บทนำ : อย่าหวงอำนาจ

ถือว่ามีการผ่อนคลายมากขึ้น สำหรับประชาชนที่รอคอยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ราชกิจจานุเบกษาได้ เผยแพร่ประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กำหนดแนวทางบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 จำนวน 6 ข้อ สาระสำคัญคือการปลดล็อกให้หน่วยงานหลายแห่ง รวมถึง รพ.เอกชน-อปท.จัดหาวัคซีนเองได้ จากหน่วยงานรัฐที่กำหนด มีผลบังคับใช้ทันที ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.

หน่วยงานที่นำเข้าวัคซีนได้ ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข ให้เอกชนและโรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อจากหน่วยงานดังกล่าวได้ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับไฟเขียวให้จัดหาวัคซีนได้ แต่ต้องจัดหาจากหน่วยงานที่ระบุข้างต้น และต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม สำหรับ อปท.ยังมีข้อจำกัดหลายประการ และ ศบค.ยังควบคุมการจัดซื้ออยู่ ดังที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการ ศบค. ระบุว่า ศบค.เป็นห่วงการจัดซื้อของ อปท.ว่า ศักยภาพด้านงบประมาณที่แตกต่างกัน อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หากเป็นไปได้อยากให้ อปท.ทำหน้าที่แค่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีนที่ ศบค.หรือกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ได้หมายความว่า อปท.ทุกแห่งจะซื้อได้ ต้องดูหลักเกณฑ์ ไม่ใช่ว่าประกาศออกไปแล้ว อปท.สามารถซื้อได้เองทันที

ประเทศไทยประสบปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ การคิกออฟฉีดทั่วประเทศซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. มีเสียงร้องเรียนว่า วัคซีนไม่เพียงพอ ต้องเลื่อนวันฉีดออกไป บางอำเภอได้เพียง 1 ขวดหรือ 10 โดส ขณะที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ฟื้น หากไม่มีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ในกรุงเทพฯ มีการใช้หน่วยงาน กทม. จัดฉีดวัคซีน ดังนั้น จังหวัดต่างๆ ซึ่งมี อปท.ควรใช้วิธีเดียวกัน โดยให้ อปท. จากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกและเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ รู้สภาพท้องถิ่นเป็นอย่างดี มีบทบาทในเรื่องการจัดหา และประสานงานจัดฉีด เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image