โรม ยัน ‘พิธา’ ประกาศตัดงบไม่ขัด รธน. ไม่ให้ค่า ‘เรืองไกร’ ออกหน้าป้อง รบ.

โรม ยัน ‘พิธา’ ประกาศตัดงบไม่ขัด รธน. ไม่ให้ค่า ‘เรืองไกร’ ออกหน้าป้อง รบ. ชี้ ถ้า กมธ.สแกนกฎหมายไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีสภาทำหน้าที่แทน ปชช.

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ระบุว่า การประกาศตัดงบประมาณ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่า ความจริงนายเรืองไกร ก็ทำงานใน กมธ.งบประมาณในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ​มานาน ซึ่งก็ทำร่วมกับพรรค ก.ก.ด้วย ที่ผ่านมาเราก็ทำอย่างเต็มที่ ปี 2564 เราก็ตัดงบประมาณไปได้กว่าหมื่นล้านบาท ตนคิดว่านายเรืองไกร ก็น่าจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ผิด การที่เราประกาศตัดงบประมาณ เพื่อนำไปใช้อย่างอื่น ไม่ได้หมายความว่าเป็นการวิ่งเต้นโครงการ หรือเสนอโครงการอะไรเข้ามา แต่เป็นการเสนอตามกลไกรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าในการพิจารณางบประมาณ จำเป็นต้องตัดงบในส่วนที่ไม่จำเป็น และเป็นภาระออกก่อน แล้วนำไปกองไว้รวมกัน จากนั้นหน่วยงานรัฐต่างๆ ก็ทำโครงการมาเสนอก็ได้ บางทีนายเรืองไกรควรจะมองคนรอบข้างของตัวเองมากกว่า ว่า อาจจะมีแนวโน้มที่จะไปกระทำความผิดขัดต่อมาตรา 144 ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีความพยายามวิ่งเต้นโครงการต่างๆ เพื่อนำเงินที่ตัดออกไป ไปใช้ในลักษณะเพื่อพวกพ้องตัวเอง

เมื่อถามว่า หากพิจารณาตามตัวบท การประกาศตัดงบประมาณเช่นกรณีนายพิธา ถือว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า สิ่งที่นายพิธาประกาศจะทำ ไม่มีทางขัดกฎหมาย เพราะการตัดงบประมาณสามารถทำได้ เพราะเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ทำหน้าตรวจคัดกรองโครงการของหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ ตามมาตรา 144 ระบุสิ่งที่ทำไม่ได้ อย่างเช่น การเสนอโครงการเอง แล้วที่ผ่านมาพรรค ก.ก. และอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ก็ไม่เคยวิ่งเต้นโครงการ แต่เราเพียงให้ความเห็นว่า การของบทำโครงการบางโครงการไม่เหมาะสมในภาวะโควิด-19

เมื่อถามว่า การแสดงความเห็นของนายเรืองไกร จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตัดลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นของสภาฯ หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราก็ทำแบบนี้แล้วก็ไม่เคยผิดรัฐธรรมนูญ ถ้าเราผิด คงโดนร้องไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้นายเรืองไกรมาแนะนำ หากเราไม่สามารถตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นได้ ก็ไม่ต้องมีสภาฯ เหมือนในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ขอโครงการอะไรก็ได้หมด อำนาจของสภา คือ สามารถตัดโครงการที่ไม่จำเป็นได้ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ร่วมกันไม่ใช่เฉพาะของส่วนพรรค ก.ก. เท่านั้น ส่วนหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณทั้งกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก็มีหน้าที่ให้เหตุผลว่าโครงการที่เสนอมามีความจำเป็นหรือไม่

Advertisement

เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่าเจตนาของนายเรืองไกร ซึ่งปัจจุบันย้ายไปสังกัดของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แล้วนั้นคืออะไร นายรังสิมันต์กล่าวว่า “ผมไม่อยากจะวิจารณ์อะไรเยอะหรือให้ค่านายเรืองไกร คิดว่านายเรืองไกรก็คงพยายามทำหน้าที่ ในฐานะที่มาจากโควต้ารัฐบาลที่จะเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาลให้มากที่สุด ส่วนสิ่งที่พรรค ก.ก. ทำคือการตัดในส่วนนี้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลหวังว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่ตัวเอง นายเรืองไกรก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น แต่การแสดงความคิดเห็นของนายเรืองไกรไม่ได้หมายความว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้องและไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่นายเรืองไกรพูดไปทั้งหมดเป็นผลประโยชน์ของประชาชน โดยปัจจุบันนายเรืองไกรได้เปลี่ยนสี ไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล ผมก็ขอให้นายเรืองไกรโชคดี แต่เราก็ยืนยันว่า เราจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image