เดินหน้าชน : เกมสืบทอด

การสั่งราชการและมอบนโยบายของนายกฯประยุทธ์ระหว่างประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ก่อน ขันนอตรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเร่งมือทำงานในช่วงระยะ 1 ปีที่เหลืออยู่ของรัฐบาล ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ส่งต่อรัฐบาลวันข้างหน้า

ขีดเส้นใต้ “เร่งมือทำงานในช่วงระยะ 1 ปีที่เหลืออยู่ของรัฐบาล” ถูกขยายความว่า นั่นคือการส่งสัญญาณ “ยุบสภา” นับถอยหลังของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่

ทำไมต้องเร่งมือทำงานใน 1 ปี ทั้งที่อายุของรัฐบาล หากนับตั้งแต่การเลือกตั้ง 23 มีนาคม 2562 นับจาก
วันนี้ตัวเลขกลมๆ ก็ยังอยู่ได้ถึง 1 ปี 9 เดือน

สำรวจตรวจสอบสิ่งที่นายกฯประยุทธ์พูดออกมา

Advertisement

บางคนอาจมองว่า เป็นเพราะนายกฯประยุทธ์เป็นคนคิดเร็ว พูดเร็ว ก็เลยหลุดออกไป

แต่ก็มีอีกไม่น้อยเชื่อว่า เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดที่มีกำหนดอย่างมีจังหวะจะโคน มีไทม์ไลน์เป็นขั้นเป็นตอน

และเป็นการสำทับกระแสข่าวที่ออกมาเป็นระยะก่อนหน้านี้ รัฐบาลจะไม่อยู่ครบเทอมเมื่อสถานการณ์มีความได้เปรียบ

Advertisement

หนึ่งปีหลังจากนี้ หากนำมาเชื่อมโยงกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท บวกกับงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ปีงบประมาณ 2565 อีกจำนวน 5.71 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในอำนาจของนายกฯประยุทธ์ รวมแล้วกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะออกมา

น่าจะเพียงพอกับการทุ่มเงินเยียวยาประชาชน ฟื้นฟูภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันพอเหมาะพอเจาะกับช่วงเวลาการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วถึงมากขึ้น

สามารถนำไปเคลมเรียกคะแนนนิยมของรัฐบาลที่ตกต่ำก่อนหน้านี้กลับคืนมา และเป็นแรงส่งไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขืนทอดเวลาเนิ่นนานไปกว่า 1 ปี หรือจนครบเทอม เกิดกระแสตีกลับอีกรอบอาจได้ไม่คุ้มเสีย

หนึ่งปี ยังสอดคล้องกับการวางหมากการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2560

มาตรา 102 เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ

มาตรา 103 กรณียุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 5 วันนับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

ขณะที่มาตรา 97 เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งใน (3) กรณีสภาอยู่ครบเทอม กำหนดให้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

แต่หากเป็นเหตุจาก “ยุบสภา” ให้การเข้าสังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองลดลงเหลือ 30 วัน

ความแตกต่างก็คือ

เมื่อสภาอยู่ครบเทอม หรืออีก 1 ปี 9 เดือน ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน อาจสร้างความไม่สะดวก อีหลักอีเหลื่อ ให้กับบรรดา ส.ส. ในซีกพรรคฝ่ายค้าน แต่ใจไปอยู่กับรัฐบาล ต้องลาออกจากพรรคเก่า ต้องยอมพ้นสภาพ ส.ส. กระโดดข้ามรั้วไปอยู่พรรคใหม่อย่างน้อย 90 วัน
ทั้งที่สภายังทำหน้าที่อยู่

ตรงกันข้าม หาก “ยุบสภา” หนึ่งปีหลังจากนี้ ส.ส.พ้นสมาชิกภาพทันที เท่ากับเปิดคอกให้บรรดา ส.ส.ฝากเลี้ยง ย้ายเข้าค่ายใหม่ได้โดยสะดวก แถมกำหนดเวลาสังกัดพรรคเพียง 30 วันเท่านั้น

เงื่อนไขที่แตกต่างย่อมสร้างความได้เปรียบ เสียเปรียบ

รัฐบาล-สภาจะไปต่อ (จนครบเทอม) หรือพอแค่นี้ (หนึ่งปี)

ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ผู้กำหนดเกม

เกมที่ต้องการันตีคัมแบ๊กอีกวาระ

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image