‘ก้าวไกล’ แนะ โฟกัส ‘ถอดปลั๊ก ส.ว.’ เพื่อหยุดประยุทธ์ยุคสาม

‘ก้าวไกล’ แนะ โฟกัส ‘ถอดปลั๊ก ส.ว.’ เพื่อหยุดประยุทธ์ยุคสาม

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติ่มรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่ควรจะเป็น ว่า ความจริงแล้วตอนนี้ประเด็นสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายควรพุ่งเป้าให้ชัดร่วมกันไปที่การต่อสู้กับเผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจผ่านกลไก ส.ว. หรือการแก้มาตรา 272 เพื่อ ปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หากฝ่ายรัฐบาลจับมือกับ ส.ว. โหวตคว่ำการแก้ไขมาตรานี้ของพรรคร่วมฝ่ายค้านไป เชื่อว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านก็คงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องไปรับข้อเสนอหรือโหวตผ่านญัตติใดของพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ประเด็นรองลงมาคือเรื่องระบบเลือกตั้งที่ดูเหมือนยังไม่เป็นที่ตกผลึกกันเสียทีเดียว เรื่องนี้หากจะบอกว่าข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 40 หรือแนวคิดระบบจัดสรรปันส่วนผสมเป็นระบบ กลายพันธุ์ หรือเป็นการเลือกตั้งที่พวกสมุนนิยมเผด็จการต้องการนั้น ก็ดูจะเป็นความคิดคับแคบไปสักหน่อย หรือจะว่ายังไม่ขานรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จากสถานการณ์ที่เป็นจริงของปัจจุบันก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพูดถึงความจำเป็นของการมีระบบเลือกตั้งและกระบวนการที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้ได้มากที่สุดนั้น ทำไมจึงไม่มองให้เป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ว่าระบบที่ว่านั้นคืออะไร

นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าระบบเลือกตั้งที่เป็นข้อถกเถียงกันเวลานี้กำลังเดินอยู่บนทางแยกระหว่าง การเมืองเก่ากับการเมืองใหม่มากกว่า ซึ่งความแตกต่างในแนวร่วมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเลือกคือ เสน่ห์ของระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็มีสิทธิ์เสนอแนวทางและเหตุผลของตน แม้ว่าจะมีแนวทางที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด เช่น พรรคก้าวไกล เห็นต่างจากพรรคเพื่อไทย ในกติกาการคำนวณคะแนน แต่เราเห็นตรงกันว่าควรใช้บัตร 2 ใบ เลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ

Advertisement

นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าสำหรับระบบเลือกตั้งคือการโหวตให้ญัตติของพรรคพลังประชารัฐ โดยที่ยังไม่ได้แก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจของ ส.ว. และมาตราอื่นๆ ที่เป็นมรดกอำนาจของ คสช. บางคนอาจมองว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะถึงยังไงก็กำขี้ดีกว่ากำตด หากมองในมุมกลับกันถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ระบอบประยุทธ์ เดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแรงขึ้นผ่านการฟอกตัวด้วยการเลือกตั้งที่ถูกยอมรับ โดยการประชามติแก้ ม.256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.อาจไม่มีโอกาสได้เกิดเพราะอาจมีการเลือกตั้งแทรกขึ้นก่อนและเมื่อได้รัฐบาลก็สามารถอ้างต่อได้ทันทีว่า มาตามระบบเลือกตั้งที่ชอบธรรมแล้วไม่มีความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญอีก

“สถานการณ์ที่รัฐบาลคุมทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุนและอิทธิพลในพื้นที่เป็นเรืองที่ยากมากหรือโอกาสแทบไม่มีเลย ในระบบนี้พรรคเพื่อไทยจึงอาจแค่กลายเป็นฝ่ายค้านที่มีเสียงมากขึ้น แต่เพื่อนมิตรพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เคยจับมือสู้กันมา หรืออดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่แยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ ซึ่งต่อต้านเผด็จการเช่นกันก็คงไม่อาจเข้าสู่สภาเพื่อไปร่วมต่อสู้ได้เหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น หากไม่ปิดสวิตช์ ส.ว.เสียก่อน แล้วมองว่าเรื่องระบบเลือกตั้งแบบไหนค่อยไปว่ากันต่อใน ส.ส.ร. โดยไปโหวตรับเพื่อให้มีการเลือกตั้งเสียก่อนก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้ระบอบประยุทธ์ยุคที่สาม เกิดขึ้นและมีความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม” นายสุรเชษฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image