ปชป.ย้ำชง 6 ร่างแก้ รธน. สู่เส้นทาง ปชต. ยืนยันต้องรื้อทิ้งอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ

‘ปชป.’ เสนอ 6 ร่างแก้ รธน.เป็น ปชต.มากขึ้น กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไม่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เน้นนายกฯจากบัญชีรายชื่อที่พรรคเสนอหรือเป็น ส.ส.เท่านั้น รอหารือร่างที่ 7 ภท.-ชทพ. 16 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีทั้งหมด 6 ร่าง ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะไม่มุ่งเน้นเพียงแค่การแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองเท่านั้น แต่จะแก้ไขในส่วนของสิทธิความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก โดยร่างแรก เป็นเรื่องสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภคเรื่องที่ดินทำกิน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม

นายราเมศกล่าวต่อว่า ร่างที่ 2 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มี ส.ส.จากเขตเลือกตั้ง 400 คน และอีก 100 คนมาจากบัญชีรายชื่อ และกระบวนการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนการคำนวณสัดส่วนคะแนนจะกำหนดไว้ในกฎหมายลูก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างที่ 3 เกี่ยวข้องกับอำนาจสมาชิกวุฒิสภาเชื่อมโยงกับการเลือกนายกรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์เตรียมร่างไว้เพื่อเสนอ ว่าบุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่ถือว่าผ่านการตรวจสอบและเลือกมาแล้วส่วนหนึ่งจากประชาชนและพรรค หรือนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากนอกเหนือจากนี้ไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีในมาตรา 272

นายราเมศกล่าวด้วยว่า ร่างที่ 4 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โครงสร้างเดิมตัดอำนาจของ ส.ว.ออกไปในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ออกไป โดยใช้จำนวนสมาชิก 3 ใน 5 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับร่างที่ 5 จะเป็นเรื่องการตรวจสอบทุจริตให้เกิดความเข้มข้นเรื่องการดำเนินคดีกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แก้ไขกระบวนการตรวจสอบ ไม่ควรให้ ส.ส.ยื่นเรื่องให้แค่ประธานรัฐสภาเพื่อให้ดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช.ชั้นเดียวเนื่องจากประธานรัฐสภามาจากพรรคการเมืองซึ่งอาจมีการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมืองกับประธานรัฐสภาเพื่อไม่ให้ยื่นเรื่องตรวจสอบไปยังศาลฎีกาได้ จึงต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระขึ้นมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากหลายฝ่าย ก่อนจะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา

“และร่างที่ 6 ของประชาธิปัตย์ ต้องการแก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้งองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและต้องมีรัฐธรรมนูญเลือกอำนวยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริงด้วย” นายราเมศกล่าว

Advertisement

นายราเมศกล่าวอีกว่า มีแนวโน้มจะมีร่างที่ 7 ที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยร่วมกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่งทางพรรคได้มอบหมายให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรคไปหารือพบว่า มีความเห็นพ้องต้องกันหลายส่วน ซึ่งต้องฟังจากทั้ง 3 พรรคให้เกิดข้อสรุปโดยจะหารือกันในวันที่ 16 มิถุนายนนี้อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image