รายงานหน้า 2 : 2พรรคร่วมรบ.ถล่มงบ’65 รอยร้าวหรือเกมการเมือง

รายงานหน้า 2 : 2พรรคร่วมรบ.ถล่มงบ’65 รอยร้าวหรือเกมการเมือง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีพรรคร่วมรัฐบาลอภิปรายทักท้วงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ในวาระแรก

รศ.สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

รายงานหน้า 2 : 2พรรคร่วมรบ.ถล่มงบ’65 รอยร้าวหรือเกมการเมือง

Advertisement

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และก็เกิดขึ้นแล้วในหลายครั้ง เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นตัวสำคัญ เช่น รองหัวหน้าพรรค โฆษกพรรค หรือคนที่เคยเป็นอดีต มีประสบการณ์ อย่างประชาธิปัตย์ คุณกนก วงษ์ตระหง่าน ทำให้คนมีความรู้สึกว่า คราวนี้จะไปถึงจุดที่พรรคร่วมรัฐบาลจะสนับสนุนเต็มที่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีรอยกระทบกระทั่งกันมาก่อน คนจึงมองว่า หนนี้ท่าจะไม่ราบรื่น

ผมมีความรู้สึกว่า ไปๆ มาๆ ก็คงจะเลือกทางที่ดีที่สุด กล่าวคือ ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ อาจจะเป็นการอภิปรายเพื่อแปรญัตติด้วย อะไรด้วย ซึ่งมีผลต่อรอยร้าวอยู่แล้ว เพราะ “พรรคร่วมรัฐบาล” ความจริงก็คือคู่แข่งกันในระหว่างพรรคอยู่ดี พอมีข่าวยุบสภามาด้วย ก็ต้องยิ่งแสดง “ความเป็นตัวของตัวเอง” สูงขึ้น เพราะมีผลต่อการแปรญัตติ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจะอยู่ร่วมรัฐบาลอีกนานหรือไม่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ผมเชื่อว่าคราวนี้ผ่าน เพราะแม้นายกฯจะไม่พอใจ แต่ก็ไม่กล้าที่จะแสดงความโมโหโทโส หรือกราดใส่ ก็ยังเป็นลักษณะตัดพ้ออยู่ เหมือนง้อๆ ในที ไม่ใช่ออกมาด่า

Advertisement

แต่สิ่งที่เห็น เหมือนกับภาพบาดตาบาดใจ เอาง่ายๆ ในขณะที่เรากำลังควานหาวัคซีน อยู่ดีๆ รถถังก็ห้อยลงมา ภาพรถถังก็ปรากฏขึ้น มันขัดกับความรู้สึก ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ พูดแบบคนไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เหมือนกับมาสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า เอ๊ะ! “ห่วงความมั่นคง มากกว่าความอยู่รอดของประชาชน”

หลัง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ภาพประเทศไทยก็คงเป็นเหมือนที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลชุดเก่า ความสามารถก็คงจะเท่าเดิม เราก็ติดตามฟังตลอด จากที่เคยเข้าใจอย่างนู้นอย่างนี้ วันนี้สับสนไปหมด เรื่องวัคซีนโควิด ตกลงวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ได้ฉีดทั่วราชอาณาจักรจริงหรือไม่ วัคซีนเข้ามาอยู่ในมือเท่าไหร่ ระยะหลังคนออกมาอธิบายเริ่มขาดความมั่นใจในการอธิบาย คนที่เคยพูดกับเราเป็นคำมั่นคำเหมาะ วันนี้ก็ชักจะต้องรอฟัง รอดูก่อน ไม่ได้ให้ความมั่นใจกับผู้คน

ก็ในเมื่อคนที่จะพูดให้เรามั่นใจเอง ก็ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองพูด

ฉะนั้น รัฐบาลตอนนี้มีวิกฤตศรัทธาด้วย ทะเลาะกันเองก็เกิดวิกฤตศรัทธา ว่าใครจะแน่กว่ากัน ใครเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ใช่ผู้ว่าฯกทม. ออกคำสั่งตอนเที่ยง ตอนค่ำนายกฯออกคนละเรื่องกันเลย ผลกระทบคือ ประชาชนใจหายใจคว่ำ ว่าจะผ่านวิกฤตไปได้อย่างไร

รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

รายงานหน้า 2 : 2พรรคร่วมรบ.ถล่มงบ’65 รอยร้าวหรือเกมการเมือง

เป็นวิถีปกติของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะแสดงออกซึ่งความไม่พึงพอใจในหลายๆ เรื่อง ชัดเจนมากที่สุด คือเรื่องงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ของพรรคภูมิใจไทย ที่แม้ว่าหัวหน้าพรรคจะปฏิเสธ ไม่ได้เอี่ยวเรื่องนี้

แต่ลูกพรรคที่เป็นคีย์แมน ก็ออกมาบอกว่า ไม่เห็นด้วย ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า พรรคภูมิใจไทยก็มีความระหองระแหงกับพรรคพลังประชารัฐ และคงมีอยู่ไปเรื่อยๆ

แต่ถึงขั้นที่พรรคร่วมรัฐบาลแตก คงจะต้องมีเรื่องราวที่หนักหนาพอสมควร อย่างสถานการณ์ล่าสุดที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ ก็คงจะมีการดูแลใจ หรือมีกาวใจประสานให้อยู่ด้วยกันต่อไป แต่ถ้าวิกฤตความไม่พอใจผสมไปเรื่อยๆ ก็ไม่แน่

นอกเหนือจากความไม่ลงรอยระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีกลุ่มก๊กในพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง ประชาธิปัตย์ ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนว่ามีปัญหาในเรื่องเอกภาพ มีการแบ่งกลุ่มใครเป็นกลุ่มใคร พอมีปรากฏการณ์ไม่ลงรอยหลายครั้ง

แต่ท่าทีของหัวหน้าพรรคที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะไม่แสดงออกเท่าไหร่ ทำให้ลูกพรรคคิดว่า ทำไมไม่แสดงการโต้ตอบบ้าง ทั้งนี้ ความบาดหมางที่เกิดขึ้นมักจะแสดงออกมาในแง่ของการ “ยกมือโหวต”

แม้ พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 จะผ่านวาระแรกมาด้วย 277 ต่อ 211 แต่ความน่าจะเป็นสูง ที่ พ.ร.บ.นี้จะผ่านวาระที่ 2 และวาระที่ 3 อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ก็ต้องเดินเกมกุมเสียงของพรรคร่วมและพรรคตัวเองด้วย อย่าลืมว่า พรรคตัวเองก็เคยมีปรากฏการณ์ที่ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ต้องปวดหัวมาแล้ว

ถึงกระนั้น อาจจะมีอาการเสียงแตก ไม่เดินตามวิถีของพรรค ทิศทางของพรรคอาจจะหันเห ซึ่งเราก็เห็นภาพชัดเจนที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทย 2-3 คน แสดงออกว่าไม่พอใจ เป็นไปได้อย่างต่ำว่าเขาจะงดออกเสียง หรือไม่เห็นชอบ

ในส่วนการจัดสรรงบประมาณปี 2565 เราทราบกันอยู่แล้วว่า สังคมไทยตั้งคำถามกันเยอะในประเด็นโควิด-19 แต่เหตุไฉน งบวัคซีนถูกผลักให้ไปใช้งบกลาง

นี่เป็นดุลพินิจของผู้นำ ว่าถ้ากำหนดงบแบบนี้ออกมาแล้ว จะสร้างความพึงพอใจ และความเชื่อมั่นให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน ถ้าผมเป็นผู้นำ ผมคงคิดให้รอบคอบ ต้องดูกระแสสังคมด้วย การที่ลดงบกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่ประชาชนจ้องอยู่แล้วว่างบกระทรวงกลาโหมจะเป็นอย่างไร ในเมื่อรู้อยู่แล้ว ทำไมรัฐบาลถึงไม่คุยกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้จัดสรรงบได้ลงตัวมากกว่านี้

ในอนาคตบ้านเมืองยังคงเดินไปตามวิถี การกำหนดงบขาดดุลอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาตรงนี้ไป บ้านเมืองจะเข้าสู่รูปแบบเดิม รัฐบาลบริหารงานตามงบประมาณ แจกจ่ายให้แก่หน่วยงาน กระทรวง กรมต่างๆ

แต่ส่วนที่สำคัญที่รออยู่ไม่น้อยไปกว่าการพิจารณางบประมาณ คือ ความโปร่งใส การทุจริต คอร์รัปชั่นที่น่าเป็นห่วง

รวมทั้งงบประมาณในการกู้เงินนับแสนล้านบาท ต้องอาศัยสังคม ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายค้าน ต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ หน้าที่ของแต่ละฝ่ายยังไม่จบ แม้งบประมาณจะดำเนินการไปตามวาระ แต่การทำงานตรวจสอบของทุกภาคส่วนยังคงต้องมีอยู่

วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายงานหน้า 2 : 2พรรคร่วมรบ.ถล่มงบ’65 รอยร้าวหรือเกมการเมือง

การอภิปรายของพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมากมาย ต้องเข้าใจจุดยืนของพรรคด้วยว่าต้องการอยู่ร่วมกับรัฐบาลต่อไป โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยยังมีนโยบายกัญชา ผลักดันโครงการของกระทรวงคมนาคม

แต่โดยสไตล์ของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คงเห็นว่าในการอภิปรายลูกพรรคต้องการจะพูดอะไรก็พูดไป เหมือนเป็นการปลดปล่อย

แต่ท้ายที่สุดเมื่อถึงเวลาที่ต้องลงมติ ก็สั่งการกันไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อโหวตรับร่าง ดังนั้น ข้อห่วงใยว่าการอภิปรายจะสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ท้ายที่สุดก็คงไม่มีอะไรมาก

การโหวตในขั้นรับหลักการวาระแรกก็คงผ่านได้ และที่แสดงให้เห็นก็เป็นละครหรือดราม่าการเมืองไม่มีนัยยะในการถอนตัว

หากดูเจตนาของรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีการอภิปรายชวนหัวหน้าพรรคกลับบ้าน หากมีการประเมินว่าต้องการจะพูดเพื่ออัพราคาหรือต่อรอง ก็คงไม่มีน้ำหนัก เพราะท้ายที่สุดก็เห็นมาตลอดในการอภิปรายงบประมาณในรอบ 2-3 ปี พรรคร่วมมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน เพื่อมีบทบาทเข้าไปเกลี่ยงบประมาณใหม่ คำตอบคือไม่มี

เพราะฉะนั้นเชื่อว่ารอบนี้คงเป็นสีสันเหมือนเดิมสะท้อนให้เห็นว่าทนมา 2 ปีแล้วอาจจะเพิ่มความไม่พอใจ แต่จะถึงขั้นถอนตัวหรือไม่ หรือจะไปต่อรองอะไรได้หรือไม่ เชื่อว่าคงไม่มี เพราะสำนักงบประมาณก็ยึดกฎเหล็ก รัฐบาลก็ท่องคัมภีร์บทเดิมบอกว่าทุกอย่างที่ทำไว้เหมาะสมแล้ว และไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ แต่ปีนี้จะมี ส.ส.ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังออกมาแสดงความเห็น 2 ท่าน โดยสะท้อนการจัดสรรงบในเชิงวิชาการ การอภิปรายจึงดูเหมือนการสอน ส.ส.รุ่นน้องภายในพรรค แต่ถามว่า ส.ส.ให้น้ำหนักกับ 2 ส.ส.หรือไม่ ด้วยความเคารพส่วนตัวคงน่าจะไม่ แม้ว่าจะเป็นคนเก่งเฉพาะทาง พูดโดยมีหลักการถูกต้อง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเช่นกัน และที่ดูง่ายๆ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีหรือมีจุดยืน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีไม่ลงรอยกับพรรคพลังประชารัฐอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีกระแสการถอนตัว และยังไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองในการจัดสรรงบ

ดังนั้น ทั้ง 2 พรรคร่วม จึงไม่น่าเป็นตัวแปรที่ทำให้มีความเปลี่ยนแปลง แต่ในภาพรวมการนำเสนอถือว่ายังมีประโยชน์ อย่างน้อยก็เป็นการเตือนสติพรรคพลังประชารัฐและ ครม.ว่าอย่าคิดว่าทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ มีความพยายามทำให้เห็นว่าเริ่มมีเสียงสะท้อน แต่วันนี้อาจไม่ได้หวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทันที แต่อาจจะไปส่งสัญญาณในขั้นกรรมาธิการหรือแม้กระทั่งการทำงบประมาณปีต่อไป อาจจะต้องมีข้อต่อรองกันใหม่ หลังการอภิปรายเชื่อว่าพรรครัฐบาลจะยกมือให้ผ่าน แต่พรรคฝ่ายค้านคงเปิดไพ่เดินหน้าชนด้วยการไม่โหวตรับร่าง แต่คงทำอะไรไม่ได้มาก

ส่วน ส.ส.งูเห่ายกมือสวนทางคงไม่มี ซึ่งฝ่ายค้านได้แสดงจุดยืนในเงื่อนไขที่สามารถทำได้ และรอเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

รายงานหน้า 2 : 2พรรคร่วมรบ.ถล่มงบ’65 รอยร้าวหรือเกมการเมือง

การอภิปรายงบประมาณของพรรคร่วมรัฐบาลมีความเข้มข้น มีความเห็นตรงไปตรงมา อาจจะทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพยายามระงับสติหรือเก็บอาการ เพราะขืนหงุดหงิดก็ไม่มีประโยชน์ ที่สำคัญในการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทุกฝ่ายควรมีความเคารพสิทธิในการแสดงออกซึ่งกันและกัน มองเห็นถึงความเท่าเทียมและมีเป้าหมายใช้งบเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ไม่ว่าการอภิปรายจะมีการปรุงแต่งให้มีสีสันอย่างไร เชื่อว่าพรรครัฐบาลยังอยู่ร่วมกัน ไม่มีผลกระทบที่ทำให้ต้องแยกทางกันเดิน เพราะนายกรัฐมนตรีคงคิดถึงการทำงานการเมืองให้มีความต่อเนื่องในสถานการณ์โควิด-19 และการกอบกู้เศรษฐกิจ

ส่วนสาระสำคัญที่สะท้อนออกมาจากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคหรือฝ่ายค้าน หากพูดแล้วมีเหตุผลน่ารับฟัง เป็นประโยชน์หรือผลดีกับส่วนรวม ก็คงจะถูกนำไปพิจารณาบ้างเพื่อปรับปรุงแก้ไข

หลายฝ่ายคงไม่คุ้นเคยกับกรณีที่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลุกขึ้นมาอภิปรายงบประมาณ ทั้งที่ในหลักการก็ควรจะทำตัวเหมือนการทำหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ ส.ว.ที่ส่วนใหญ่จะไม่มีอะไรข้องใจในสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจไว้แล้ว

ดังนั้น การพูดชี้แจงงบประมาณของ ส.ส.พรรครัฐบาลต้องมองว่ามีประโยชน์ เพราะมีโอกาสได้ทำหน้าที่แทนประชาชน

แต่ในภาพรวมต้องการให้สังคมติดตามว่านักการเมืองแต่ละฝ่าย ใครจะออกมาแสดงเหตุผลได้ดีกว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับอานิสงส์จากการจัดงบประมาณครั้งนี้ในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ อย่าไปสนใจการพูดหรือนำเสนอ เพื่อทำให้มีสีสัน มีวาระซ่อนเร้น หรือพูดเพื่อหวังคะแนนเสียง

สุดท้ายต้องดูว่ารัฐบาลได้สนใจปรับเปลี่ยนท่าทีตามข้อเสนอแนะหรือไม่ หรือจะมีเหตุผลชี้แจงอย่างไร

ส่วนตัวไม่เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีสัญญาณนำไปสู่การยุบสภา แต่ก่อนที่ความขัดแย้งจะไปไกลกว่านี้ รัฐบาลก็ควรเร่งออก พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนว่าจะมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image