9.00 INDEX กระบวนท่า แยกกันเดิน รวมกันตี กฎหมายพรรคการเมือง “เลือกตั้ง”

หากมองการเคลื่อนไหวของ “สปท.” อย่างแยกส่วนกับการเคลื่อนไหวของ “กกต.”ในเรื่องกฎหมายพรรคการเมือง ในเรื่องกฎ หมายเลือกตั้ง
เหมือนกับไม่มีอะไรเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน
บทบาทของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ บทบาทของ นายวันชัย สอนศิริ เหมือนกับเป็นเอกเทศ
ไม่เกี่ยวกับบทบาทของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร
คำถามก็คือ แล้วในที่สุด “ข้อเสนอ” ทั้งจากสปท. ทั้งจากกกต.ไปอยู่ ณ ที่ใด
คำตอบก็คือ “กรธ.”
คำถามก็คือ หลังจากกรธ.โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์และคณะจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยการเลือกตั้งแล้ว
ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเหล่านี้จะไปอยู่ที่ใด
คำตอบก็คือ 1 รัฐบาล และ 1 คสช.

หากมองเห็นภาพไม่แจ่มชัดก็ขอให้ย้อนกลับไปศึกษาเส้นทางของ ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
อาจ”งอก”มาจาก “กกต.”
แต่ที่สุดแล้วกกต.ก็ต้องฟังเสียงจาก สปท. ฟังเสียงจากกรธ.และก็ต้องฟังเสียงจากรัฐบาลและคสช.
แม้เป้าหมายสุดท้ายจะเป็น “สนช.”
แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า สนช.เป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายและคนที่แต่งตั้งสนช.คือคสช.
ในที่สุด ทั้งหมดก็อยู่ในมือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม
ในที่สุด ร่างกฎหมายอันเริ่มจากกกต.ก็กลายมาเป็นการยำใหญ่ปรากฏอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เป็น พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559
เมื่อ พ.ร.บ.นี้ประสานเข้ากับมาตรา 44 ประสานเข้ากับประกาศและคำสั่งคสช.
ทุกอย่างก็”เรียบโร้ย” 16 ล้านกว่าเสียง

ไม่ว่าบทบาทของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยหรือสปท. ไม่ว่าบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.
ดำเนินไปอย่างแยกส่วนแต่ก็สัมพันธ์กัน
สรุปตามสำนวนทหารก็เท่ากับดำเนินตามยุทธวิธี “แยกกันเดิน รวมกันตี”
เหมือนที่เห็นก่อนประชามติวันที่ 7 สิงหาคม
เพียงแต่คราวนี้การเลือกตั้งตามโรดแมปประมาณปลายปี 2560 ถือได้ว่าเป็นการยุทธซึ่งใหญ่กว้างมากกว่า
การแข่งขันก็มากด้วยความรุนแรง และแหลมคม
การกำหนดมาตรการในการ”กระชับ”และ”ยึดครอง”พื้นที่ทางการเมืองจึงสำคัญ
ผ่านกฎหมาย”พรรคการเมือง” ผ่านกฎหมาย”เลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image