‘อาคม’ แจงที่ประชุมวุฒิสภา กู้เงิน 1 ล้านล้านไม่พอ จำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้าน

ส.ว.ถก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน รมว.คลัง แจงวงเงิน 1 ล้านล้านใช้เหลือ 1.7 พันล้าน ไม่พอเลยต้องกู้เพิ่ม

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 14 มิถุนายน ในการประชุมวุฒิวุฒิสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ชี้แจงว่า จากการกู้เงินตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท พบการใช้จ่ายไปแล้ว 9.8 แสนล้านบาท โดยใช้เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อจัดหาวัคซีน, ค่าตอบแทน อสม., ค่าบริการสาธารณสุข ใช้เงินไป 4.4 หมื่นล้านบาท, ช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยประชาชนใช้เงินไปทั้งสิ้น 6.9 แสนล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ใช้เงินรวม 2.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เหลือกรอบวงเงิน 19,172 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ วงเงิน 17,408 ล้านบาท และจะนำเสนอ ครม.​อนุมัติต่อไป ดังนั้น จึงมีวงเงินเหลือเพียง 1,764 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดในระยะต่อไป หากมีความจำเป็น ครม.สามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินตามแผนการใช้เงินแนบท้ายบัญชีได้ เพื่อให้การใช้เงินสอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้ การช่วยเหลือประชาชนในระยะต่อไป จะเน้นการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อรักษาธุรกิจและรักษาการจ้างงาน

ด้าน นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา อภิปรายว่า การกู้ยืมเงินของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.กู้เงิน รอบแรก วงเงิน 1 ล้านล้านบาท พบการอนุมัติโครงการของ ครม.ทำได้ 93% แต่การเบิกจ่ายไปเพียง 29% ดังนั้น เชื่อว่ามีข้อจำกัด และการติดขัดสำคัญ โดยเฉพาะรายละเอียดที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก. ดังนั้น ควรทบทวนและปรับปรุง นอกจากนั้นต้องพิจารณาการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้งบประมาณรั่วไหล ทั้งนี้ ตนสนับสนุนการปรับเพดานหนี้สาธารณะ แต่รัฐบาลเตรียมการรองรับอย่างไร หากต้องกู้เงินมากกว่ากรอบ 5 แสนล้านบาท หากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ยังยืดเยื้อ แม้การใช้กรอบวงเงินแต่ละด้านจะเกลี่ยแต่ละด้านเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ ได้ แต่การบริหารจัดการใช้วงเงินรัฐบาลควรมีแผนและรายละเอียด

ขณะที่ พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ อภิปรายว่า จากการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่าใช้งบประมาณเพื่อเยียวยา ระลอกละ 3 แสนล้านบาท ทำให้การระบาดระลอก 3 ไม่สามารถใช้กรอบเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ ดังนั้น หากปัญหาไม่คลี่คลาย เงินจะไม่เพียงพอ ขอให้หน่วยงานเร่งติดตาม ประเมินผล และกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทุกโครงการ ตนเชื่อว่ามีหลายโครงการที่ทำไม่เสร็จ ภายในเดือน ก.ย.2564 และต้องดำเนินการต่อในปีหน้า ดังนั้น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องเตรียมดำเนินการ แต่ก็กังวลเกี่ยวกับสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ที่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลือของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รวมถึงกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปลายปี 2564 เพราะที่ผ่านมารัฐบาลกู้เงินแล้ว 2.3 แสนล้านบาท อาจจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะขึ้นสูง ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับการปรับปรุงเพดานหนี้สาธารณะ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ จากนั้นสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่สนับสนุนการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image