียนและการใช้จ่ายของโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ คุณสมบัติผู้มีสิทธิคือ มีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีบัตรประจำตัวประชาชน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ได้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน เวลา 06.00-22.00 น. เหมือนกัน โดยผู้ที่เคยใช้จ่ายผ่านจีวอลเล็ต บนแอพพ์เป๋าตังแล้ว ลงทะเบียนผ่านแอพพ์ หรือเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ตามต้องการ
น.ส.กุลยากล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เวลา 06.00-22.00 น. โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีแอพพลิเคชั่นถุงเงินแล้ว ลงทะเบียนผ่านแอพพ์ถุงเงิน ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วม สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ตามต้องการ หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ คาดว่าการดำเนินการทั้ง 4 โครงการ จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ เติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 473,000 ล้านบาท ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

สรท.ลุ้นส่งออกปีนี้แตะ15%
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 21,429 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.09% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 656,592 ล้านบาท ขยายตัว 6.93% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 21,246 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 29.79% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 660,063 ล้านบาท ขยายตัว 22.87% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนเมษายน 2564 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 182 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาทขาดดุล 3,470 ล้านบาท

“สรท.คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 อยู่ที่ 6-7% แต่หากช่วงไตรมาส 2/2564 โตกว่า 15% มีความเป็นไปได้ที่การส่งออกทั้งปีจะโต 10% หรือสูงสุด 15% แต่หลังจากนี้ไทยต้องนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 2 แสนตู้ต่อเดือน และรัฐจะต้องดูแลค่าระวางเรือ ซึ่งตอนนี้สูงกว่าเดิมเป็นเท่าตัวแล้ว” นายชัยชาญกล่าว
นายชัยชาญกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคได้แก่ 1.สถานการณ์โควิด รุนแรงทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศในอาเซียน อาจส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ล่าช้าออกไป 2.ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวระดับสูง 3.ความผันผวนของวัตถุดิบที่สำคัญ อาทิ ชิปขาดแคลน ส่งผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องชะลอการผลิต และ 4.ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศจำนวนมาก และภาคเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน 2-3 แสนคน ต้องชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศออกไป

Advertisement

ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีโตแค่1.9%
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อีไอซี ประเมินการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.9% ปรับลดจากประมาณการเดิมที่ 2.0% หลังจากได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการระบาดของโรคโควิด ระลอกใหม่ สร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนราว 3.1 แสนล้านบาท

นายยรรยงกล่าวว่า ภาคท่องเที่ยว ได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ เหลือ 4 แสนคน จากเดิมเคยคาดไว้ที่ 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ การระบาดที่ยืดเยื้อยังมีแนวโน้มทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจลึกขึ้น ประเมินเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ต้องรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับจีดีพีก่อนเกิดการระบาด และมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบถาวรขนาดใหญ่ มีสาเหตุหลักจากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวในระดับสูง โดยภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ประกอบกับยังมีอีกหลายปัจจัยท้าทาย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น แผลเป็นทางเศรษฐกิจของไทยที่ค่อนข้างรุนแรง

ธปท.ไกล่เกลี่ยหนี้สินเชื่อรถ
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม โดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 3 ในสินเชื่อรายย่อยรวม มีลูกหนี้จำนวน 6.6 ล้านบัญชี คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ได้ประมาณ 1 แสนบัญชี คิดเป็นมูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงิน 12 แห่ง มีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์รวมกว่า 65%
นางธัญญนิตย์กล่าวว่า เรื่องค่าติดตามทวงถามหนี้ โดยธปท.ขอความร่วมมือให้จัดเก็บค่าทวงหนี้งวดละ 100 บาท ไม่ว่าจะเป็นหนี้ประเภทใดก็ตาม แต่ธุรกิจเช่าซื้อไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท.ทั้งหมด ทำให้กลุ่มที่อยู่นอกเหนือการดูแลของ ธปท. คิดค่าทวงหนี้สูงมากกว่าที่ควร บางครั้งค่าทวงหนี้มีสูงกว่าค่างวดที่ต้องจ่ายจริงอีก แม้ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์ชัดเจนว่าค่าทวงหนี้ควรอยู่ในอัตราเท่าใด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังผลักดันเรื่องนี้อยู่ เพื่อผ่อนภาระลูกหนี้

“ตัวอย่างกรณีเจ้าของรถแท็กซี่ที่ถูกยึดรถเพราะขาดส่งค่างวด 6 เดือน หลังการระบาดโควิดทำให้รายได้หายไป ทั้งที่จริงผ่อนค่างวดมากว่า 4 ปีแล้ว เหลืออีกไม่กี่เดือนจะผ่อนจ่ายครบทั้งหมด แต่ต้องถูกยึดรถไป ซึ่งไม่ยุติธรรมกับลูกหนี้ โดย ธปท.จะพิจารณาการดูแลออกมาเพิ่มเติมว่าลูกหนี้ผ่อนชำระได้กี่งวดแล้ว ใกล้ครบหรือยัง และต้องขาดผ่อนกี่งวดจึงสามารถยึดรถได้”นางธัญญนิตย์กล่าว

1ก.ค.ซื้อหวยผ่านแอพพ์เป๋าตัง
ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ จีแอลโอ ออฟฟิเชียล เซลเลอร์ส เพื่อสร้างจุดจำหน่ายสลากได้ตามราคา 80 บาท ว่า คัดเลือกให้จำหน่ายสลากในพื้นที่นำร่องของโครงการฯ ล่าสุดผ่านคัดเลือกเป็นเครือข่าย 51 ราย ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯ 46 ราย (46 เขต) และจ.นนทบุรี 5 ราย (5 อำเภอ) โดยตัวแทนจำหน่ายจะได้รับการเพิ่มสลากให้ 20 เล่ม การจ่ายเงินในการซื้อ-ขายสลาก จะจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เริ่มจำหน่ายงวดแรกงวดวันที่ 1 กรกฎาคม สามารถตรวจสอบข้อมูลจุดจำหน่ายในเขตพื้นที่ต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ www.glo.or.th หากมีการตอบรับที่ดี จะพิจารณาขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ต่อไป

โควิดฉุดสปา-นวดไทยเจ๊ง70%
นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสปาและนวดแผนไทยในขณะนี้ถือว่าย่ำแย่มากที่สุด จากการระบาดโควิด ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้มีมาตรการดูแลหรือเยียวยาผู้ประกอบการเลย ทั้งที่ปิดตัวลงกว่า 2 เดือนแล้ว มูลค่าตลาดสปาและนวดแผนไทยอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท นับเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นในปีนี้ ที่ต้องปิดชั่วคราวไปในการระบาดรอบ 2 ซึ่งกลับมาเปิดให้บริการได้เพียง 1 เดือน ก็ต้องปิดตัวลงใหม่อีกครั้ง จึงเห็นผู้ประกอบการธุรกิจสปาและนวดแผนไทยปิดตัวถาวรแล้ว 70%

“การปิดธุรกิจในระลอก 3 ทำให้เงินในกระเป๋าของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีแล้ว เมื่อเงินทุนหมุนเวียนไม่มี บวกกับรายได้ที่หายไป 100% จะเห็นการปิดตัวลงของผู้ประกอบการอีกหลายรายแน่นอน” นายกรดกล่าวและว่า ข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยมากที่สุดคือการกระจายฉีดให้กับประชาชนทั่วประเทศโดยเร็ว และฉีดให้กับคนในธุรกิจสปาและนวดแผนไทยด้ว และรัฐบาลต้องมีแผนชัดเจนในการเยียวยาผู้ประกอบการ เพื่อให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง อาทิ ดึงร้านนวดและสปาเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และ ม33เรารักกัน ได้ และการเยียวยาผู้ประกอบการผ่านการสมทบค่าจ้างแรงงาน ฝ่ายละ 50% (โคเพย์)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image