‘หมอเรวัต’ อัด ‘บิ๊กตู่’ อย่าพูดลอยๆ 120 วันเปิดประเทศ แต่ควรระบุแผนให้ชัด ด้าน รมช.สธ.ชมนายกฯ กล้าประกาศ

“หมอเรวัต” อัด “บิ๊กตู่” อย่าพูดลอยๆ 120 วัน เปิดประเทศ ด้าน รมช.สธ.ชมนายกฯ กล้าประกาศ ยันแอสตร้าฯ ส่งมอบวัคซีน 61 ล้านโดส ตามกำหนด

เมื่อเวลา 10.40 น.วันที่ 17 มิถุนายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องโรคติดเชื้อโควิด-19 ของ นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ถามนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า โควิดระบาดในประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 2 แสนราย ผู้เสียชีวิตประมาณ 1,555 ราย ที่สำคัญในการระบาดระลอกที่ 3 ร้ายแรงมาก และสถานการณ์วันนี้ต้องบอกว่าประชาชนกำลังอยู่ในอันตราย และกรณีที่ผู้นำบริหารผิดพลาดแล้วเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน ทั้งสุขภาพและความหายนะทางเศรษฐกิจ การแสดงความรับผิดชอบคือต้องลาออกจากตำแหน่ง การที่ผู้นำประเทศออกมาพูดว่า “ผมขอรับผิดชอบเอง” บ่อยๆ แล้วไม่มีการกระทำอะไรที่เป็นผลดีติดตามมา คำพูดเหล่านั้นไม่มีความหมายอะไร และไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นใดๆ เช่น การประกาศว่าให้วันที่ 7 มิถุนายน เป็นวาระแห่งชาติ แต่ปรากฎว่าคนไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการเลื่อนฉีนวัคซีนออกไป และมีคนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีวัคซีนฉีด และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมานายกฯมาประกาศว่า อีก 120 จะเปิดประเทศ หากพูดลอยๆ นั้นคำถามคือจะเปิดอย่างไร มีแผนที่ชัดเจนอย่างไร

นพ.เรวัตถามต่อว่า ตนคงไม่กดดันที่จะต้องมาเปิดสัญญา ในการที่รัฐบาลทำสัญญาไว้กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า แต่พอจะทราบหรือไม่ว่าหากบริษัทฯไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามกำหนด และทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประชาชน จึงอยากทราบว่า ในเงื่อนไขสัญญาสามารถปรับหรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ และสามารถเปิดเผยสัญญาได้หรือไม่ เพื่อเกิดความโปร่งใส นอกจากนั้น ตนได้รับการเรียกร้องจากประชาชนบางกลุ่มที่อยากให้รัฐบาลเยียวยาทั้งเรื่องการชำระภาษี ประเภท อาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการจ่ายเป็นงวดๆ หรือลดการจัดเก็บภาษีบางประเภท หรือออกมาตรการแก้ไขกฎหมายให้ขายแอลกอฮอล์ให้ร้านอาหาร ให้โฆษณา รวมถึงขายออนไลน์ หรือซื้อกลับบ้านได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการ

ด้านนายสาธิตชี้แจงว่า สำหรับสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาดอยู่ในระลอกที่สาม เป็นสถานการณ์ที่หนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และเป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับหลายประเทศ ซึ่งการควบคุมโรคกับการรณรงค์ฉีดวัคซีนก็ทำควบคู่กันไป และการที่นายกฯได้ประกาศ ว่าจะกำหนดการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งก็เป็นการประกาศให้มีความชัดเจนว่า 4 เดือนต่อจากนี้รัฐบาลจะดำเนินการทั้งการควบคุมโรคและฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ ตามแผนที่ได้มีการจัดซื้อ จัดหาวัคฉีนทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือก รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายในการควบคุมโรคคู่ขนาดกัน

“ความชัดเจนที่นายกฯ กล้าประกาศเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจของคนไทยทั้งประเทศว่าเราจะต้องเดินหน้าสู่กับโควิดไปด้วยกัน และขอเรียนว่า เรื่องโควิดและวัคซีน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน การเดินหน้าไปสู่การเปิดประเทศได้ มีหลายปัจจัย ซึ่งไม่ใช่แผนการดำเนินงานที่จะเกิดได้จากฝั่งผู้มีอำนาจรัฐ หรือรัฐบาลฝ่ายเดียว ในแผนทั้งหมด ต้องติดตามว่านายกฯ จะประกาศเป็นแผนปฎิบัติการอย่างไร ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละส่วน แต่การจัดการในเรื่องนี้ การที่จะเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน ผมเข้าใจว่า บนพื้นฐานของการจัดหาซื้อวัคซีนจำนวนประมาณ 100 ล้านโดส และสถานการณ์การติดเชื้อของคนไทยในต่างจังหวัดก็เริ่มดีขึ้น เพียงแต่เราจะต้องมาควบคุมคลัสเตอร์ในกทม.และปริมณฑล ถ้าเราจัดการควบคุมไปในสองเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่าเป้าหมายจะประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น การประกาศของนายกฯ ก็ถือว่าเป็นการประกาศเพื่อความชัดเจนว่า รัฐบาลเป็นหลักที่จะขอความร่วมมือคนไทยทั้งประเทศที่จะเดินหน้าร่วมกันในการสู้กับโควิดและให้เสร็จสิ้นภายใน 120 วัน” นายสาธิตกล่าว

Advertisement

รมช.สาธารณสุขกล่าวต่อว่า สัญญาที่แอสตร้าเซนเนก้าทำกับเรามีความละเอียดอ่อนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา เรื่องจำนวน วันเวลาที่ชัดเจน และเขาไม่ได้ขายให้เราประเทศเดียว ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ก็ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างเรากับบริษัท ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะส่งวัคซีนได้ตามกำหนด โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ส่งวัคซีนมา 6 แสนโดส และส่งเพิ่มในสัปดาห์หน้าอีก 1 ล้านโดส รวมทั้งหมดที่ส่งมอบแล้วประมาณ 4 ล้านโดส เพราะฉะนั้นตนยังมั่นใจว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะปฎิบัติตามแผนการจัดสรรวัคซีนฉีดให้คนไทย 61 ล้านโดส ตามที่ตกลงกัน

นายสาธิตกล่าวว่า ตนต้องขอบคุณ นพ.เรวัต ที่นำเรื่องผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมาพูดในสภา ในภาพรวม ศบค.ได้รับเรื่องในทุกกลุ่มที่มีความเดือดร้อนและได้พิจารณาเยียวยาทุกกลุ่ม แต่ต้องยอมรับว่าการเยียวยาของรัฐบาลยังมีบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง ดังนั้น จะมีการนำเรื่องนี้เข้า ศบค. เพื่อพิจารณาและนำเข้า ครม. เพื่อพิจารณาหามาตรการว่าเยียวยาได้แค่ไหน อย่างไรตามหลักเกณฑ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image