‘ศิริกัญญา’ เผยผลคุย 4 หน่วยงาน ศก. พบงบ’65 เปราะบาง รายได้พลาดเป้า-กู้เต็มเพดาน

‘ศิริกัญญา’ เผยผลคุย 4 หน่วยงาน ศก. พบงบ’65 เปราะบาง รายได้พลาดเป้า-กู้เต็มเพดาน

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ฝ่ายนโยบาย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากที่เมื่อวานนี้ (7 มิถุนายน) ในที่ประชุม กมธ. ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งมี 4 หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าชี้แจง ทำให้พบเห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากในปี 2563 และ 2564 รัฐบาลจัดเก็บรายได้พลาดเป้า ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดาน จนต้องเอาเงินคงคลังออกมาใช้ โดยในปี 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้พลาดเป้าถึง 430,000 ล้านบาท ทำให้จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเก็บรายได้ 2.73 ล้านบาท จัดเก็บได้จริงแค่ 2.3 ล้านบาท ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลเต็มเพดาน 700,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่พอ ทำให้ต้องนำเงินคงคลังออกมาใช้อีก 130,000 ล้านบาท

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในปี 2564 ปีนี้ ทำท่าจะซ้ำรอยเดิม จากการคาดการณ์ของ PBO (สำนักงบประมาณของรัฐสภา) ประเมินว่ารายได้ในปี 2564 จะพลาดเป้า 2.2 แสนล้านบาท ทำให้ปีนี้เราต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล 7.4 แสนล้านบาท มากกว่าที่ประมาณการไว้เกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งทำท่าว่ากู้แล้วจะไม่พอ เราต้องควักเงินคงคลังออกมาใช้อีก ในปี 2564 และ 2565 ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเก็บรายได้พลาดเป้าจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ การตั้งงบประมาณในปี 2565 ที่ตั้งกู้ชดเชยขาดดุลเต็มเพดานตั้งแต่ต้นทำให้ถ้ามีความเสี่ยงจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียวก็จะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณไม่พอใช้

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า การประมาณการรายได้สุทธิอาจพลาดเป้าจาก 1) ผลของการหดตัวของรายได้นิติบุคคล 2) เงินนำส่งรัฐวิสาหกิจที่พลาดเป้า 3) การแพร่ระบาดของโควิดและเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง 4) รายได้และเงินออมของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว และ 5) แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ถึงท่านจะจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนแบบนี้ การประมาณการรายได้ก็อาจพลาดเป้าได้ โจทย์คือเราจะมีวิธีออกแบบงบประมาณอย่างไรให้สอดรับกับสถานการณ์

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตัวชี้วัดสภาพคล่องระยะสั้นไม่ว่าจะเป็นดุลงบประมาณ และดุลงบประมาณต่อจีดีพีถ้าย้อนกลับไปดูจะเห็นได้ชัดว่ามีระดับที่ลดลงมา ระดับเงินคงคลังเฉลี่ย 4 ไตรมาสต่องบประมาณทั้งหมดก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าลดลงมาในระดับต่ำกว่าปี 2562 โดยจากจุดที่เงินคงคลังสูงที่สุดในปี 2563 มาถึงไตรมาส 1/2564 เงินคงคลังลดลงแล้วจาก 572,104 ล้านบาท เหลืออยู่ 351,379 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ ถ้าการจัดเก็บรายได้พลาดเป้า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคที่หน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจใช้ยังมีปัญหา ทั้งความช้า เก็บในความถี่ค่อนข้างห่าง และไม่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่จริงๆ ประเทศอื่นมีวิธีการสร้างตัวชี้วัดที่ทำได้รวดเร็ว หรือ Rapid Indicator เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีน้ำมัน จำนวนการเดินทาง หรือ google mobility index ที่จะช่วยสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และนำมาสู่การวางแผนออกมาตรการของรัฐอย่างตรงจุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image