รังสิมันต์ โรม วอน พท. เลิกหวัง ‘แลนด์สไลด์’-คล้อยตามสิ่งล่อ หวั่นชะตากรรมปชช.ไม่แน่นอน

รังสิมันต์ โรม วอน พท. เลิกหวัง ‘แลนด์สไลด์’-คล้อยตามสิ่งล่อ หวั่นชะตากรรมปชช.ไม่แน่นอน

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความ ระบุว่า

[แลนด์สไลด์… ไปทางไหน? เพื่อใคร? เพื่อไทย? เพื่อประชารัฐ?]

ถึงตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจุดมุ่งหมายของพรรคเพื่อไทยในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเฉพาะในเรื่องระบบการเลือกตั้งที่ยอมเล่นตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ รื้อกรอบจำนวน ส.ส. พึงมีออกไป แล้วไปเน้นหนักที่การเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน (เพิ่มจากเดิมขึ้นมา 50 คน) ก็คงเป็นอย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ คือเพื่อหวังให้เกิดการเทคะแนนไปที่พรรคใดพรรคหนึ่งอย่างเต็มที่ ด้วยข้ออ้างว่าหากเป็นเบี้ยหัวแตกแล้วจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยาก

Advertisement

พูดง่ายๆ คือหวัง “แลนด์สไลด์” แบบที่ตัวเองเคยได้ในอดีต โดยค่อยไปวัดพลังกับพรรคพลังประชารัฐเอาดาบหน้า

ในที่นี้ ผมคงไม่ลึกลงรายละเอียดถึงปัญหาเชิงหลักการของข้อเสนอระบบการเลือกตั้งดังกล่าว เพราะทั้งผมและพรรคก้าวไกลได้พูดไปพอสมควรแล้วก่อนหน้านี้ แค่ขอย้ำว่าระบบการเลือกตั้งดังกล่าวมีปัญหาแน่ๆ ในการทำให้สัดส่วนระหว่างจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองกับจำนวนประชากรที่เลือกพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่เหมาะสมกัน บางพรรคจะได้ ส.ส. เกินส่วนประชาชนที่เลือก ในขณะที่บางพรรคก็จะได้ ส.ส. ขาดส่วนประชาชนที่เลือกเช่นกัน

แต่แค่อยากจะขอถามไปยังพรรคเพื่อไทย ว่า “แลนด์สไลด์” ที่คาดหวังนี้ จะไปในทิศทางไหนกันแน่?

Advertisement

อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วเช่นกันว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นเพียงอวัยวะหนึ่งของฝ่าย คสช. ที่เข้ามาชิงพื้นที่ในเวทีสภา คสช. ยังมีอวัยวะอื่นๆ อีกมากมายที่จะใช้ประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจตั้งแต่ในต้นทางคือควบคุมการเลือกตั้งไปจนถึงการรักษาสถานะของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น กกต. ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ ตลอดจนระบบราชการ ในวันนี้พรรคพลังประชารัฐเลือกที่จะแก้ระบบการเลือกตั้งเพื่อหวังขยายจำนวน ส.ส. ของตัวเองในอนาคตให้เกินกรอบจำนวน ส.ส. พึงมี ซึ่งมีปัญหาทั้งในเชิงหลักการอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น และทั้งยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาร้ายของพรรคพลังประชารัฐที่หวังใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจเท่านั้น การที่พรรคเพื่อไทยไปร่วมเห็นชอบกับระบบการเลือกตั้งดังกล่าวด้วยนั้น หากผลปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายที่ใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวได้ดีที่สุดและชนะเลือกตั้งไป จะยิ่งเป็นการเพิ่มความชอบธรรมแก่พรรคพลังประชารัฐเพราะถือว่าผ่านการเลือกตั้งในระบบที่พรรคใหญ่ของฝ่ายค้านเองก็ยังรับรอง (แม้จะมีปัญหาเชิงหลักการก็ตาม) และเมื่อประกอบกับกลไกอวัยวะอื่นๆ ของ ฝ่าย คสช. ที่ยังคงอยู่เพื่อคอยรักษาสถานะทางอำนาจไว้แล้ว การจะตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะยากยิ่งขึ้นไปอีก หากผลออกมาเป็นเช่นนี้แล้วพรรคเพื่อไทยจะรับผิดชอบอย่างไร?

นอกจากนี้ยังต้องถามพรรคเพื่อไทยอีกว่า “แลนด์สไลด์” นี้ เป็นไปเพื่อใคร?

เพราะเห็นได้ชัดเลยว่าที่พูดเรื่องการต้องให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ที่อ้างว่าต้องไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่มุ่งหวังให้คะแนนเทมายังพรรคเพื่อไทย ที่มีความพร้อมมากกว่าหลายๆ พรรคในการหาเสียงเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แล้วปล่อยให้พรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเวที ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่มีเพียง 100 คน หรือเพียง 20% ของทั้งสภากันไป เรียกได้ว่าพรรคเหล่านี้คือผู้ที่จะต้องจมอยู่ใต้แลนด์สไลด์ที่เกิดขึ้น

แต่แล้วการที่เป็นเช่นนี้มันเป็นประโยชน์กับประชาชนจริงหรือ? สิ่งที่ควรมุ่งสร้างให้เกิดขึ้นมากกว่า คือระบบที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดมีที่ยืนอยู่ร่วมกันได้ เข้มแข็งไปด้วยกันได้มิใช่หรือ? การที่ในสภามีทั้งพรรคที่มุ่งเน้นการเข้าถึงปัญหาของชาวบ้าน พรรคมุ่งเน้นการแก้ปัญหาโครงสร้าง พรรคที่มุ่งเน้นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน พรรคที่มุ่งเน้นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฯลฯ นี่คือสภาที่ควรเป็นมิใช่หรือ? ถ้าใช่แล้วทำไมพรรคเพื่อไทยจึงมีข้อเสนอไปในทางที่จะทำลายสิ่งเหล่านี้ลง?

และหากพรรคเพื่อไทยยังดึงดันในข้อเสนอนี้ แล้วผลปรากฏว่าชัยชนะกลายเป็นของพรรคพลังประชารัฐไป ถึงตอนนั้นแล้วจะยังมีพรรคไหนที่มีกำลังมากพอที่จะร่วมสู้ด้วยกันได้? จะยังมีพรรคไหนที่อยากจะสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพรรคเพื่อไทยอีก?

ผมและพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นมีปัญหาแน่ๆ การใช้บัตร 2 ใบดีกว่าแน่ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าหากไม่เอาระบบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้วจะต้องหันไปเอาระบบตามที่พรรคเพื่อไทย (และพรรคพลังประชารัฐ) เสนอมาเท่านั้น ยังมีระบบการเลือกตั้งอื่นที่สะท้อนเจตจำนง ซื่อตรงต่อเสียงของประชาชนได้มากยิ่งกว่า 2 ระบบนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกพรรคการเมืองในระยะยาวรวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย ผมหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะทบทวนการตัดสินใจของตัวเอง อย่าได้คล้อยตามสิ่งล่อใจเพียงชั่วครู่ชั่วคราวจนยอมรับในระบบที่ยังมีปัญหาเชิงหลักการแล้วเอาชะตากรรมของประชาชนไปแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนเลยครับ

ขณะเดียวกัน โพสต์ข้อความระบุว่า [3 ปัญหาสำคัญของข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญฉบับ “เพื่อไทย”]

  1. ยอมตามเกมพลังประชารัฐ มองข้ามปัญหาความไม่ได้สัดส่วนระหว่าง ส.ส. กับประชาชน – คะแนนเสียงตกน้ำ เพราะเชื่อว่าตัวเองจะชนะเหมือนในอดีต

หากได้ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา หลังความพยายามแก้รัฐธรรมนูญครั้งก่อนหน้านี้ถูก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ปัดตกไปในสภา ฝ่ายแรกที่เริ่มกลับมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งก็คือพรรคพลังประชารัฐ โดยเรื่องที่สำคัญก็คือการแก้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ทิ้งระบบบัตรใบเดียวที่ฝ่าย คสช. เคยอ้างว่าทำให้ทุกเสียงมีความหมาย เปลี่ยนไปเป็นระบบบัตร 2 ใบ เหตุผลก็เพราะเชื่อว่าเครือข่ายอิทธิพลของตัวเองที่สั่งสมมากว่า 7 ปีมีศักยภาพมากพอที่จะช่วยให้ตัวเองชนะแบบถล่มทลาย ครองเสียงข้างมากพรรคเดียวในสภาได้เหมือนกับพรรคฝ่ายตรงข้ามในอดีต

หลังจากข้อเสนอนี้ออกมา ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ออกมาขานรับชัดเจนยิ่งกว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคกลับเป็นพรรคเพื่อไทยที่เสนอระบบการเลือกตั้งลักษณะเดียวกัน ซึ่งก็เล็งเห็นได้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยยอมเดินตามเกมของพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ ก็เพราะพรรคเพื่อไทยก็ยังเชื่อในศักยภาพของตัวเอง ว่าหากเป็นระบบการเลือกตั้งตามข้อเสนอนี้ พรรคเพื่อไทยจะยังสามารถคว้าชัยชนะ ผลิตซ้ำความสำเร็จในสมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในยุคต้นได้

อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยประมาทพรรคพลังประชารัฐมากเกินไป การที่พรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งซ่อมในแทบทุกครั้ง (แม้กระทั่งในเขตที่เคยเป็นของเพื่อไทยเอง) หรือผู้สมัครนายกฯ อบจ. ที่เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐได้รับชัยชนะอย่างน้อยถึง 23 จังหวัด เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าเครือข่ายอิทธิพลของพรรคพลังประชารัฐนั้นใช้งานได้ผลในระดับหนึ่ง หากพรรคเพื่อไทยยังคิดว่าจะชนะในกติกาแบบที่ตัวเองเคยชนะโดยไม่นำปัจจัยพัฒนาการของฝ่ายตรงข้ามมาคิดคำนวณด้วยแล้ว ผลลัพธ์ปลายทางอาจไม่เป็นอย่างที่หวังได้

และอย่างที่ได้กล่าวไปว่าระบบการเลือกตั้งตามที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอมานั้นมีปัญหาในเรื่องของความไม่ได้สัดส่วนระหว่างจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคกับจำนวนประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆ บางพรรคที่ได้ ส.ส. เข้าน้อยกว่าสัดส่วนประชาชนที่เลือกจริงๆ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมกับพรรคนั้น ทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับคะแนนเสียงตกน้ำ คือคะแนนของประชาชนที่เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่แพ้เลือกตั้งต้องสูญเปล่าไปทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมายาวนานว่าทำให้ระบบเลือกตั้งไม่สะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งก็มีวิธีการแก้ไขได้อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอระบบการเลือกตั้งแบบ MMP ของเยอรมนี โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปใช้บัตรใบเดียวให้สับสนเหมือนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สามารถเลือกคนที่ใช่ กาพรรคที่ชอบ และได้ ส.ส. ในสัดส่วนที่ถูกต้อง หากพรรคเพื่อไทยคิดจะเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่จะนำมาซึ่งปัญหาเหล่านี้ โดยที่ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะชนะ สู้กลับมายืนอยู่บนหลักการที่สะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างเที่ยงตรงกว่าไม่ดีกว่าหรือ

  1. เพิ่มจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ลดจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ถามว่าเขตที่เพิ่มมาใครคุม?

อีกหนึ่งประเด็นปัญหาสำคัญของการยอมเดินตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ คือการเสนอให้เพิ่มจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต จาก 350 คนเป็น 400 คน และหันมาลดจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จาก 150 คนเหลือ 100 คน แทน

คำถามมีอยู่ว่า อีก 50 เขตเลือกตั้งที่จะเพิ่มขึ้นมานั้น ใครคือผู้ที่จะช่วงชิงความได้เปรียบในเขตเหล่านั้น? เป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคพลังประชารัฐกันแน่?

อย่าลืมว่าในบริบทของการเมืองไทยนั้น พรรคพลังประชารัฐนั้นไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่อยู่โดดๆ เดี่ยวๆ หากแต่เป็น “แม่น้ำ” อีกสายหนึ่งของฝ่าย คสช. ที่ไหลบ่าเข้ามาท่วมในพื้นที่สภา เบื้องหลังของพรรคพลังประชารัฐจึงยังมีกลไกต่างๆ ที่จะคอยทำงานประสานกันเพื่อวัตถุประสงค์ของการสืบทอดอำนาจ

ลองนึกดูว่าในลำดับแรกสุดคือการกำหนดเขตเลือกตั้ง เป็นอำนาจของใคร? ก็คือ กกต. ซึ่งที่ผ่านมาก็แสดงผลงานของความไม่โปร่งใสให้เห็นกันหลายครั้งหลายครา แล้วในการแบ่งเขตเพิ่มครั้งนี้จะไปตกอยู่ในพื้นที่ของพรรคไหน? ยังไม่นับว่าในช่วงเวลาของการหาเสียงและวันเลือกตั้งจริงในเขตนั้นๆ ฝ่าย คสช. จะอาศัยกลไกอะไรในการควบคุมการเลือกตั้งอีก?

นอกจากนี้การเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตยังเป็นการเลือกตั้งที่ประสบปัญหาคะแนนเสียงตกน้ำมากที่สุด การเพิ่มจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตขึ้นมาอีก 50 ที่นั่งจึงจะยิ่งขยายปัญหาดังกล่าวให้หนักขึ้นไปอีก

  1. การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังคงห้ามหมวด 1 หมวด 2 ไม่เคารพเจตจำนงของผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น

นอกจากเรื่องระบบการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยยังเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในอีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นต้องพิจารณา คือฟื้นเรื่องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. กลับมาอีกครั้ง

ซึ่งก็ยังคงมีประเด็นปัญหาเดิมที่เคยได้ถกเถียงกันไปแล้วในความพยายามแก้รัฐธรรมนูญคราวก่อน เช่น การไม่มีเขตเลือกตั้งแบบทั้งประเทศ ทั้งที่ประเด็นในรัฐธรรมนูญมิใช่ประเด็นที่มีความจำเพาะในแต่ละจังหวัดแต่เป็นประเด็นร่วมของทั้งประเทศ การที่ไม่เปิดให้มีการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร. แบบกลุ่มได้ ทำให้ผู้มีความสนใจในประเด็นเดียวกันไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้และต้องแข่งขันกันเอง ข้อกำหนดเหล่านี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อภาคประชาชนในการริเริ่มสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. เสียเอง

แต่ประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุด คือการที่พรรคเพื่อไทยยังคงกำหนดห้ามการจัดทำรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ อยู่เช่นเดิม นั่นหมายความว่าหากแม้ว่าประชาชนจำนวนมากจะแสดงความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดดังกล่าว ไม่ว่าจะมีประชาชนเห็นด้วยมากเพียงใดก็เป็นไปไม่ได้เลยเพราะถูกเขียนห้ามไว้ ข้อกำหนดเช่นนี้จึงเป็นการไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น และหากสุดท้ายแล้วมีข้อเท็จจริงปรากฏจนเป็นที่ตระหนักได้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดดังกล่าวเพื่อแก้วิกฤต นั่นเท่ากับว่าข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถนำประเทศออกจากวิกฤตได้เลย

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน หนทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รวดเร็วและตรงต่อจุดหมายที่สุด ทั้งยังคงความยึดโยงกับประชาชน ได้แก่การเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภาให้ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แล้วจัดการออกเสียงประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดเชิงเนื้อหาโดยเร็วที่สุด

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้พรรคเพื่อไทยคิดตรึกตรองให้ดี ว่าแต่ละสิ่งอย่างที่ได้เห็นคล้อยตามพรรคพลังประชารัฐไปนั้น นอกจากจะมีปัญหาต่อการสะท้อนเสียง สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนแล้ว สิ่งที่คาดหวังว่าตัวเองจะชนะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่นั้น มีมูลเหตุอะไรให้เชื่อมั่นได้อย่างหนักแน่นอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่ มิเช่นนั้นแล้วก็คงหนีไม่พ้นเป็นการถวายพานชุดใหญ่ให้กับพรรคพลังประชารัฐและฝ่าย คสช. อีกครั้ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image