สนธิรัตน์ แนะรัฐ ทวนนโยบายใหม่อุ้ม SME ย้ำโมเดลไบเดน เน้นกลไกพิเศษ เอื้อแหล่งทุน

‘สนธิรัตน์’ แนะรัฐ ทบทวนนโยบายใหม่ ช่วย SME ย้ำแนวคิดไบเดน วางกลไกพิเศษ ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินในช่วงวิกฤต  

วันนี้ (21 มิ.ย.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อเขียนแนะรัฐบาลทบทวนมาตรการช่วยผู้ประกอบการ SME ใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ผมเคยต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจมาก่อน ผมเข้าใจหัวอกผู้ประกอบการ SME พ่อค้าแม่ค้า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ครับ

ผมนั่งดูไลฟ์เจ้าของร้านโกดังชาบู ที่ระบายออกมาผ่านทางไลฟ์เฟซบุ๊กวันก่อนที่บอกเตรียมตัวปิดร้านถาวร เพราะแบกรับภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่าย เงินหมุนในกิจการไม่มี รวมที่เห็นในโซเชี่ยล ในข่าว แล้วอยากจะบอกว่า ผมเข้าใจเห็นใจครับ

คนไม่เคยโดนดอกเบี้ยร้อยละ 7 ร้อยละ 10 แต่เงินไม่มีเข้ามา ไม่รู้หรอกครับว่า มันลำบากแค่ไหน

Advertisement

ผู้ประกอบการ SME ตอนนี้ลำบากมากนะครับ สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างหนัก โดยเฉพาะกิจการร้านอาหาร การบริการ การท่องเที่ยว

รัฐเองก็ได้มีนโยบายให้ความช่วยเหลือทางการเงินมาก่อนหน้านี้ แต่ผมว่า เราอาจต้องกลับมาทบทวนความช่วยเหลือทางการเงินที่ให้กับ SME นี้ใหม่ครับ โดยมาตรการการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่เคยมีมา

สถานการณ์โควิดกับ SME นี่เหมือนกับ เวลาฝนตกหนักๆ แล้ว รัฐบาลพยายามจะให้ร่มกับคนที่เปียกฝน ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้รัฐไม่ได้เป็นคนให้ร่มเอง แต่ให้ผ่านธนาคารเป็นคนยื่นร่มให้แทน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ได้รับร่มคือ อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้เปียกมากจริงๆ มีร่มแล้ว หรือแม้กระทั่งอยู่ใต้หลังคาแล้ว ส่วนคนตัวเล็กๆ ที่ลำบากจริงๆ ไม่ได้รับร่มอันนี้ เพราะระบบการให้สินเชื่อเงินทุน มาไม่ถึง หรือคุณสมบัติไม่สามารถให้สินเชื่อได้ เพราะมีหนี้เดิม หรือไม่มีเครดิตที่ดีพอ คนที่ได้รับสินเชื่อกลายเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อาจจะไม่เปียกโชกเท่ารายเล็กรายน้อย

ผมเข้าใจครับ ว่าธนาคารมีต้นทุนและวิธีการให้สินเชื่อที่ไม่อยากได้ผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนา นั่นคือ หนี้สูญ NPL

ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยบางราย อาจหันไปหาเงินกู้นอกระบบ เพราะขั้นตอนการขอกู้น้อย รวดเร็ว หลักทรัพย์อาจไม่ต้องใช้ แต่ดอกเบี้ยสูงมาก แต่มันจำเป็นครับ เงินมันต้องเอามาหมุน เอามาช่วยลูกน้อง

ถึงตรงนี้ผมเสนออีกมิติของการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ครับ ว่ารัฐต้องเข้ามาจัดการให้ความช่วยเหลือทางเงินและมั่นใจว่า มาตราต่างๆนั้นจะเข้าถึง และสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กได้จริง

ลองดูมาตรการแบบอเมริกาที่ประธานาธิบดีไบเดนเสนอจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกิจการร้านอาหารที่ให้ทั้งรายเล็กรายใหญ่ แค่ให้ยื่นเรื่องไปแล้วก็จะมีการพิจารณาความช่วยเหลือตามความต้องการ ด้วยกลไกพิเศษ ทำแบบวิกฤตที่ไม่ปกติ เพื่อให้เจ้าของกิจการอยู่ให้ได้

ผมคิดว่าไทยเราก็ทำได้ครับ เดี๋ยวคราวหน้าผมจะมาเล่าแนวคิดเรื่องกองทุนฟื้นฟูนอกระบบธนาคารให้ฟังครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image