‘วิโรจน์’ อัด ‘ประยุทธ์’ อย่าตีเนียน ลอยตัวเหนือปัญหา ปล่อย ‘สธ.-กทม.’ ซัดกันนัว

‘วิโรจน์’ อัด ‘ประยุทธ์’ อย่าตีเนียน ลอยตัวเหนือปัญหา ปล่อย ‘สธ.-กทม.’ ซัดกันนัว ถามยอดส่งแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส กลายเป็นแค่ตัวเลขศักยภาพในการฉีดได้หรือไม่ ชี้ ปชช.มีความชอบธรรมรู้แผนผลิตสยามไบโอไซเอนซ์

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า สถานการณ์ ‘เลื่อนฉีดวัคซีน’ ในเวลานี้ สภาพที่เกิดขึ้นผลที่ตามมาคือหน่วยงานต่างๆ ต่างโบ้ยกันไปมา แต่กลายเป็นว่าประชาชนเคว้งคว้างถูกลอยแพ ต่อมาสถานการณ์ได้ลุกลามบานปลาย สถานการณ์แย่ลงไปอีก เมื่อ กทม.ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ลงทะเบียนในโครงการ ‘ไทยร่วมใจ’ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนเป็นต้นไป จึงยิ่งสร้างความโกลาหล และสับสนให้กับประชาชนชาว กทม.เป็นอย่างมาก

“เบื้องต้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีนให้กับ กทม.ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วไป 5 แสนโดส จากโควต้าทั้งหมดที่จะจัดสรรให้ 1 ล้านโดส โดยให้ความเห็นว่า ปัญหาการเลื่อนฉีดนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม.

“กระทรวงสาธารณสุขจัดการทุกอย่างที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบไปให้ กทม.หมดแล้ว ต่อมา กทม.ได้ออกมาชี้แจงตอบโต้กระทรวงสาธารณสุขว่า กทม.ได้รับแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2.5 ล้านโดส และ กทม.เองได้ทำแผนการฉีดวัคซีนให้สอดคล้องกับจำนวน 2.5 ล้านโดส ซึ่งเป็นยอดที่ขัดกับที่นายอนุทินให้ข้อมูล จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตกลงแล้วโควต้าวัคซีนที่ กทม.ในเดือนมิถุนายนนั้นเป็น 1 ล้านโดส หรือ 2.5 ล้านโดสกันแน่” นายวิโรจน์กล่าว

Advertisement

นายวิโรจน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ลงทะเบียนในระบบหมอพร้อม กทม.ได้กันไว้ให้ 181,400 โดส ที่น่าตกใจคือในเดือนมิถุนายน มีผู้ที่จองคิวฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อมในพื้นที่ กทม.ถึง 450,000 คน ถ้าเฉพาะครึ่งเดือนก็ต้องมาประมาณ 225,000 โดส ดังนั้น การกันวัคซีนเอาไว้สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมเพียง 181,400 โดส ย่อมไม่เพียงพอแน่ และอีกข้อสงสัยคือการลงทะเบียนจองวัคซีนในโครงการ ‘ไทยร่วมใจ’ เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับระบบหมอพร้อม และ MOPH IC หรือไม่ และการจัดสรรวัคซีนให้กับ กทม. ทางกระทรวงสาธารณสุขได้นำเอายอดการลงทะเบียนผ่านโครงการ ‘ไทยร่วมใจ’ ในส่วนที่ไม่ทับซ้อนกับระบบหมอพร้อมมาจัดสรรสต๊อกเพิ่มเติมให้กับ กทม.หรือไม่ ถ้าฐานข้อมูลของไทยร่วมใจไม่เชื่อมโยงกับระบบหมอพร้อม และไม่ได้มีการกันสต๊อกวัคซีนเอาไว้ให้กับโครงการไทยร่วมใจ ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้น

“ไม่ว่าปัญหานี้จะเกิดจาก กทม.หรือกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องรู้ และไม่ว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นจากหน่วยงานไหน ก็ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลทั้งสิ้น การโบ้ยความผิดกันไปมาระหว่าง กทม.และกระทรวงสาธารณสุข ท่ามกลางความเดือดร้อน ความผิดหวัง และความสับสนของประชาชน สะท้อนถึงการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่คุยกันของรัฐบาล ซึ่งสุดท้ายแล้วมีแต่ประชาชนที่ต้องรับเคราะห์กรรม ผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเงียบเนียน ปล่อยให้ กทม.และกระทรวงสาธารณสุขตีกันไปมา แล้วลอยแพประชาชนไม่ได้

“พล.อ.ประยุทธ์จำไม่ได้หรือว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.64 ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) โดยมีตนเองเป็นประธาน จำไม่ได้หรือว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 ครม.มีมติเห็นชอบโอนอำนาจตาม พ.ร.บ.จำนวน 31 ฉบับ ให้กับตนเอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จำไม่ได้หรือว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.64 ศบค.ได้มีมติให้จัดตั้ง ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล’ โดยมีตนเองเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่หน้าที่ และความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรงทั้งสิ้น” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวว่า ตนเสนอแนะให้ต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลของระบบการจองคิวฉีดวัคซีนทุกระบบให้เข้ากับระบบหมอพร้อมอย่างเร็วที่สุด มีการอัพเดตวันนัดหมายการฉีดวัคซีนหมอพร้อมให้มีความน่าเชื่อถือ เมื่อไปตามวันนัดหมายจะต้องได้ฉีดวัคซีน ต้องเร่งจัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ให้ครบถ้วนโดยเร็ว เพราะประชาชนกลุ่มดังกล่าวหากติดเชื้อโควิด-19 ก็มีโอกาสที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ หลังจากนั้นให้จัดสรรวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างมียุทธศาสตร์ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดของจังหวัดต่างๆ เพื่อจัดสรรวัคซีนให้อย่างเหมาะสม แล้วจึงเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ซึ่งประชาชนที่อยู่ในจุดที่มีการระบาดหนักจะมีแนวโน้มจะได้ฉีดวัคซีนก่อนพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด หรือมีการระบาดเบาบาง หากอธิบายให้ประชาชนอย่างชัดเจน ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ และการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศก็จะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น

นายวิโรจน์กล่าวว่า แผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดส ที่มีกำหนดการส่งมอบในเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เดือนละ 10 ล้านโดส และธันวาคม 5 ล้านโดส ที่ถูกโพสต์ไว้ที่สำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เหตุใดอยู่ดีๆ อธิบดีกรมควบคุมโรคจึงได้ให้สัมภาษณ์ว่า “จำนวนนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่บริษัท AstraZeneca Thailand จะส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาล” ซึ่งเรื่องนี้สร้างความหวั่นวิตกแก่ประชาชน และทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางออกต่อปัญหานี้ก็คือ รัฐบาลควรเร่งเปิดเผยสัญญาที่ได้ทำไว้กับ AstraZeneca Thailand และแผนการส่งมอบวัคซีน ตลอดจนเงื่อนไขบังคับต่างๆ ในกรณีที่เกิดการส่งมอบวัคซีนล่าช้าให้ประชาชนได้รับทราบอย่างโปร่งใสโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบเงื่อนไขในสัญญาได้ และรัฐบาลควรเปิดเผยกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ารัฐบาลจะมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเพื่อฉีดให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ ด้วยเหตุที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นมูลค่าสูงถึง 600 ล้านบาท ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตวัคซีน ประชาชนซึ่งเป็นผู้จ่ายภาษีและเป็นเจ้าของเงินแผ่นดินจึงมีความชอบธรรมที่จะรับทราบข้อมูลกำลังการผลิตดังกล่าว

“นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ควรต้องออกมายืนยันให้กับประชาชนมั่นใจว่า จำนวนวัคซีน 61 ล้านโดส คือยอดวัคซีนที่รัฐบาลต้องได้รับมอบจาก AstraZeneca Thailand เพราะหากตัวเลข 61 ล้านโดสนี้ไม่ใช่จำนวนวัคซีนที่ AstraZeneca Thailand ต้องส่งมอบให้กับรัฐบาลแล้ว ก็เท่ากับว่าแผนการส่งมอบวัคซีนที่แท้จริง ถูกปิดบังอำพรางมาโดยตลอด ซึ่งทั้งประเด็นการเลื่อนฉีดวัคซีนและการจัดหาวัคซีนนี้ ยืนยันว่าเป็นความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น” นายวิโรจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image