เช็ก ‘อาการ’ รัฐบาล หลังศึกซักฟอกงบ’65

เช็ก‘อาการ’รัฐบาล หลังศึกซักฟอกงบ’65

เช็ก ‘อาการ’ รัฐบาล
หลังศึกซักฟอกงบ’65

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่อเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาลที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังผ่านพ้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในวาระแรก


ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ในระบบรัฐสภา เรามีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ” ว่า ถ้าหากกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน มี 2 ทางเลือก คือ 1.รัฐบาลลาออก หรือไม่ก็ 2.ยุบสภา ดังนั้น ถ้าพรรคร่วมโหวตสวนทางจนไม่ผ่านร่าง ก็มี 2 ทางเลือกเช่นนี้ แต่พรรคร่วมก็คงไม่แฮปปี้ที่จะไปเลือกตั้งใหม่ ณ เวลานี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่อภิปรายกันเต็มที่กับชีวิต แต่สุดท้ายก็ยกมือให้ เพราะถ้าไม่ผ่านก็จะกระทบกับสถานะความเป็นรัฐบาลของตัวเองด้วย

Advertisement

เสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่นมากๆ เพราะตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เดินออกมาจากสภา ก็ขนาบข้างด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล กับ วราวุธ
ศิลปอาชา พูดง่ายๆ คือ ตอนนี้ “คีย์แมนของรัฐบาล” ไม่ใช่พลังประชารัฐอีกต่อไป คีย์แมนตอนนี้คือ “ภูมิใจไทย” กับ “ชาติไทยพัฒนา” เพราะถ้าขาดไป 2 พรรค เสียงจะปริ่ม หรือไม่ถึงด้วยซ้ำ

ฉะนั้น แม้นายกฯ จะถือเสียงพลังประชารัฐ ที่ถือว่าเยอะสุดในหมู่ของพรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังต้องเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น เพราะยังมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ คงไม่อยากยุบสภาตอนนี้

จากที่มอง 1.มีปัจจัยเรื่องโควิด-19 2.สังคมเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า รัฐบาลบริหารจัดการโควิดผิดพลาด กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีแผลเยอะ วัคซีนตัวเดียวเป็น “ม้าเต็ง” แต่พอดีม้าเต็งไม่เข้าวิน ก็มีเยอะ รวมถึงเรื่องการกระจายวัคซีนด้วย กล่าวคือ มีจุดที่ฝ่ายค้านจะโจมตีตอนหาเสียงได้

ดังนั้น คิดว่าอยู่ที่การต่อรอง “เก้าอี้ในสภา” ด้วยส่วนหนึ่ง “เก้าอี้ในสภาแต่ละพรรคการเมือง” ด้วยส่วนหนึ่ง แต่เก้าอี้ในพรรคร่วมรัฐบาลนั้น จำนวน ส.ส.ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าจะมีการปรับ ครม. ก็คงเป็นการปรับในส่วนโควต้าพรรคเดิม โดยอาจจะเปลี่ยนคนที่ผลงานไม่เข้าตา หรือยังไม่เป็นที่รู้จัก

อย่างไรก็ดี ไม่รู้ว่าในสภามีอเจนด้าอะไรอยู่บ้าง ต้องถาม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (ส.ว. สังกัดค่ายเพื่อไทย) ไปเป็น กมธ.งบประมาณ ในโควต้าของพลังประชารัฐ ว่ามีอเจนด้าอะไรหรือไม่ เพราะทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้หมด ในสภาไทย

ส่วนวาระต่อไป อย่างไรก็ผ่านอยู่แล้ว เพราะวาระแรกเสียงไม่ได้ปริ่มด้วย

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากการที่ ส.ส.พรรคร่วมออกมาอภิปรายโจมตี พ.ร.บ.งบฯ 65 แต่สุดท้ายก็มาโหวตเห็นชอบ สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่เกมการเมืองปกติที่พรรคร่วมรัฐบาลทำ เพื่อต้องการเพียงแค่อยู่ให้ครบวาระ ไม่ได้นึกถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก เพราะการลงคะแนนเห็นชอบได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ส.ส.เหล่านั้นไม่ได้เห็นด้วยกับการจัดสรรงบเพื่อยึดโยงกับประชาชน

อภิปรายโจมตีในรัฐสภา สุดท้ายก็มารักษาใจกันหลังบ้าน แต่โดยส่วนตัว คิดว่าน่าจะเป็นการเตรียมการไว้แล้ว กล่าวคือ เป็นเรื่องของการกระทำก่อนที่จะลงมติด้วยซ้ำ เพราะถ้าหากวาระแรกและวาระต่อๆ ไปไม่ผ่าน ก็จะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาล จึงเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ช่วงอภิปรายตามประสาการทำงาน เพื่อเป็นการสร้างภาพว่ายังมีมุมมองของประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก แต่ความจริงคือต้องการอยู่เป็นรัฐบาลให้ครบวาระ ไม่ได้มองประโยชน์ของประชาชนจริงๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรครัฐบาล ยังมีเสถียรภาพ ยังมีการคงอยู่ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยสิ่งที่เกาะกันอยู่คือผลประโยชน์จากการได้เป็นพรรคร่วม แต่กลับกัน พรรคฝ่ายค้านที่เกิดงูเห่าขึ้น คือสิ่งที่สะท้อนออกมาว่า พรรคก้าวไกลอาจจะต้องคัดคน หรือกรองคนให้มากกว่านี้ เพราะมีหลายครั้งที่ ส.ส.ในพรรค โหวตสวนมติพรรค หรืออีกแง่หนึ่ง อาจสะท้อนว่าคนกลุ่มนี้เองไม่ได้มองประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว หรือเป็นการสร้างคอนเน็กชั่นตัวเองเพื่อให้ไปอยู่กับรัฐบาล และได้รับผลประโยชน์บ้าง

ดังนั้น จากความแน่นแฟ้นของพรรคร่วมรัฐบาล ในส่วนของการปรับ ครม.ก็อาจจะยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ เมื่อโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65 ผ่านวาระ 2 วาระ 3 รัฐบาลน่าจะอยู่ไปเรื่อยๆ พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ด้วย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพียงแค่อยู่ให้ครบเทอม แต่หลังจากนี้ การเลือกตั้งรอบต่อไปคะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลอาจไม่เท่าเดิมที่เคยได้รับ เพราะความนิยมของรัฐบาลนั้น แง่หนึ่ง ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่บริหารได้ไม่ดี ทำให้ประชาชนตั้งคำถามต่อศักยภาพของรัฐบาลและพรรคร่วม ฉะนั้น อาจจะเป็นประเด็นที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องพิจารณาตรงนี้ใหม่

ส่วนการที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เคยเป็น ส.ว. ค่ายเพื่อไทย ในความจริงอาจจะไม่ได้แปลกอะไรมากนัก เพราะเพียงแค่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ในแง่ของการเข้าไปเป็นกรรมาธิการเพื่อพิจารณาวาระต่อๆ ไป ก็ไม่ได้มีผลอะไรมากมาย เพราะไม่ต้องคิดเลยว่า วาระ 2 และวาระ 3 จะผ่านหรือไม่ เพราะจะผ่านฉลุยอย่างไม่มีปัญหา สุดท้ายแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลที่ส่งตัวแทนมาวิพากษ์วิจารณ์งบฯ แต่ยังโหวตเห็นชอบ สุดท้ายก็พิจารณาแค่ผลประโยชน์การอยู่รอดเป็นรัฐบาลให้ครบวาระ แต่มองข้ามงบประมาณเพื่อประโยชน์ของประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีหรือไม่มีปัญหาในการจัดสรรงบไม่ลงตัวก็ได้ แต่เห็นว่าสุดท้ายตัวรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการดีลกันได้ในเรื่องของงบประมาณ อย่างกรณีที่พรรคภูมิใจไทยโดนหั่นงบกระทรวงสาธารณสุข เชื่อว่าเขามีการดีล
กันอย่างแน่นอน

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

สถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีความมั่นคง การอภิปรายชำแหละงบประมาณฯ เป็นเพียงการแสดงออกของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเรียกร้องความสนใจให้หัวหน้ารัฐบาลเหลียวแลพรรคร่วมบ้าง หรือดูแลให้ดีกว่านี้ ดังนั้นต้องดูว่าในการแปรญัตติจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ ส่วนกรณีที่มองว่าการอภิปรายงบของพรรคร่วมที่มีความเข้มข้น ส่วนตัวมองว่าเป็นปัญหาที่พรรคร่วมพูดออกมาจากใจ
เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีไม่เคยใช้วิธีการปิดห้องเจรจา เพราะทีมงานมีวิธีการแบบรวมศูนย์ คิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือทุกคน ไม่มีการนั่งโต๊ะคุยกัน คิดว่าคนอื่นมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยมีหน้าที่รับงานไปทำ และขอให้สังเกตว่าท่านจะออกมาท้วงติงหลังจากโดนพรรคร่วมอภิปรายไปแล้ว หากนำการทำงานไปเทียบกับสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยืนยันว่า พล.อ.เปรมมีความนิ่งมากกว่า ใจเย็น เปิดใจฟังคนอื่นมากกว่า ฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ไม่ได้ฟังเฉพาะคนกลุ่มเดียว

หากมองการทำงานในปัจจุบันการแก้ไขปัญหาโควิด ก็เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยากทำงานเป็นพระเอก แต่นายกรัฐมนตรีเอาเรื่องนี้ไปเป็นวาระแห่งชาติ รัฐมนตรีอนุทินจึงมีสถานะเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงาน และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นจะใช้กลไกของระบบราชการมากกว่าการใช้บริการของนักการเมือง ไม่มีใครบอกได้ว่ามาถูกทางหรือไม่ เพราะบางครั้งก็ประสบความสำเร็จ แต่ผลงานส่วนใหญ่ก็ตามที่ปรากฏโดยทั่วไป

ภาวะวิกฤตจากโควิดหนนี้ยังน่าเป็นห่วง เพราะวันนี้คนยังไม่มั่นใจเรื่องการฉีดวัคซีน หรือแค่จะฉีดเข็มแรกก็ยังทำให้คนสับสน ขณะที่การประกาศแนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมโรคยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ก็อาจเป็นไปได้ว่าโควิดไปไกลกว่าที่คิดไว้ ทำให้การแก้ไขปัญหายังไร้ทิศทาง แม้ว่าคนในประเทศจะเผชิญกับโรคติดต่อแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้คงหนักกว่าที่ผ่านมาและยังมีแรงบีบจากภาวะเศรษฐกิจ

ขณะที่การเมืองในวันนี้ยังนิ่ง เพราะนักการเมืองในพรรคร่วมเห็นตรงกันว่าไม่มีทางเลือก ไม่มีใครอยากให้ยุบสภา ต้องไปเดินหาเสียงในช่วงโควิด เพราะฉะนั้นจึงอาจจะทนอยู่ในสถานะหวานอมขมกลืนบ้าง อยู่กันไปแบบนี้ ยังพอมีงานให้ทำ จะเป็นประโยชน์มากกว่า ดีกว่าไปเต้นแรงเต้นกาข้างนอกหรือต้องไปทำหน้าที่ในฝ่ายค้าน ดังนั้นการยกมือโหวตรับหลักการวาระแรกในการพิจารณางบประมาณก็เป็นเรื่องปกติ และเชื่อมั่นว่ายังมีประชาชนบางส่วนให้การสนับสนุน

สำหรับฝ่ายค้านการโหวตในเรื่องสำคัญก็ยังมีงูเห่า ก็ต้องเข้าใจว่าในทางการเมืองมีความจำเป็นต้องแสดงตัวตนให้ชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายไหน เพราะยังมีรางวัลใหญ่รออยู่ที่ปลายทาง ขณะที่การปรับ ครม. ต้องยอมรับว่ามีปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐเพียงพรรคเดียว อย่างไรก็ต้องเลือกเลขาธิการพรรคคนใหม่ ขอให้มีการปรับโครงสร้างพรรค เพราะถือว่าเป็นศึกในอก จะเห็นได้ว่ารอบที่แล้วปรับ ครม.จบกลุ่ม 4 กุมารก็ต้องออกไป ส่วนประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ยังนิ่งไม่มีใครมีอาการอยากปรับ ครม.

ถ้าจะถามว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงกับรัฐบาลนี้ได้บ้าง ทั้งโควิด วิกฤตเศรษฐกิจในอีก 3 ถึง 6 เดือนข้างหน้า หรือจากความเคลื่อนไหวกดดันของการเมืองนอกสภา ส่วนตัวไม่ได้มองอะไรไปไกลขนาดนั้น เพราะวันนี้การเมืองไทยยังมีกติกาประหลาดควบคุมไว้ เพราะจะมีการเลือกตั้งอย่างไรคนกลุ่มเดิมก็จะกลับเข้ามามีอำนาจอีก ถ้าเป็นการเมืองในแบบปกติ ขณะนี้ขอเรียนว่ารัฐบาลคงอยู่ไม่ได้ ดังนั้นนักการเมืองที่อยู่เป็น หูไวตาไว ไม่สนใจเรื่องอื่น ก็ต้องการเกาะเกี่ยวอยู่กับนักการเมืองที่มีอำนาจ

เชื่อว่าการเข้าไปทำหน้าที่ก็คงไม่ได้ตั้งใจจะสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย แต่ต้องการเป็นรัฐมนตรีเพื่อแสดงฝีมือ เพราะฉะนั้นเมื่อจบการเลือกตั้งแล้วทุกคนย่อมรู้ดีว่าจะไปอยู่กับฝ่ายใดแล้วจะได้เป็นรัฐบาล ส่วนประชาชนอย่าไปคิดแทนว่าเมื่อการเมืองเป็นแบบนี้ จะมีใครไม่พอใจไปทั้งหมด ทำให้รัฐบาลนี้อยู่ยาก แต่ของจริงคืออาจจะไม่พอใจในบางครั้งบางเรื่อง แต่จะพอใจมากเมื่อได้รับเงินเยียวยาจากโครงการประชานิยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image