หน้า 3 วิเคราะห์ : รัฐบาล นับถอยหลัง พปชร. จัดทัพ เตรียมพร้อม เลือกตั้ง

หน้า 3 วิเคราะห์ : รัฐบาล นับถอยหลัง พปชร. จัดทัพ เตรียมพร้อม เลือกตั้ง

หน้า 3 วิเคราะห์ : รัฐบาล นับถอยหลัง พปชร. จัดทัพ เตรียมพร้อม เลือกตั้ง

เมื่อกระแสข่าวที่ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งสัญญาณให้รัฐมนตรีเร่งผลงานก่อนหมดวาระ แพร่กระจายออกมา

คล้ายส่งสัญญาณว่ารัฐบาลกำลังนับถอยหลัง

อาจจะเป็นการ “ถอยหลัง” เข้าสู่ช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนรัฐบาลครบวาระในปี 2566

Advertisement

หรืออาจจะเป็นการ “ยุบสภา” ทันทีเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์มีความพร้อม

แม้สัญญาณดังกล่าวจะถูกตีความว่า เป็นเสียงขู่พรรคร่วมรัฐบาลให้อยู่ในแถว

แต่มองอีกมุมก็เป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เองก็กำลังตระเตรียมการ

Advertisement

เตรียมกลับมาเป็นนายกฯอีกสมัย

การเตรียมพร้อมเลือกตั้งใหม่นี้มีสัญญาณมาเนืองๆหลังจากรัฐสภาล้มญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตัวเองผ่านวาระ 2 มากับมือด้วยการโหวตคว่ำ พรรคพลังประชารัฐก็เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง

คราวนี้แก้ไขในประเด็นการเลือกตั้ง ไม่แตะต้องอำนาจ ส.ว.ที่สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วย

ตอกย้ำเจตนาว่า พรรคพลังประชารัฐมั่นใจในการเป็นพรรคใหญ่ จึงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดความได้เปรียบของพรรคเล็ก และยังคงไม้เด็ดใช้เสียง 250 ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

ปูทางแบเบอร์ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์อีกรอบ ถ้าต้องการจะกลับมา

สัญญาณต่อมาที่คมชัด คือ กระแสข่าวประชุมพรรคพลังประชารัฐในวันที่ 18 มิถุนายน ที่จังหวัดขอนแก่น

มีกระแสข่าวว่า เป้าหมายการประชุมใหญ่คือปรับเปลี่ยนทีมบริหาร ผลักดันให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรคแทน นายอนุชา นาคาศัย

กระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ยังมีเสียงปฏิเสธจากแกนนำ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐบอกว่าไม่มีวาระดังกล่าว แต่ก็จบท้ายบทสัมภาษณ์ว่า ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรค

ขณะที่นายอนุชาเองบอกว่า ทุกอย่างแล้วแต่ พล.อ.ประวิตร

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีใครยืนยันเรื่องวาระการประชุม แต่ดูเหมือนความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรกลับถูกจับตามอง

นายอนุชา และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะบอกว่าเข้าพบเรื่องงานในหน้าที่รัฐมนตรี

แต่จับสัญญาณจากนายสมศักดิ์ที่แสดงความคิดเห็นถึงการประชุมพรรค

มีเค้าลางว่ากระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในพลังประชารัฐน่าจะเป็นจริง

นายสมศักดิ์ตอบคำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคว่า “มีคนพยายามทำให้เกิดข่าว”

และ…

“ถ้ามายุ่งเรื่องส่วนตัวเช่นเรื่องในพรรคมากไป อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อาจเสียงานในภาพรวม

“อยากให้นักการเมืองสังวรไว้ว่าประชาชนมองเราอยู่ อย่าคิดว่าวันนี้เราเดินได้สบายอยู่กับสิ่งที่เป็นอำนาจ แล้วทำให้ท่านสบาย

“ขอเรียนว่า สิ่งที่ทำในวันนี้จะสะท้อนในวันเลือกตั้ง ฝ่ายที่เป็นคู่แข่งเรา เขาจะเอามาโจมตีเราไม่ยั้ง”

สําหรับพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นพรรคใหม่ที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้งปี 2562

จากยุคของ นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ

ก่อเกิดมุ้งเล็กในพรรคใหญ่ มีการต่อสู้กันระหว่าง “กลุ่ม 4 กุมาร” กับ “กลุ่มสามมิตร”

การต่อสู้กันจบลงโดยนายอุตตม และกลุ่ม 4 กุมาร ขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ

ผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้า และนายอนุชา เป็นเลขาธิการพรรค

กลุ่มสามมิตรได้บริหารพรรค และขยับเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีในที่สุด

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐแล้ว แต่แนวปะทะภายในพรรคยังไม่จบ เพราะไม่นานได้เกิดกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่าง “3 ช.” หมายถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการ ปะทะ “3 ว.” หมายถึง รัฐมนตรีว่าการ

น่าสังเกตว่า 3 ช. นั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยจากพรรคพลังประชารัฐ ในสาย พล.อ.ประวิตร ขณะที่ 3 ว. เป็นรัฐมนตรีว่าการจากพรรคพลังประชารัฐ แต่อยู่ในกลุ่มสามมิตร

แม้ว่าภายหลังกลุ่ม 4 ว. จะรวมถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งอยู่ในฟากฝั่ง พล.อ.ประวิตรมาร่วม แต่แนวปะทะระหว่าง 3 ช. กับ 3 ว. ก็ยังคงแรงกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา

ภายหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด กระแสที่เป็นข่าวขัดแย้งขาดหาย

กระทั่งเกิดกระแสข่าวการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง

เค้าลางความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐก็อุบัติขึ้นอีกที

เหตุการณ์คล้ายๆ กับตอนกดดันกลุ่ม 4 กุมาร

พรรคพลังประชารัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในหรือไม่ต้องติดตามวันที่ 18 มิถุนายน

ติดตามผลการประชุมใหญ่ของพรรค

ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงโดยผลการลงมติของที่ประชุมคือการเปลี่ยนแปลงเลขาธิการพรรค

เปลี่ยนจากนายอนุชาไปเป็น ร.อ.ธรรมนัสตามกระแสข่าว

แสดงว่า พล.อ.ประวิตรมีเจตนาจะให้คนในสายจัดการบริหารพรรคก่อนเลือกตั้ง

หากมีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารก็อาจจะเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรี

หากการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปเช่นนี้ เท่ากับว่าพรรคพลังประชารัฐเริ่มจัดทัพ

ตระเตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง

ยิ่งเมื่อสดับฟังสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกให้รัฐมนตรีเร่งผลงานออกมาในเวลาที่เหลือ

ยิ่งพรรคพลังประชารัฐผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนกฎกติกาการเลือกตั้ง

ยิ่งเกิดกระแสปรับเปลี่ยนทีมบริหารของพรรคพลังประชารัฐในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายนนี้

ยิ่งตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร กำลังตระเตรียมอีกครั้ง

ตระเตรียมการนับถอยหลังรัฐบาลชุดปัจจุบัน และตระเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งภายหลังการอยู่ครบวาระ 4 ปี ตามที่ พล.อ.ประวิตรลั่นวาจาเอาไว้

หรือการเลือกตั้งภายหลังการยุบสภา ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง

ทุกอย่างต้องพร้อม

การสืบทอดอำนาจยังต้องดำเนินต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image