สถานทูตชาติตะวันตก 11 ประเทศในไทย พร้อมใจ โพสต์ต่อต้านการอุ้มหาย

‘สถานทูต’ 11 ประเทศ พร้อมใจโพสต์ ชวนจินตนาการ หากคนรักจู่ๆ หายไป – ถามไทย เมื่อไหร่ให้ ‘สัตยาบัน’ ป้องกันอุ้มหาย ?

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF) ได้โพสต์ภาพกราฟิก พร้อมข้อความผ่านทางแฟนเพจ โดยระบุว่า ‘ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นเช่นไร หากคนที่ท่านรักจู่ๆ ก็หายตัวไป’  11 สถานทูตโพสต์ข้อความเกี่ยวกับผู้สูญหาย เนื่องในวันครบรอบ 1 ปี การหายไปของ วันเฉลิม

วานนี้ (4 มิ.ย. 2564) เป็นวันครบรอบ 1 ปี การหายไปของวันเฉลิม หนึ่งในนักกิจกรรมประชาธิปไตยที่ถูกอุ้มหายจากที่พักใจกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา สถานเอกอัครราชทูต 11 ประเทศประจำประเทศ ประกอบด้วย สวีเดน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร ออสเตรีย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา ร่วมกันโพสต์ข้อความและภาพประกอบบน Facebook เกี่ยวกับ “การบังคับสูญหาย” โดยปรากฏเป็นข้อความในลักษณะเดียวกันว่า ‘การอุ้มหายมีอยู่จริง’ และ ‘ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นเช่นไร หากคนที่ท่านรักจู่ๆ ก็หายตัวไป’ เพื่อตอกย้ำให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยหันมาตระหนักในการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ว่า เป็นการกระทำผิดที่ผู้ถูกกระทำอาจเป็นใครที่คุณรักก็ได้

ปัจจุบันความผิดฐานกระทำการใดๆ ก็ตามเพื่อให้บุคคลสูญหายนั้นยังคงไม่เป็นความผิดทางอาญาในประมวลกฎหมายไทย ส่งผลให้การกระทำดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากการออกมาเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ที่มีมุมมองที่ตรงกันข้ามกับรัฐ ผ่านวิธีการทำให้พวกเขาหายไปและทิ้งไว้เพียงแต่ความว่างเปล่าและความหวาดกลัวให้กับครอบครัว และคนที่อยู่รอบข้างของบุคคลนั้น โดยวิธีการนี้ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อ 67 ปีก่อนกับ “หะยีสุหลง โต๊ะมีนา” ผู้นำทางศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับลูกชายและผู้ติดตามรวมทั้งหมด 4 คน หลังจากนั้นกลายกระทำให้บุคคลสูญหายก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยมาก ไม่ว่าจะกรณี “ทนงค์ โพธิ์อ่าน” “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” รวมทั้งนักกิจกรรมประชาธิปไตยที่ลี้ภัยทางการเมือง 9 รายที่ถูกบังคับสูญหาย ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นรายล่าสุด

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตทั้ง 11 ประเทศนี้ ในฐานะเป็นรัฐสมาชิกอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งประเทศไทยด้วย จึงเป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกทวงถามเกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย อันเป็นกฎหมายที่จะบัญญัติให้การกระทำความผิดทั้งสองนี้เป็นความผิดอาญาตามที่ได้ลงนามอนุสัญญาฯ มาตั้งแต่ปี 2550 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังทวงถามว่า ประเทศไทยจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันการกระทำให้บุคคลสูญหายเมื่อไรด้วย

Advertisement

อนึ่ง คดีการบังคับให้สูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคน รวมถึงกรณีของวันเฉลิมที่ 1 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า เป็นผลให้หลายวันนี้ กลุ่มภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมรำลึก รณรงค์ และจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อกระตุ้นสำนึกให้กับสังคมได้ตระหนักถึงความเลวร้ายของการบังคับให้บุคคลสูญหาย และนำไปสู่การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้เข้าสู่วาระพิจารณาของสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร็วยิ่งขึ้น

#ItCouldBeYou #หยุดการอุ้มหาย #อุ้มหายต้องเป็นความผิดทางอาญา #1ปีวันเฉลิม #StopEnforcedDisappearance #EnactantienforceddisappearanceLaw

สำหรับตัวอย่างข้อความ อาทิ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ระบุว่า

Advertisement

ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นเช่นไรหากคนที่ท่านรักจู่ๆ ก็หายตัวไป
ท่านจะรู้สึกอย่างไร? ท่านจะคิดถึงเขาไหม? ท่านจะร่ำร้องเพื่ออยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นไหม? ท่านจะทำทุกวิถีทางไหมที่จะตามหาเขา? ท่านจะเรียกร้องขอความยุติธรรมหรือไม่?

น่าเศร้าใจที่มีหลายแสนคนในอย่างน้อย 85 ประเทศทั่วโลกได้หายตัวไปในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งหรือมีการปราบปราม

การบังคับบุคคลให้สูญหายไม่ใช่แค่อาชญากรรมต่อเนื่องเท่านั้น ผู้เสียหายโดยมากจะถูกทรมาน หรือสังหารโดยตัวแทนของรัฐ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่งจากรัฐ ทั้งนี้ การบังคับบุคคลให้สูญหายทำให้ผู้เสียหายเจ็บปวดแสนสาหัส ส่วนครอบครัวและญาติก็ทุกข์ทรมานใจไปจนชั่วชีวิต

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นเรื่องที่มิอาจยอมรับได้และขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ครอบครัวของผู้เสียหายและสังคมมีสิทธิที่จะทราบความจริงว่าได้เกิดอะไรขึ้นกับคนที่พวกเขารัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image