กลุ่มธุรกิจกลางคืน ร้องเพื่อไทย ขอเยียวยา หลังเจอสั่งปิดเหมารวมช่วงโควิด

กลุ่มธุรกิจกลางคืน ร้องเพื่อไทย ขอเยียวยา หลังเจอสั่งปิดเหมารวมช่วงโควิด

เมื่อเวลา 09.55 น. วันที่ 17 มิถุนายน ที่รัฐสภา สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง นำโดยนายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อขอมาตรการผ่อนปรนและมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มผู้ประกธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19

โดยนายนนทเดชกล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 19) วันที่ 9 เม.ย.64 โดยระบุหัวข้อหลัก 3 ข้อ ว่าด้วยการกำหนดให้มีการปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพรโรค, การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการและการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ จากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการแต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภททั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้าง
แบบรายวัน ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วน ทางสมาพันธ์ฯ จึงขอเรียกร้องมาตรการเยียวยาดังนี้

1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม
2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถ
จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค.64 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค 3.ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ 4.ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค

Advertisement

5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด 6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และหรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ 7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และหรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมรับฟัง, เสนอแนะ, พูดคุย ในกระบวนการการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ และ 8.เปิดช่องทางสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน

ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด เพราะมาตรการของรัฐที่ใช้ เช่น การสั่งปิดแบบเหมารวม แล้วมีมาตรการเยียวยาที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งข้อเรียกร้องที่ทางสมาพันธ์ฯยื่นมานั้นเป็นการดูแลช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งแนวทางของสภาเรานั้น เราจะดูให้ครอบคลุมว่ามาตรการที่เราจะสามารถไปช่วยขับเคลื่อนในนามของการเป็นผู้แทนของประชาชน เราคงต้องดูแนวทางว่าจะทำอย่างไรและจะเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลไกลที่เราทำอยู่ง่ายและเร็วคือ การตั้งกระทู้ด้วยวาจา หรือสอบข้อเท็จจริงในชั้นกรรมาธิการ เพราะเราสามารถเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงได้ ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้เราก็จะดำเนินการให้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image