รายงานหน้า 2 : ศบค.-สธ.-กทม. ตั้งโต๊ะแถลง เคลียร์ปมร้อนกระจาย‘วัคซีน’

รายงานหน้า 2 : ศบค.-สธ.-กทม. ตั้งโต๊ะแถลง เคลียร์ปมร้อนกระจาย‘วัคซีน’

รายงานหน้า 2 : ศบค.-สธ.-กทม. ตั้งโต๊ะแถลง เคลียร์ปมร้อนกระจาย‘วัคซีน’

หมายเหตุ – พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแถลงชี้แจงหลังเกิดปัญหาความขัดแย้งการกระจายวัคซีนโควิด-19 ระหว่าง กทม. และกระทรวงสาธารณสุข

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

รายงานหน้า 2 : ศบค.-สธ.-กทม. ตั้งโต๊ะแถลง เคลียร์ปมร้อนกระจาย‘วัคซีน’

Advertisement

ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.)ขอยืนยันว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ศบค.บูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีนทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ทุกส่วนราชการตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ ประชากรไทยมีทั้งหมด 67 ล้านคน นโยบายของนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. ต้องการให้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 2.6 ล้านคน โดย สธ.มีหลักการว่าการฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะต้องฉีดร้อยละ 70 ซึ่งจะต้องฉีดให้กับประชากรจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านคน เมื่อมีเป้าหมายเช่นนี้ เราจึงจำเป็นต้องเตรียมวัคซีนสำหรับประชากร 50 ล้านคน คือ 100 ล้านโดส ซึ่ง สธ.ได้เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้วจำนวน 100 ล้านโดส ในปี 2564 โดยแบ่งเป็นซิโนแวคประมาณ 8 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 94 ล้านโดส ในส่วนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส จะมีค่าของวัคซีนมากกว่าชนิดอื่น 2 เท่า จึงทำให้ถ้าเรารวมวัคซีนทั้งหมดเรามีวัคซีนประมาณ 99 ล้านโดส นอกจากนั้นในปัจจุบัน สธ.ได้เตรียมจัดการหาซื้อเพิ่มเติม จึงยืนยันได้เลยว่าวัคซีนของประเทศไทยมีเพียงพอสำหรับที่จะฉีดให้กับประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ภายในปี 2564 อย่างแน่นอน

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนที่ ศบค.หารือกับ สธ. ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา ถือเป็นวาระแห่งชาติในการฉีดวัคซีน โดยในเดือนมิถุนายนจะฉีดวัคซีนประมาณ 6 ล้านโดส เดือนถัดๆ ไป จะฉีดประมาณเดือนละ 10 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย ทำให้เราสามารถฉีดวัคซีนครบเข็มแรกจากจำนวนประชากร 50 ล้านคน ภายในประมาณเดือนกันยายน หรืออย่างช้าเดือนตุลาคม

การวางแผนที่ดีที่สุดและไม่เกิดปัญหาเลยคือ เมื่อได้วัคซีนมาแล้วค่อยมาวางแผนฉีด แต่จะทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ เพราะฉะนั้น ศบค.จึงร่วมกับ สธ. วางแผนล่วงหน้า หรือประมาณการว่าวัคซีนนั้นจะเข้ามาอย่างไร ดังนั้น เมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนกรณีที่วัคซีนไม่เข้ามาตามแผนก็ต้องมีการปรับแผน ดังนั้น การเตรียมการล่วงหน้า การจองเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงทำให้ต้องมีการเลื่อนกันบ้าง ซึ่งต้องกราบขออภัยประชาชน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมผมยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามกำหนดการ และเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนการฉีดบ้าง แต่ก็มีการเตรียมการแก้ปัญหาเมื่อวัคซีนเข้ามา คนที่ถูกเลื่อนออกไปจะได้รับการฉีดในอันดับแรกๆ และยืนยันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ศบค.ร่วมหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกหน่วยงาน และทุกส่วนราชการทั้งสาธารณสุข มหาดไทย ต่างประเทศ หรือกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าบูรณาการงานกันอย่างสอดคล้อง การทำงานเป็นไปด้วยดี

Advertisement

ผมยืนยันว่าไม่มีวัคซีนทางการเมืองอย่างแน่นอน ทุกคนทำงานตามกรอบและนโยบาย ศบค. ยืนยันว่าไม่มีประเด็นดังกล่าวแน่นอน ขอยืนยันอีกครั้งว่าตั้งแต่เข้ามาบริหารสถานการณ์โควิดมาเป็นเวลากว่า 14 เดือน เราได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าคนไทยให้ความร่วมมือกับมาตรการของ ศบค.เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความตั้งใจที่จะทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่อาจจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบไปบ้างก็ต้องกราบขออภัยมา ณ โอกาสนี้ ส่วนปัญหาในเรื่องกระจายวัคซีนเป็นไปได้หรือไม่ที่นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค.จะออกมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ เป็นเรื่องของนายกฯ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
อธิบดีกรมควบคุมโรค

รายงานหน้า 2 : ศบค.-สธ.-กทม. ตั้งโต๊ะแถลง เคลียร์ปมร้อนกระจาย‘วัคซีน’

สธ.ดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชาชนที่อยู่ในแผ่นดินไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2564 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้นำเข้าวัคซีนจำนวน 8.1 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า 2.1 ล้านโดส และบริษัทซิโนแวค 6 ล้านโดส ปัจจุบันได้ฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 6,188,124 โดส นับถึงวันที่ 13 มิถุนายน โดยจำนวนฉีดสูงสุดอยู่ที่ กทม. 1,716,394 โดส คิดเป็น 27.7% ของวัคซีนทั้งหมดที่มีอยู่ แบ่งเป็นเข็มที่หนึ่ง 1,346,993 โดส และเข็มที่สอง 369,401 โดส ทำให้ประชากรในกรุงเทพมหานคร ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 17.5% อย่างที่เราทราบโดยธรรมชาติของการผลิตวัคซีนที่เป็นชีววัตถุ จะมีความไม่แน่นอนในการผลิตค่อนข้างสูง ไม่เหมือนกับยาที่ใช้สารเคมีตั้งต้น พวกนั้นจะสามารถควบคุมได้ดีกว่า ฉะนั้น การผลิต การตรวจสอบคุณภาพของวัคซีน จะมีมาตรฐานสากลที่เราต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ควบคุมคุณภาพ ที่เรียกว่า Quality Assurance ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การจัดสรรวัคซีน เราจะพิจารณาถึงข้อมูลวิชาการ พื้นที่ จำนวนประชากร สถานการณ์การระบาด และแบ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด รวมถึงการคำนึงถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมากำหนด การจัดการลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย เราจะเน้นที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องดำเนินการในการสอบสวนควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบ 100% แล้ว นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มตำรวจ ทหาร อสม. ที่ต้องลงไปในพื้นที่กักกันโรค ก็จะได้รับการฉีดและจัดสรรต่อไป

ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มีการเน้นให้ฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อน สอดคล้องกับหลักการทางวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดย สธ.ได้เปิดการจองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อมมาล่วงหน้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่เรายังใช้ในภาวะฉุกเฉินอยู่ ไม่ได้เป็นวัคซีนที่มีอยู่ในท้องตลาด แล้วเราไปสั่งซื้อ ฉะนั้น การสั่งซื้อและการจอง จะต้องมีการผลิตและสั่งจองทันที เพื่อให้วัคซีนถึงพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด ฉะนั้น บริษัทวัคซีนที่เรามีการกำหนดทำสัญญากัน ก็จะทยอยส่งเป็นงวดๆ เป็นไปตามสัญญาที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา ยังมีการฉีดให้กลุ่มอื่นๆ ด้วย ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น กลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมการเปิดเทอมสำหรับเด็กนักเรียน กลุ่มคนทำงานขนส่งสาธารณะ เป็นกลุ่มสำคัญที่จะทำให้ระบบการดำรงชีวิตของประชาชนขับเคลื่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรถเมล์ รถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังมีการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายอื่น เช่น กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่เราต้องฉีดวัคซีน เพื่อให้ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไปได้

โดยเดือนมิถุนายน จะมีการกระจายวัคซีน ซึ่งเราวางแผนไว้อย่างน้อยจะต้องเป็น 2 งวด ครอบคลุมการฉีดระยะ 2 สัปดาห์ โดยงวดแรกที่เรามีการฉีดตั้งแต่วันที่ 7-20 มิถุนายนที่จะถึง จะมีการส่งวัคซีนไปประมาณ 3 ล้านโดส ประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส ได้จัดส่งไปยัง กทม.แล้ว 5 แสนโดส ประกอบด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส นอกจากนี้ ยังได้ส่งไปให้สำนักงานประกันสังคมอีก 3 แสนโดส ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะฉีดใน กทม.เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อีก 1.5 แสนโดส ซึ่งจะฉีดใน กทม.เป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมใน 76 จังหวัด จะมีการส่งวัคซีนไป 1.1 ล้านโดส จุดฉีดต่างๆ สำหรับองค์กรภาครัฐ เช่น กลุ่มขนส่งสาธารณะ กลุ่มทหาร ตำรวจ ที่ต้องดำเนินการในการกักกันผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ และครูอีก 1 แสนโดส นอกจากนี้ ยังเตรียมวัคซีนไว้สำหรับรองรับสถานการณ์การระบาด ซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบุรี เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้กระจายไปในงวดแรก ส่วนงวดที่สอง ซึ่งตามกำหนดจะต้องกระจายไปอย่างช้าที่สุดวันที่ 21 มิถุนายน-2 กรกฎาคม อีก 3.5 ล้านโดส ก็จะเป็นวัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้าอีก 1.5 ล้านโดส ซึ่งทั้งหมดที่เราจะกระจายเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน จะต้องรวมได้ประมาณ คือ 6 ล้านโดส

ภาพรวมปัจจุบันวัคซีนได้กระจายไปตามจุดต่างๆ และจังหวัดต่างๆ ประมาณ 7 ล้านโดส เกือบ 8 ล้านโดส ซึ่งฉีดไปแล้ว 6 ล้านกว่าโดส และภายในสัปดาห์นี้ก็จะทยอยฉีดตามเป้าหมายและวัคซีนที่เรามี ก็คาดว่าเดือนมิถุนายนนี้เป้าหมายเราน่าจะฉีดได้ประมาณ 10 ล้านโดส ในภาพรวมของประเทศไทย และขอย้ำว่า วัคซีนนี้ถือเป็นชีววัตถุ ไม่ใช่ว่ามีของแล้วเดินไปซื้อได้เลย พอผลิตปุ๊บต้องส่งทันที และฉีดทันที เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด ยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามเป้าหมายว่าเดือนนี้จะต้องมีวัคซีนเข้ามาทั้งหมด 6 ล้านโดส โดยสัปดาห์แรกเรากระจายไปแล้ว 3 ล้านโดส อีกครึ่งเดือนที่เหลือของเดือนนี้เราก็จะกระจายไปอีกอย่างน้อยอีก 3 ล้านโดส

เมื่อผลิตวัคซีน และตรวจสอบแล้ว เราก็จะรีบจัดส่งไปทันที ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนหลายบริษัท หลายล้านโดส กำลังรอตรวจสอบคุณภาพ เชื่อว่าอีกไม่นาน แต่ขอไม่ระบุวัน ที่จะเข้ามาในประเทศ เพราะการตรวจสอบคุณภาพเป็นสิ่งที่เราผ่อนปรนไม่ได้ เราจะไม่ยอมให้วัคซีนที่ไม่มีคุณภาพนำมาฉีดให้พี่น้องประชาชนคนไทย แต่ถ้าการตรวจสอบคุณภาพไม่เสร็จ ก็อาจจะไม่ได้อย่างนั้น แต่ตามเป้าหมาย 6 ล้านโดส ก็ยังเป็นไปตามเป้าหมายเหมือนเดิม

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

รายงานหน้า 2 : ศบค.-สธ.-กทม. ตั้งโต๊ะแถลง เคลียร์ปมร้อนกระจาย‘วัคซีน’

ตั้งแต่วันที่ 7-14 มิถุนายน งวดแรกของวัคซีนที่เข้ามา ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบวัคซีนให้ กทม. 500,000 โดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 350,000 โดส และซิโนแวค 150,000 โดส โดยซิโนแวคเอามาใช้สำหรับเข็มที่สองที่เราฉีดไปแล้ว 126,000 โดส อีก 240,000 โดส เอาไว้ควบคุมโรคหรือแก้สถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนแอสตร้าฯที่เราได้รับมา 350,000 โดส กทม.จะแบ่งให้แจกจ่ายไป โดยผู้ลงทะเบียนแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมที่ลงทะเบียน วันที่ 7-14 มิถุนายน ลงทะเบียนไปแล้ว 182,000 โดส เข็มที่สองที่ฉีดไว้ก่อน 52,000 โดส ผู้ป่วยติดเตียง คนชราอีก 8,000 โดส และเหลือวัคซีนสำรองไว้นิดหน่อย และให้ไทยร่วมใจ 100,000 โดส ซึ่งทีแรก กทม.คาดหวังว่าวัคซีนจะได้มาก่อนวันที่ 14 มิถุนายน แต่อธิบดีกรมควบคุมโรคบอกว่าขัดข้องทางเทคนิคจึงไม่สามารถจัดส่งได้ และ สธ.ยังไม่ได้รับวัคซีน

กทม.แก้ปัญหาโดยแจ้งไปที่ผู้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เลื่อนไปก่อนว่าจะหยุดฉีด แต่จะฉีดให้เร็วที่สุดหลังได้รับวัคซีน เช่น รับวันไหน วันรุ่งขึ้นก็ฉีดให้เลย และผู้ที่เสียสิทธิไม่ได้ฉีดวันที่ 15-20 มิถุนายน สมมุติ กทม.ได้รับวัคซีน 20 มิถุนายน และวันที่ 21 มิถุนายน เรานัดฉีดได้เลย พวกนี้จะเป็นกลุ่มแรกกลุ่มต้นๆ ไม่ต้องกังวลว่าไปต่อท้าย ท่านจะได้รับการฉีดก่อนคนอื่นๆ

กทม.ได้รับการอนุเคราะห์จาก สธ. ไม่มีความขัดแย้ง รวมทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาช่วยแบ่งเบาภาระของ กทม. หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ กทม.ฉีดเดือนละ 2,050,000 โดส เป็นเรื่องยากมาก โดยเหตุผลที่ตนให้หมอพร้อมไป 182,000 โดส เพราะลงทะเบียนไปเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อสักครู่ได้เรียนอธิบดีกรมควบคุมโรค ในส่วนวันที่ 15-20 มิถุนายน ที่ลงทะเบียนหมอพร้อม ที่ระบุวันเดือนปีที่ชัดเจนเรียบร้อย มีคนลงทะเบียนหมอพร้อม 140,000 คน และลงทะเบียนกับไทยร่วมใจจำนวน 170,000 คน รวมประมาณ 310,000 คน ยืนยันว่า กทม.ได้รับวัคซีนเมื่อใดก็จะฉีดในวันรุ่งขึ้น และขอย้ำว่า กทม.ไม่ได้มีความขัดแย้ง มีแต่ สธ.ที่คอยช่วยเหลือ กทม.

ส่วนที่ประชาชนกรุงเทพฯลงทะเบียนไว้ทั้งในแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมหรือไทยร่วมใจตั้งแต่วันที่ 15-20 มิถุนายน ที่ได้รับข้อความว่าชะลอการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนเป็นต้นไป จนกว่าเราจะได้รับวัคซีน สมมุติเราได้รับวัคซีนวันที่ 19 มิถุนายน ก็จะส่งข้อความไปยังประชาชนว่าจะเดินทางมาฉีดในวันที่ 20 มิถุนายนเลยหรือไม่ หรือสะดวกเดินทางมาวันไหนสามารถเลือกวันเวลาได้โดยไม่ต้องไปต่อคิวใหม่หลังเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วน 1516 เกี่ยวกับเรื่องการกระจายการฉีดวัคซีนใน กทม. ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีดำริให้ ศบค.กำหนดมาตรการผ่อนปรนใน 5 สถานที่นั้น ได้ประชุมเรียบร้อยแล้ว และจะมีรายละเอียดของมาตรการต่างๆ ตามออกมาอีกครั้งในวันนี้ ส่วนสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ ยังคงปิดต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image