คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เอมพาธี(Empathy)อันเจ้าหน้าที่ของรัฐพึงมี

มีวิธีการทรมานเชลยศึก หรือนักโทษที่เคยเห็นในภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งที่ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำ วิธีการนี้ไม่จำต้องแตะเนื้อต้องตัวอีกฝ่ายแต่อย่างใด เพียงนำเชลย หรือนักโทษนั้นมาตรึงผูกไว้กลางแดดจัดเป็นเวลานานสักครึ่งวัน

เมื่อถูกแดดเผาร้อน ทรมาน และกระหายได้ที่ ผู้ทารุณก็จะเดินเข้าไปพร้อมด้วยน้ำเย็นๆ ขวดหนึ่ง จากนั้นก็บรรจงเทน้ำนั้น โดยกะให้ละอองน้ำกระเด็นถูกร่างของผู้ถูกทรมานแต่เพียงน้อย แต่ไม่ให้ผู้นั้นได้สัมผัสกับน้ำนั้นได้แม้แต่ปลายลิ้น

ความโหดร้ายนี้คือ ในสภาพที่กระหายเจียนตาย เห็นน้ำอยู่ตรงหน้าแท้ๆ สัมผัสไอเย็นรับรู้ว่านั่นคือ น้ำจริงๆ มิใช่ภาพหลอน แต่ไม่สามารถดื่มได้แม้แต่น้อย สู้ให้ขาดใจตายไปกลางแดด โดยไม่เห็นน้ำ หรือมีความหวังใดๆ เสียเลยดีกว่า

สภาพจิตใจของผู้ประกอบการร้านนวด สปา สักเจาะ ทำเล็บ และคลินิกเสริมความงาม ทั้งหลาย ตลอดจนผู้ประกอบการที่มีร้านค้าตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในช่วงเสาร์อาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ก็คงมีสภาพทางจิตใจไม่แตกต่างจากผู้ถูกทารุณกรรมที่ได้เล่าไปตอนต้นเท่าใดนัก

Advertisement

ด้วยคำสั่งผ่อนผันของกรุงเทพมหานครที่ให้เปิดกิจการและสถานบริการดังกล่าวได้โดยให้มีผลในวันรุ่งขึ้นประกาศออกมาในช่วงบ่ายของวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้ประกอบการที่ถูกสั่งให้หยุดกิจการไว้หลายสัปดาห์ต่างก็รีบที่จะเปิดกิจการให้ทันวันแรกที่เป็นไปได้

ร้านนวดและสปาหลายร้านสั่งให้พนักงานนวด และเทราปิสเดินทางจากต่างจังหวัดกลับมา ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แล้วก็เร่งรีบกันไปตรวจโควิด รวมถึงจ้างคนมาฉีดพ่นฆ่าเชื้อ เตรียมรับลูกค้าในวันรุ่งขึ้น ร้านกาแฟ และเบเกอรี่ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เร่งนวดแป้งอบขนมให้ทันขายทันทีที่สถานที่ตั้งนั้นกลับมาเปิดได้

ก่อนที่ทุกอย่างจะย่อยยับในตอนเย็นค่ำ เมื่อมีคำสั่งจาก ศบค.ออกมาสั่งให้ชะลอคำสั่งผ่อนปรนมาตรการข้างต้นของ กทม.ออกไปอีก 14 วัน

Advertisement

พนักงานที่เรียกมาแล้วก็ต้องเสียค่ารถเปล่ากลับบ้านไป ร้านที่จ้างคนมาทำความสะอาดจ่ายเงินแล้วก็เสียไป ขนมที่ทำที่อบไว้ หากหาทางขายไม่ได้ก็ต้องทิ้งไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการออกคำสั่งผ่อนปรนไม่กี่ชั่วโมงก็สั่งชะลอคำสั่งดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจคิดเป็นตัวเงินไม่รู้เท่าไร

ส่วนที่ไม่กล้าประเมินคือ ความเสียหายทางจิตใจของผู้ประกอบการที่ถูกกระทำจากภาครัฐ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจอย่างไม่ยั้งคิด ปราศจากความรอบคอบ เพราะถ้าไม่มีคำสั่งผ่อนปรนเสียตั้งแต่ต้น พวกเขาคงไม่ตระเตรียมการเปิดกิจการให้เสียค่าใช้จ่าย หรือเกิดความหวังทางใจ

กระนั้นก็ไม่มีคำขอโทษออกมาจากฝ่ายไหนเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ให้ผ่อนปรน หรือผู้ที่สั่งชะลอคำสั่ง ซึ่งถ้าไปถามผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนี้ของแต่ละฝั่ง ท่านก็คงเห็นว่าท่านไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไร ฝ่าย กทม.อาจจะเห็นว่า ก็ตัวอุตส่าห์เอาความลำบากเดือดร้อนของผู้ประกอบการมาพิจารณาผ่อนปรนให้แล้วไง ส่วนทาง ศบค.ก็อาจจะว่า ตนเองก็ทำตามหน้าที่ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสเพื่อป้องกันความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของส่วนรวมอันเป็นประโยชน์สาธารณะแล้ว ก็เมื่อสถานการณ์ยังเสี่ยงอยู่มาก จะให้ปล่อยไปได้อย่างไร

แต่หากเรื่องนี้ทั้งสองหน่วยงานสื่อสารกันก่อนออกคำสั่ง หรือมีกลไกสอบทานตัดสินใจร่วมกัน การใช้อำนาจแบบเล่นขายของ แต่ทำให้ผู้คนเสียหายขนาดนี้คงไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ที่หน่วยงานของรัฐสองหน่วยงานนี้ทำงานแบบไม่ปรึกษา หรือสื่อสารกันก่อนจนเกิดสภาวะคนหนึ่งสั่ง อีกคนรีบห้าม เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ก่อความเสียหายร้ายแรงขนาดนี้เท่านั้นเอง แต่เราก็ไม่เคยได้เห็นการสรุปบทเรียนในเรื่องนี้ หรือการออกมาขอโทษประชาชนพร้อมให้คำมั่นว่าความผิดพลาดในการใช้อำนาจแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

นี่คือการแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่ขาดสิ่งที่เรียกว่า “เอมพาธี” (Empathy) หมายถึงการรับรู้ซึ่งความรู้สึกสุขทุกข์ของผู้อื่นอย่างรับมาเป็นของตัวเอง รับรู้เสมือนว่าตนได้ร่วมแบ่งรับเอาสุขทุกข์นั้นมาเป็นของตัวเองด้วย หรือที่อาจจะแปลเป็นภาษาไทยสั้นๆ ได้ว่า “ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น”

เอมพาธีอาจจะเป็นคุณธรรมที่ปฏิบัติได้ยาก เพราะความแตกต่างของมนุษย์ทั้งกำเนิด และสภาพแวดล้อมรวมถึงความคิดความเชื่ออันเป็นปัจเจก ทำให้เราอาจจะจินตนาการถึงชีวิต หรือสภาวะรูปแบบอื่นที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ หรือแตกต่างจากเรามากๆ ได้ยากนักหนา แต่กระนั้นเอมพาธีนี้เป็นคุณธรรมที่อาจสำคัญที่สุดในการสร้างสันติภาพ หรือความสงบสุขอันแท้จริงได้ เพราะเมื่อเราได้รับรู้ความทุกข์ความสุขของคนอื่นแล้ว เราย่อมไม่ทำในสิ่งที่ตัวเราในตัวคนอื่นอาจเป็นทุกข์ และพยายามจะทำในสิ่งที่ตัวเราในตัวผู้อื่นมีความสุข

ดังนั้นแม้จะยาก แต่การฝึกตนให้มีเอมพาธีจึงเป็นเรื่องที่ผู้เจริญทางจิตใจ หรือมีคุณธรรมสมควรที่จะฝึกให้เป็นนิสัย หรือพยายามทำให้ได้มากที่สุด

สำหรับข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในขณะนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด ก็คือเรื่องของการขาดเอมพาธีต่อประชาชนคนผู้อื่นนี่แหละ

เพราะสามารถกล่าวได้เลยว่า ในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนต่างๆ จากงบประมาณแผ่นดิน คือกลุ่มที่เรียกได้ว่าแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย รวมถึงอาจจะได้เปรียบขึ้นมาชัดเจนจากสวัสดิการและสิทธิพิเศษต่างๆ ด้วย

ความที่ “ชีวิตยังค่อนข้างปกติ” นี่เอง ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีแนวโน้มที่กระทำการที่แสดงออก ซึ่งการขาดซึ่งเอมพาธีต่อผู้อื่นออกมาได้ ทั้งในเชิงของการใช้อำนาจและในทางส่วนตัว

ในการใช้อำนาจแบบการออกคำสั่งที่ไม่ประสานงานกัน สั่งแล้วก็ยกเลิกหน้าตาเฉย โดยไม่เอาความทุกข์ยากของผู้ประกอบการที่ขาดรายได้เป็นเวลานาน ที่เงินทองร่อยหรอลงทุกทีมาใส่ไว้ในใจยามตัดสินใจว่า การออกคำสั่งที่ไม่รอบคอบจนทำให้พวกเขาเสียหายขนาดไหน เพราะท่านไม่มีความรู้สึกแบบเดียวกับผู้ประกอบการที่เมื่อจ่ายเงินไปแล้วก็ต้องรอรับรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการ เมื่อไม่สามารถเปิดกิจการได้เงินรายจ่ายนั้นก็สูญไปเปล่า เงินพวกเขาไม่ได้ไหลกลับคืนเข้ามาเติมในบัญชีทุกวันที่ 25 หรือ 26 ของเดือนเหมือนข้าราชการผู้ออกคำสั่งและยกเลิกคำสั่งข้างต้น

หากท่านมีเอมพาธีต่อพวกเขาแม้เพียงนิด ก็น่าจะมีคำขอโทษออกมาบ้าง แม้ในฐานะส่วนตัวก็ยังดี

หรือดำริที่ให้เด็กนักเรียนที่เปิดเรียนแบบออนไลน์อยู่ที่บ้าน ต้องสวมชุดนักเรียนให้เรียบร้อยนั่งเรียนนั่นก็เป็นตัวอย่างความคิดแบบหวังผลเลิศ แต่ขาดไร้ซึ่งความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้อำนาจที่ปราศจากเอมพาธี

จริงๆ ก็มีคำแนะนำลักษณะนี้อยู่ว่า การแต่งกายให้เหมือนกับการไปทำงานหรือไปเรียนตามปกติ “อาจ” จะช่วยเพิ่มความตั้งใจจดจ่อกับงานหรือการเรียนได้จริง แต่เรื่องนั้นก็ควรเป็นเพียง “คำแนะนำ” ตามแต่ความสมัครใจ ทั้งยังต้องให้คำแนะนำนั้นอย่างระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่กดดันให้ดูเหมือนการบังคับด้วย

หากท่านมีเอมพาธีพอที่จะคำนึงถึงความลำบากเดือดร้อนของผู้ปกครองว่า ลำพังที่เขาต้องหาอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ หาทางแบ่งเวลามาดูแล หรือจัดสถานที่ให้ลูกสามารถเรียนออนไลน์ได้ก็เป็นภาระมากแล้ว ต่อให้พ่อแม่ที่สามารถทำงานที่บ้านแบบ Work from home ได้ ก็ยังมีความยากลำบากแบบหนึ่ง แล้วยิ่งพ่อแม่ที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ภาระดังกล่าวก็หนักหนาขึ้นหลากเท่าทวีคูณ ไม่ต้องคิดถึงความเปลืองเปล่า โดยไม่จำเป็นที่ต้องซื้อหาเครื่องแบบของปีการศึกษาใหม่มาใส่อยู่บ้าน ทั้งๆ ที่เขาควรจะประหยัดได้อย่างน้อยก็เทอมหนึ่งในสภาวะที่คนส่วนใหญ่รายได้ลดลง

บางครั้งการขาดเอมพาธีของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็แสดงออกมาผ่านท่าทีหรือการแสดงออกส่วนตัวที่ไม่ใช่การใช้อำนาจ เช่น ท่าที หรือความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีน

คงจะทราบกันทั่วไปอยู่ว่ามีการกระจายวัคซีนไปยังหน่วยราชการและหน่วยงานของรัฐต่างๆ จำนวนหนึ่งเพื่อฉีดให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดนั้น (นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์) ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรวัคซีนไปนี้ บางหน่วยงานก็จำเป็นจริงๆ เช่นเป็นหน่วยงานที่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อหรือติดต่อกับบุคคลภายนอก

ปัญหาคือข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับวัคซีนด้วยการจัดสรรวิธีนี้อาจจะคิดว่าการได้รับวัคซีนนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายต่อการเข้าถึง หากไม่เลือกว่าจะฉีดวัคซีนตัวไหน

เป็นที่มาของสเตตัส “เสียดสี” ของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนเกี่ยวกับการที่มีคนไม่ยอมรับวัคซีนของรัฐ หรือเกี่ยงงอนไม่อยากฉีดวัคซีนบางยี่ห้อ ว่าทำไมเรื่องมากนัก มีอะไรก็ฉีดๆ ไปเถอะ หรือบางคนมาด้วยท่าทีอ่อนกว่านั้น ว่า ไปฉีดกันเถอะ ฉีดกันเยอะๆ อย่ารอ อย่าเกี่ยงเลย

โดยไม่ได้รู้เลยว่า ก่อนหน้านี้ บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้น ยังไม่สามารถจองคิวฉีดวัคซีนได้เลยไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม หรือแม้แต่กลุ่มเสี่ยงที่จองได้แล้ว ก็ยังไม่แน่ว่าจะได้ไปฉีดตามกำหนดหรือไม่ เพราะหลายคนได้รับแจ้งเลื่อนการฉีด หรือถูกยกเลิกไปเฉยๆ ก็มี

ดังนั้นถ้าคุณมีเอมพาธีอยู่บ้าง ก็ไม่ควรแสดงความเห็นอะไรเช่นนั้น

ดังที่หลายคนกล่าวไว้ว่า สภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เปิดแผลความเหลื่อมล้ำแผลใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ออกมา ความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ ทำให้อะไรหลายๆ อย่างที่เคยค้ำยันหรือปะผุไว้เริ่มจะเอาไม่อยู่ และเริ่มหลุดลอกพังทลายลงมา

และเราต้องยอมรับว่า งบประมาณของประเทศที่ใช้ในการหล่อเลี้ยงระบบ “ราชการ” ทั้งในแง่ของค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ นั้นเป็นจำนวนเงินที่สูงในสัดส่วนของเงินทั้งหมดในงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเดิมเรื่องนี้ก็ไม่เคยถูกแตะต้องในยามที่เศรษฐกิจหรือสถานะโดยรวมยังไม่ถึงกับแย่มากเท่าทุกวันนี้

เราไม่อาจรู้ได้หรอกว่าความพังทลายจากวิกฤตครั้งนี้จะกินลามไปถึงไหน ระบบใดที่จะถูกตั้งคำถามเป็นระบบต่อไป หรืออาจจะถูกมองว่าเป็นภาระของชาติแล้วรื้อทำลายทิ้งเพื่อจัดรูปใหม่

การเริ่มมีเอมพาธีเสียแต่วันนี้อาจช่วยได้บ้างในแง่ว่า เมื่อเราได้รับรู้ทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติแม้จะไม่ใช่ความทุกข์ยากลำบากของเราเอง แต่อย่างน้อยเราก็จะไม่ทำอะไรให้ผู้คนเขารู้สึกว่าเรากำลังซ้ำเติมความทุกข์ของผู้ที่เป็นคนจ่ายความสะดวกสบายให้เรา

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image