‘ชัชชาติ’ เสนอนโยบายป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชี้ต้องขันนอตดูแลระบบใหม่ ไม่ใช่สร้างอุโมงค์ยักษ์ราคาหมื่นล้าน

‘ชัชชาติ’ เสนอนโยบายป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชี้ต้องขันนอตดูแลระบบใหม่ ไม่ใช่สร้างอุโมงค์ยักษ์ราคาหมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “บ่ายวันอาทิตย์ ฟ้าครึ้มฝน ผมเลยชวนพี่อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบายน้ำของกลุ่มเพื่อนชัชชาติ ลงพื้นที่ไปดูโรงสูบน้ำคลองบางอ้อ บางนา

การระบายน้ำของ กทม. โดยหลักยังใช้ระบบคลองโดยใช้คลองเป็นช่องทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำที่ปลายทาง เพื่อใช้สูบน้ำเร่งระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนระบบอุโมงค์ยักษ์เป็นระบบที่ช่วยเสริมระบบคลองให้สามารถเร่งน้ำระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง
สถานีสูบน้ำประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญสามส่วน
1. ประตูน้ำที่ใช้ควบคุมเวลาระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาแตกต่างจากระดับน้ำในคลอง
2. เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ (Auto Screen) ที่ช่วยเก็บขยะอัตโนมัติเพื่อไม่ให้ขยะขวางทางน้ำ
3. เครื่องสูบน้ำ (Pump) ที่ใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมันในการดูดน้ำจากคลองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
สถานีสูบน้ำบางอ้อมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการระบายน้ำในเขตพื้นที่บางนา สุขุมวิท 62 ปุณวิถี และอ่อนนุช จากการสังเกตุและสอบถามคนแถวนั้นพบว่า
– เครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งที่สถานีสูบน้ำจำนวน 6 เครื่องทำงานได้เพียง 3 เครื่อง อีก 3 เครื่องเสีย ยังไม่ได้ซ่อม
– เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติที่มี 8 ช่อง ทำงานได้เพียง 1 ช่อง เวลามีขยะมาติด ต้องใช้พนักงานลงไปตักขยะในน้ำ หน้าเครื่องสูบ
การที่อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลงกว่าขีดความสามารถที่มีไปมาก คงต้องขอให้ผู้รับผิดชอบช่วยตรวจสอบ และถ้าจริงต้องเร่งดำเนินแก้ไขโดยด่วน
กทม.มีสถานีสูบน้ำแบบนี้จำนวน 191 สถานี มีขีดความสามารถในการระบายน้ำรวม 1,079.80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ในขณะที่อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ 4 แห่ง ที่สร้างเสร็จแล้ว มีขีดความสามารถในการระบายน้ำรวมเพียง 195 ลบ.ม./วินาที) แต่ในสถานีสูบน้ำหลายๆ จุด มีปัญหาเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์ ทำให้ความสามารถจริงต่ำที่ควรจะเป็นมาก การดูแลให้สถานีสูบต่างๆมีความพร้อมและเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำขึ้นเพียง 10% ก็ทำให้สามารถเพิ่มการระบายน้ำทางฝั่งพระนครได้ถึง 74.5 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเมื่อเทียบกับโครงการอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ที่กำลังจะก่อสร้าง เช่น อุโมงค์หนองบอน ประสิทธิภาพ 60 ลบ.ม./วินาที งบประมาณ 4,926 ล้านบาทแล้ว การปรับปรุงระบบที่มีอยู่แล้ว น่าจะเป็นทางเลือกที่รวดเร็วกว่าและใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก
ดังนั้น นโยบายสำคัญเร่งด่วนที่สุดในการป้องกันน้ำท่วมใน กทม. ไม่ใช่การเร่งสร้างอุโมงค์ยักษ์ใหม่ราคาหมื่นล้าน แต่เป็น
1. ขันน็อตและดูแลให้ระบบคลอง สถานีสูบน้ำ ประตูน้ำที่มีอยู่แล้ว สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2. มีการขุดลอกคลองสม่ำเสมอ เครื่องเก็บขยะ เครื่องสูบน้ำ มีความพร้อม ทำงานได้ 100%
3. มีการเชื่อมโยงข้อมูล สามารถสั่งการและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ได้จากระยะไกล ลดความผิดพลาดจากคน
“ปัญหาอยู่ที่เส้นเลือดฝอย และการดูแลเอาใจใส่ครับ”
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image