“ชำนาญ จันทร์เรือง” เขียนบทความ “ท้องถิ่นควรซื้อวัคซีนโควิดหรือไม่?”

 

“ชำนาญ จันทร์เรือง” เขียนบทความ “ท้องถิ่นควรซื้อวัคซีนโควิดหรือไม่?”

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อดีตส.ส.และรองหน.พรรคอนาคตใหม่ เขียนบทความเรื่อง ท้องถิ่นควรซื้อวัคซีนโควิดหรือไม่ แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการจัดซื้อวัคซีน มีรายละเอียดดังนี้

พลันที่ราชวิทยาลัยฯเปิดการแถลงข่าวว่าจะมีการสั่งวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามา นายก อบจ.ปทุมธานีก็ประกาศในที่แถลงข่าวว่าจะดำเนินการสั่งจองวัคซีนจากราชวิทยาลัยฯ และตามด้วย อบจ.อื่นๆอีกกว่า 20 จังหวัด อาทิ เชียงราย,นครศรีธรรมราช,ลพบุรี,สมุทรสาคร,ฉะเชิงเทรา ฯลฯ หลังจากที่เคยถูกผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยไว้ในต้นปี2563ว่าในช่วงแรกควรให้เฉพาะศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.)เป็นผู้ดำเนินการ

Advertisement

แต่เมื่อ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แถลงว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้พ้นระยะแรกตามคำวินิจฉัยเดิมไปแล้ว ซึ่งก็มีประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก ว่าท้องถิ่นซื้อวัคซีนเองได้หรือไม่ได้ มีเงินหรือไม่ ท้องถิ่นเล็กใหญ่มีเงินไม่เท่ากัน และที่สำคัญก็คือว่าตกลงควรเป็นหน้าที่หรืองบประมาณของใครในการจัดซื้อวัคซีนนี้

1.ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดซื้อวัคซีนได้หรือไม่

เป็นที่ชัดเจนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)ทุกประเภทได้บัญญัติไว้ว่า อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท.สามารถทำได้ ตัวอย่าง กรณี อบจ. การป้องกันและควบคุมโรคบัญญัติไว้ชัด ใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 45( และ ตามข้อ 14 แห่งกฎกระทรวง พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.อบจ.มาตรา 45(9) และ ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.พ.ศ.2542 มาตรา 17(19) เป็นต้น

Advertisement

ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรอิสระอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินหรือกระทรวงมหาดไทยไม่สามารถยกเลิกเพิกถอนหรือห้ามมิให้ อปท.ทำได้หาก อปท.ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบกฎหมายต่างๆ เช่น ระเบียบ มท.ว่าด้วยการงบประมาณ ระเบียบเบิกจ่าย รวมทั้งหนังสือสั่งการของ มท.ที่เกี่ยวข้องและการจัดซื้อที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ รวมทั้งหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง การจัดซื้อต้องดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับสาธารณสุข เช่น ต้องผ่านการรับรองของ อย.ทั้งชนิดยา และผู้มีสิทธินำเข้า

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งมีการประกาศเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งต่อมาได้มีประกาศให้โอนอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาเป็นของ ศบค. ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีน จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาสั่งการของ ศบค. เมื่อ ศบค.ประกาศให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนได้ตามประกาศฯลว. 8 มิ.ย.64 อปท.ก็สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ เพราะกฎหมายจัดตั้งฯให้อำนาจไว้อยู่แล้ว แต่ต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ ศบค.หรือนายกรัฐมนตรีกำหนดอยู่ดี

2.จะเอาเงินจากไหน

เมื่อ ศบค.อนุมัติให้ อปท.ซื้อวัคซีนเองได้ แน่นอนว่าในภาวะเร่งด่วนก็ย่อมหนีไม่พ้นการใช้เงินสะสมของท้องถิ่นเองเพราะเงินอุดหนุนทั่วไป หรือเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจะต้องจัดทำแผนงานโครงการล่วงหน้า ซึ่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 แก้ไข (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ข้อ 89 อปท.อาจใช้จ่ายเงินสะสมได้ โดยได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ให้กระทำได้เฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท.ซึ่งเกี่ยวกับด้านการบริการชุมชนและสังคม หรือกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของ อปท.หรือกิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามแผนพัฒนาของ อปท.หรือตามที่กฎหมายกำหนด

(2) ได้ส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมกิจการของ อปท.แต่ละประเภทตามระเบียบแล้ว

(3) ให้กันเงินสะสมสำรองจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่น้อยกว่าสามเดือนและกันไว้อีกร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและกรณีที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น (4) เมื่อได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินสะสมแล้ว อปท.ต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีถัดไป หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้การใช้จ่ายเงินสะสมนั้นเป็นอันพับไป

ทั้งนี้ ให้ อปท.ใช้จ่ายเงินสะสม โดยคำนึงถึงฐานะการเงินการคลังของ อปท.และเสถียรภาพในระยะยาว

ข้อ 89/1 ในกรณีที่มีภารกิจตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลหรือกระทรวงมหาดไทยและจำเป็นต้องให้ อปท.เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจากงบประมาณของ อปท.และงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอและไม่ต้องด้วยเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสมตามข้อ 87 และข้อ 89 ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาจอนุมัติยกเว้นให้ อปท.ใช้จ่ายจากเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสมได้โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

3.อปท.ควรซื้อเองหรือไม่

กรณีการระบาดของ โควิด-19 นี้เป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ ไม่มีเขตแดน ไม่มีแนวกำแพงกั้น ผู้ที่รับผิดชอบต้องเป็นรัฐ เพราะโรคระบาดแบบนี้ประชาชนต้องได้รับการบริการ “ฟรี” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 47 วรรคท้ายที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แต่ว่าก็อย่างที่เราเผชิญอยู่ ปัญหาคือรัฐบาลไม่อาจบริหารจัดการวัคซีนตามที่ประชาชนต้องการอย่างเพียงพอได้ ก็เลยทำให้ผู้นำท้องถิ่นอึดอัด จนต้องออกมาเสนอจัดซื้อวัคซีนเพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ตัวเอง

ซึ่งก็ไม่ผิดที่ผู้บริหารท้องถิ่นอยากจะทำเรื่องนี้ให้ประชาชน แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื่องของการระบาดหนักของโรคติดต่ออันตรายซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เงินที่ใช้จึงต้องเป็นเงินส่วนกลาง สำหรับเงินสะสม งบฯ ท้องถิ่น นั้น กว่าจะเก็บได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ และมีเรื่องที่ต้องนำไปใช้ในสิ่งจำเป็นอื่นอีกมากที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. มิใช่นำไปใช้ในเรื่องนี้อย่างเดียวทั้งหมด

4.เข้าข่ายประชานิยมหรือไม่

อย่าลืมว่าเรายังมี“ข้อห้ามทำประชานิยม” ตาม มาตรา 9 วรรคท้าย ประกอบมาตรา4(6)และมาตรา17(5)แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อยู่ เราต้องพิจารณาด้วยว่าการใช้เงินสะสมฯนี้จะถือเป็นการเปิดช่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นไปสร้าง “ความนิยมทางการเมือง” ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเงินสะสมของ อปท.และต่อประชาชนในอนาคตหรือไม่อีกด้วย
สรุป

ผมจึงขอสรุปว่าผมไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินของ อปท.ในการจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน แต่เห็นด้วยที่จะให้ อปท.ดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนในพื้นที่ตนเองเพราะ “ไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น” ซึ่งต้องเปิดเผย โปร่งใส ชัดเจน โดยใช้เงินงบประมาณจากส่วนกลางของรัฐบาลหรือให้ท้องถิ่นออกไปก่อนแล้วรัฐบาลชดใช้คืนทีหลัง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบบ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา”เพราะ อปท.เล็กใหญ่มีเงินไม่เท่ากันนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image