สถานีคิดเลขที่ 12 : อนาคตอันใกล้

การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระแรก บ่งบอกให้สาธารณชนรับทราบอีกครั้งว่า กระบวนการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรนั้นอาจไม่ใช่ทุกสิ่งของการเมืองไทย

พูดอีกอย่าง คือ เสียงที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ อย่างท่วมท้น อาจไม่ได้บ่งชี้ถึง “สภาพความจริงรอบด้าน” และเป็นคนละเรื่องกับการช่วยยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีเสถียรภาพ กระทั่งอยู่ยั้งยืนยงไปจนครบวาระ

กล่าวคือแม้รัฐบาลจะได้ทำงานต่อไป แต่ก็เป็นการทำงานต่อ ภายหลังจากการถูก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักแน่น เป็นระบบ มากกว่าการประชุมสภาทุกหน

นี่เองที่เป็น “ความเป็นจริงอีกด้าน” ซึ่งไม่ได้ถูกส่องสะท้อนผ่านการลงมติผ่านงบประมาณวาระแรกอันสงบ เรียบร้อย ราบคาบ

Advertisement

แต่ปรากฏผ่านกลยุทธ์ที่บางคนนิยามว่า คือ “การอภิปรายดั่งราชสีห์ แล้วลงมติเยี่ยงหนู”

คำถามต่อเนื่องที่น่าสนใจ ก็คือ ในสภาพของการปฏิบัติงานตามปกติที่ต้องดำเนินต่อไป พรรคร่วมรัฐบาลขนาดกลางบางพรรคจะปฏิบัติตัวเป็น “ราชสีห์” หรือ “หนู” มากกว่ากัน?

ท่ามกลางนานาปริศนาและความคลางแคลงใจที่จะโอบล้อมรัฐบาลหนาแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

ตั้งแต่การบริหาร-ควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลและ ศบค. ว่าจะมีประสิทธิภาพดีขึ้นเพียงใด?

การแพร่กระจายวัคซีนโควิด “หลังอีเวนต์เปิดตัววันที่ 7 มิถุนายน” จะเป็นระบบและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากน้อยแค่ไหน?

การจัดทำงบประมาณและการใช้เงินกู้หลายแสนล้านบาท จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ได้จริงหรือไม่? และจะก้าวข้ามจากการทำงานรูทีนแบบรัฐราชการ หรือการมุ่งออก-สานต่อเพียงแค่นโยบายประชานิยมเชิงสังคมสงเคราะห์ ได้อย่างไร?

ปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ กระเด้งกระดอนกลับมายังรัฐบาลทั้งหมด

ทว่าเมื่อโครงสร้างการจัดสรรอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ มีความพยายามจะรวบอำนาจ โดยมิได้กระจายให้มีผู้รับผิดชอบ หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจงานด้านต่างๆ ตามรูปแบบกระทรวงเสียทีเดียว

จึงย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีบางคนตกเป็น “เป้าหมายถูกโจมตี” (จากอีกฝ่ายหรือพวกเดียวกัน) มากกว่าบางคน

และการสร้างเอกภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ก็คงไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะระดมพล-ควบคุมปริมาณกันได้ง่ายๆ เหมือนจำนวนการยกมือหรือเสียบบัตรในสภา

ไม่นับรวมว่าโจทย์ใหญ่ๆ ที่รอคอยสังคมไทยอยู่ข้างหน้า ยังมีประเด็นอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องโรคระบาด

เช่น ตกลงเรายังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่? และจะแก้เนื้อหาส่วนไหนบ้าง? ด้วยรูปแบบใด?

หรือเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ต้องเวียนมาบรรจบ (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุของการที่รัฐบาลอยู่ครบวาระ หรือเกิดการยุบสภาขึ้นก่อน) สังคมการเมืองไทยจะคลี่คลายไปสู่ทิศทางใด?

เมื่อปณิธานความคาดหวังจะลงมือเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ต้องปะทะกับภูมิทัศน์ทางการเมืองในชนบท ที่ย้อนคืนกลับไปสู่การลงคะแนนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ซึ่งเห็นชัดเฉพาะหน้า

เพราะบรรดาลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายายมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะมี (ผู้นำ) รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ-โครงสร้างในระยะยาว

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image