ป.ป.ช.ตรัง ลงพื้นที่ตรวจสอบ เสาไฟหงส์ทอง ต้นละแสน หายไปไหน ผงะซุกใกล้บ่อขยะ

ป.ป.ช.ตรังลงพื้นที่ตรวจสอบเสาไฟหงส์ทอง ต้นละแสน หายไปไหน ผงะซุกใกล้บ่อขยะ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 14 มิถุนายน ที่บริเวณสนามกีฬาทุ่งแจ้ง เทศบาลนครตรัง ถ.ตรัง-สิเกา ต.บางรัก อ.เมืองตรัง นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช.ตรัง พร้อมด้วยกรรมการชมรมตรังต้านโกง ได้เข้าตรวจสอบเสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ทองคำ เทศบาลนครตรัง ซึ่งได้มีการก่อสร้างเมื่อปี 2546 บนเกาะกลางถนนคู่ขนานยาวประมาณ 600 เมตร โดยงบประมาณทั้งสิ้น 15.5 ล้านบาท โดยแยกไปก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม มีรูปหงส์ทองคำ ที่ยอดเสา ราคาต้นละ 100,000 บาท จำนวน 30 ต้น รวม 3 ล้านบาท ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยอดีตนายชาลี กางอิ่ม เป็นนายกเทศมนตรีสมัยนั้น

ท่ามกลางการคัดค้านของชาวบ้าน เนื่องจากเห็นว่ามีราคาสูงเกินไป และในช่วงนั้นถนนที่สร้างประติมากรรมหงส์ทองคำ เทศบาลนครตรัง เป็นเพียงถนนเพื่อเข้าสู่บ่อทิ้งขยะของเทศบาลเท่านั้น ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆสมัยนั้น สองข้างถนนเป็นกองขยะตลอดสาย

ทั้งนี้ตามที่มีชาวบ้านร้องเรียนทางเฟซบุ๊ก ได้เปิดเผยว่า เสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ทองคำ ได้ถูกนำออกไปเมื่อช่วงมีงานจำหน่ายสินค้าประกวดเรือพระ ปี 2563 และเมื่อเสร็จสิ้นงานจำหน่ายสินค้าประกวดเรือพระ ก็ไม่มีการนำมาติดตั้งให้เหมือนเดิม เพื่อสร้างความสวยงาม และคุ้มค่ากับราคาที่สูงถึงต้นละ 100,000 บาท จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนำเสาประติมากรรมหงส์ทองคำออกไปจากถนนสายดังกล่าว

ต่อมาทางเทศบาลนครตรังได้ลงพื้นที่ร่วมกับ ป.ป.ช.ตรัง นำโดยนายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง เพื่อชี้แจงถึงการร้องเรียนเสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ทองคำหายไฟไหน และการที่ ป.ป.ช.ตรัง ชมรมตรังต้านโกง ลงพื้นที่ตรวจสอบ ถึงเหตุผลที่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ทองคำ ว่าได้ใช้งานคุ้มค่า ประเมินราคาการก่อสร้าง รวมทั้งมีความจำเป็นในการใช้งบประมาณหรือไม่ ที่สำคัญ คือ ราคาการก่อสร้างแพงเกินความเป็นจริงหรือไม่

Advertisement

ต่อมาปลัดเทศบาลนครตรัง ได้นำ ป.ป.ช.ตรัง และกรรมการตรังต้านโกง ดูสภาพของฐานติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ทองคำ เป็นถนนมีเกาะติดกลาง ติดกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดตรัง (สตง) แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบด้วยในครั้งนี้ ซึ่งมีเพียงฐานเสาไฟฟ้ายังเหลือให้เห็น ส่วนเสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ทองคำได้ถูกไปไปเก็บไว้พื้นที่กองช่างเทศบาลนครตรัง ใกล้บ่อขยะเทศบาลนครตรัง มีสภาพชำรุดแตกหัก มีการชี้แจงว่า รอจำหน่ายเป็นเศษเหล็กต่อไป

นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ในการถอดถอนเสาในปี 62 นั้น ที่ได้ถอดถอนเพราะชำรุดกลัวจะเป็นอันตรายต่อบุคคลทั่วไป หลังจากนี้ก็ต้องจำหน่ายตามระเบียบพัสดุ ซึ่งต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตั้งราคากลางจำหน่ายต้นเท่าไหร่ อย่างไร ตามระเบียบพัสดุ ในส่วนที่มีประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าการถอดถอนเสาเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับงานมหกรรมสินค้านั้น ในช่วงปี 62 ตอนมีตลาดสินค้ายังมีเสาอยู่ แต่หลังจากมีโควิดก็ไม่มีตลาดสินค้าแล้ว

Advertisement

คงไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาจัดงาน ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างเป็นงบประมาณเหมารวมกับถนน งบ 15.5 ล้านบาท เมื่อปี 2546 ซึ่งราคาต้นละ 1 แสนบาท ซึ่งจะมีการติดตั้งใหม่หรือไม่ต้องอยู่ที่นโยบายของผู้บริหารชุดใหม่ หากผู้บริหารชุดใหม่มองเห็นว่าถนนสายนี้มีความสวยงาม มีส่วนราชการเข้ามาก่อสร้างสำนักงาน ผู้บริหารก็คงพิจารณาจัดสร้างหรือไม่ในเรื่องของประติมากรรมไฟฟ้า ถ้าถามว่าได้ผลประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่นั้น ก็ถือว่าเป็นความสวยงามส่วนหนึ่งของจังหวัดตรัง เทศบาลนครตรังมีความสวยงาม เพราะการติดตั้งเสาไฟเป็นความสวยงามและเป็นประติมากรรมอย่างหนึ่ง เป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นทางสิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image