‘หมอสุกิจ’ แจง หลังพบ 2 ผู้ติดเชื้อ ยันมีมาตรการคุมเข้ม ไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์สภาได้

‘หมอสุกิจ’ แจง หลังสภาพบ 2 ผู้ติดเชื้อ ยันมีมาตรการคุมเข้ม ไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์สภาได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล บังคับไม่ได้

เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐสภาว่า มาตรการของสภาในการป้องกันการแพร่ระบาดก็จัดให้มีความเหมาะสมพอสมควร เพราะหากเข้มงวดมากเกินไปการประชุมก็เกิดขึ้นได้ยาก แต่ถึงแม้จะมีมาตรการที่เข้มงวดก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย เราไม่สามารถบังคับได้ เช่น ในห้องประชุมสภา ที่ประธานสภาเตือนหลายครั้งว่าไม่ควรมี ส.ส.นั่งติดกัน ที่ผ่านมามีการติดเชื้อหลายครั้ง ทั้งทางฝั่ง ส.ว. 9 ราย ฝั่ง ส.ส. 10 ราย รวมเป็น 19 ราย แต่สภาสามารถควบคุมไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ในสภาได้

นพ.สุกิจกล่าวว่า ทุกกรณีที่มีการติดเชื้อขึ้นมาก็มีการพยายามที่จะตีกรอบหาคนที่มีความเกี่ยวข้อง โดยแบ่งว่ากลุ่มใดมีความเสี่ยงมาก หรือมีความเสี่ยงน้อย บางกลุ่มก็ต้องส่งไปตรวจเชื้อและกักตัวทันที บางกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยก็กักตัว

นพ.สุกิจกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีพบผู้ติดเชื้อล่าสุด 2 รายนั้น รายแรกเป็นพนักงานหญิงไทย ทำงานในส่วนของห้องอาหารทำหน้าที่เก็บจาน โดยวันที่ 13 มิถุนายน บุตรชายของพนักงานหญิงคนนี้ไปตรวจและพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก่อนที่พนักงานจะไปตรวจตาม จนวันที่ 16 มิถุนายน ทาง รพ.แจ้งผลว่าติดโควิด-19 ซึ่งเมื่อรัฐสภาทราบข่าวก็ได้หาบุคคลที่มีความเสี่ยงมาก-น้อย ซึ่งพบผู้ที่มีความเสี่ยงสูง 4 ราย กำลังรอผลตรวจหาเชื้อ 2 ราย และรอไปตรวจอีก 2 ราย ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำอีก 2 ราย โดยให้กักตัว 14 วันและไม่ส่งตรวจหาเชื้อ

Advertisement

นพ.สุกิจกล่าวว่า รายที่ 2 คือ ผู้ป่วยหญิงไทยที่เป็นข้าราชการบำนาญของสภา แต่ยังเข้ามาทำงานอยู่ในสภา หากถามว่าทำไมถึงเข้ามาในสภาได้ ปกติสภาเปิดให้เข้ามาได้อยู่แล้ว เพียงแค่แจ้งวัตถุประสงค์ โดยรายนี้เข้ามาเพื่อทำงานให้ ส.ส.บางท่าน หรือกลุ่มคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันจึงอาจขอให้มาช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ

นพ.สุกิจกล่าวว่า ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ได้ไปไปเสิร์ฟอาหารที่ห้อง ครม.ชั้น 3 และวันที่ 10 มิถุนายน ไปที่ห้องส่วนตัวของ ส.ส.บางคน หลังจากนั้นวันที่ 11 มิถุนายน มีอาการเป็นไข้ ซึ่งได้ไปพบแพทย์ที่คลินิก แต่ 3-4 วัน ก็ยังไม่หาย วันที่ 15 มิถุนายน จึงตัดสินใจไปตรวจที่โรงพยาบาลวชิระ จนมาวันที่ 16 มิถุนายน ทางโรงพยาบาลแจ้งผลว่าติดโควิด-19 ในส่วนของรายนี้พบกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง 4 ราย ได้ให้กักตัวและกำลังรอผลตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ และไม่พบกลุ่มผู้เสี่ยงต่ำ

Advertisement

“ยืนยันว่าทางรัฐสภายังมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เอาอยู่ ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภา มาตรการจะต้องมีความรัดกุม และเชื่อว่าตอนนี้ทุกคนก็ตื่นตัว รู้ว่าต้องป้องกันตัวเองอย่างไร การรักษาระยะห่างในห้องประชุมอาจจะทำไม่ได้ เพราะจำนวนผู้ประชุมมีมาก อย่างไรก็ตาม จะพยายามให้เวลาการประชุม ส.ส.และ ส.ว.ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องประชุมทั้งหมด แต่ในการลงมติอาจมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องจำนวนคน แต่หากลงมติไม่เกิน 15 นาที

“ทางกรมควบคุมโรคก็บอกว่ายังอยู่ในสภาวะความเสี่ยงต่ำ สามารถทำได้ ในส่วนของผู้ติดตาม ขอให้มีผู้ติดตามแค่ 1 คน และคนขับรถ 1 คน โดยอยู่ในพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ไม่เข้ามาปะปนอยู่ในอาคารใหญ่ของสภา” นพ.สุกิจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image