‘เจ๊ป๊อกกี้-ตี้ พะเยา’ ยื่นจม.ถึงนายกฯสวีเดน ขอวัคซีนโควิด ชี้รัฐบาลไทยไร้ประสิทธิภาพ ซ้ำหนุนมิน อ่อง ลาย

‘เจ๊ป๊อกกี้-ตี้ พะเยา’ ยื่นจม.ถึงนายกฯสวีเดน ขอวัคซีนโควิด ชี้รัฐบาลไทยไร้ประสิทธิภาพ ซ้ำหนุนมิน อ่อง ลาย

เวลา 13.00 น. วันที่ 17 มิถุนายน ที่สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย นายภวัต หิรัณย์ภณ หรือเจ๊ป๊อกกี้ และ น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา แกนนำกลุ่มราษฎรเอ้ย เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอให้มีการพิจารณาบังคับใช้กฏหมาย International Convenant on Civil and Political Rights (ICCPR) and Magmesky act กับ บุคคลตามรายชื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมแนบหลักฐานด้านเอกสาร รวมถึงจดหมายเปิดผนึกขอให้สวีเดน ช่วยส่งมอบวีคซีนที่สามารถทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติแทนรัฐบาลไทย และหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานขอสนับสนุนมติลงโทษบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐบาลไทย ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุนนายพลอาวุโสมินอ่อง ลาย

นอกจากนี้ ยังมีจดหมายเปิดผนึกขอให้สวีเดน ส่งมอบวีคซีนที่สามารถทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แทนรัฐบาลไทย ระบุว่า

เรียน สเตฟัน เลอเวน นายกรัฐมนตรีสวีเดน เรียนผ่านท่านทูตสวีเดน ประจำสถานทูตไทย

Advertisement

ในฐานะคนไทย ข้าพเจ้าขอแสดงความชื่นชมและยินดีอย่างยิ่ง ต่อประเทศสวีเดน ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีท่านเป็นผู้นำรัฐบาลฯ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่รัฐบาลขาดประสิทธิภายในการบริหารจัดการ ทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับความเดือดร้อน และขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลไทย ทั้งที่ประเทศไทยเป็นตัวแทนผลิตวัคซีนชนิดหนึ่งภายในประเทศ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งมอบให้กับหน่วยงานของรัฐและสาธารณสุขได้เมื่อไหร่ เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศสวีเดนมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นมาอย่างยาวนาน ในฐานะมิตร ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ภายใต้การนำของท่าน และความช่วยเหลือจากท่าน ในการช่วยพิจารณามอบวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 แก่ประชาชนชาวไทย จะช่วยเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในหนังสือพร้อมเอกสารที่ให้ทางสถานทูตสวีเดนลงโทษกลุ่มผู้ช่วยเหลือมินอ่องล่าย ระบุว่า อ้างถึงเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่อ้างตัวกระทำรัฐประหารและทำการเข่นฆ่าสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ในประเทศพม่า นำโดย นายพล มิน อ่อง ลาย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่…มีนาคม พ.ศ.2564 กลุ่มผู้ก่อการร้ายดังกล่าว ได้สังหารเด็กหญิงที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี มีรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ซึ่งข้าพเจ้าได้รวบรวมหลักฐานและเอกสารรวมถึงลิงค์ข่าวที่มีการเสนอในประเทศและต่างประเทศเพื่อประกอบการพิจาณา

Advertisement

ด้วยการนี้ ข้าพเจ้า ขอให้สวีเดนใช้มติแทรกแซง คว่ำบาตร ระงับวีซ่า บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอันรวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลไทย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐบาลไทย ที่ให้การสนับสนุนนายพล มิน อ่อง ลาย และที่เกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนในประเทศพม่า โดยทันที

ทั้งนี้ หนังสือที่ขอให้มีการพิจารณาบังคับใช้กฏหมาย International Convenant on Civil and Political Rights (ICCPR) and Magmesky act กับ บุคคลตามรายชื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 หลังจากนั้นประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับด้วยกัน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Froms of Discimination against Women) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ประเทศไทยหรือภาครัฐ และผู้บริหารของรัฐก็ยังมีปัญหาที่เกิดจากการขาดความสนใจ ใส่ในใจการส่งเสริมและในการปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการในที่นี้จะยกตัวอย่างปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากสื่อในประเทศไทยมาให้ทราบพอสังเขป ดังนี้

1.การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล อันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฏหมาย มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นเครื่องมือทางการเมือง
2.การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเด็ก อันมาจากการควบคุมตัว และขั้นตอนวิธีปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล
3.การละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้หญิง อันมาจากการควบคุมตัว และขั้นตอนวิธีปฏิบัติที่รวมถึงการคุกคามที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล
4.นักเรียน กรณีเคสผู้ปกครอง เด็กที่ถูกละเมิดและลิดรอนสิทธิกรณีรัฐบาลไม่ให้เข้าพบบุตรหลานตนเอง
5.การละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีนักวิจารณ์หรือนักเคลื่อนไหว หรือนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ แต่ยังไม่มีคำพิพากษาให้ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวเพื่อหาหลักฐานในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างเต็มที่ และกรณีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล หรือถูกลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล ในการมีอิสระที่จะพูดคุยกับทนายความ ในระหว่างถูกควบคุมตัวในศาล
6.การปกปิดข้อมูลที่เป็นข่าวสารจากต่างประเทศ ละเมิดสิทธิมนุษยชนและยัดเยียดกฎหมายให้กับผู้ที่แชร์ข่าวสาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image