‘คำนูณ’ ชี้แก้ รธน.สมนาคุณพรรคใหญ่ เหน็บปิดสวิตซ์ ส.ว.แค่วาทกรรม ปชต. ห่วงบัตร 2 ใบผูกขาดการเมือง

‘คำนูณ’ ชี้แก้ รธน.สมนาคุณพรรคใหญ่ เหน็บปิดสวิตซ์ ส.ว.แค่วาทกรรม ปชต. ห่วงบัตร 2 ใบพรรคใหญ่ผูกขาดการเมือง

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ใช้เวลาสแกนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับจาก 3 กลุ่มพรรคการเมือง คือพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ พรรคเพื่อไทย 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค 8 ฉบับ จำแนกได้ 9 ประเด็นในร่าง 13 ฉบับ ได้แก่ 1.เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ส.ส.เป็นระบบบัตร 2 ใบ เสนอโดยทั้ง 3 กลุ่มพรรคการเมือง 2.ตัดบทลงโทษรุนแรงต่อนักการเมืองที่ไปยุ่งเกี่ยวการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยแก้มาตรา 144 และ 185 ที่เพิ่งมีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ

นายคำนูณกล่าวว่า 3.ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล 4.เปลี่ยนวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกเงื่อนไข ส.ว.ต้องเห็นชอบ 1 ใน 3 ในวาระ 1 และ 3 เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 5.เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เสนอโดยทั้ง 3 กลุ่มพรรคการเมือง 6.ยกระดับหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชน เสนอโดยทั้ง 3 กลุ่มพรรคการเมือง 7.ปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษป.ป.ช. เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 8.ยกระดับหมวดการปกครองท้องถิ่น เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และ 9.ป้องกันการรัฐประหาร ยกเลิกบทบัญญัตินิรโทษกรรม คสช.เสนอโดยพรรคเพื่อไทย

“ทั้งหมดสรุปภาพรวมได้ 3 ประเด็นคือ 1.สมนาคุณพรรคใหญ่ 2.ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง และ 3.ปิดสวิตซ์ ส.ว. ผมเชื่อว่าประเด็นที่หวังผลเต็มร้อยคือการสมนาคุณพรรคใหญ่และถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกงที่อยู่ในร่างพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามากที่สุด เพราะมีอยู่ในร่างของทุกกลุ่ม ส่วนประเด็นถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง แม้เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้วทุกพรรคเห็นด้วย” นายคำนูกล่าว

Advertisement

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ถ้าเชื่อมโยงทั้ง 2 ประเด็นนี้เข้ากับสถานการณ์การเมือง ทั้งเงื่อนเวลาที่เหลือไม่เกิน 2 ปีจะครบเทอม การเตรียมรับการเลือกตั้งของทุกพรรค การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ จะเข้าใจภาพรวมการเมืองไทยในอนาคตได้ไม่ยากว่าเหตุใดพรรคพลังประชารัฐจึงผลักดันเต็มที่ ส่วนประเด็นปิดสวิตซ์ ส.ว.ไม่อาจหวังผลได้ เพราะยากที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. แต่เป็นประเด็นที่เสนอไว้เพื่อรักษาวาทกรรมประชาธิปไตย

นายคำนูณกล่าวว่า ขณะที่การยกระดับหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชนและการปกครองท้องถิ่นมีไว้เพื่อชี้ว่าเป้าหมายการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ซึ่งเคยแสดงเจตนารมณ์โหวตเห็นด้วยไปแล้ว ณ วันนี้ยังเห็นเหมือนเดิม ร่างใดเสนอตัดมาตรา 272 จะลงมติเห็นชอบแน่นอน แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 144 และมาตรา 185 ที่ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ไม่สามารถแยกลงมติเฉพาะประเด็นนี้ได้ เพราะเป็นประเด็นถูกมัดรวมอยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐ

นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้น ไม่เห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีกฎเอื้อ 2 พรรคใหญ่ ก่อให้เกิดวิกฤตใหญ่มาแล้ว เป็นการผูกขาดการเมืองไว้กับพรรคใหญ่ กลุ่มทุน และนักการเมืองอาชีพ ตัดหนทางพรรคทางเลือก แต่การจะคงระบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เป็นปัญหาเช่นกัน ทางที่ควรจะเป็นคือใช้บัตร 2 ใบในระบบสัดส่วนผสมตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยยกร่างไว้เมื่อปี 2558 ประเด็นนี้จะลงมติอย่างไร ขอตัดสินใจอีกครั้ง รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ทั้งการยกระดับสิทธิเสรีภาพประชาชนที่อยู่ในร่างทั้ง 3 กลุ่ม และการปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษ ป.ป.ช. ต้องขอพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ขอฟังคำชี้แจงของผู้เสนอร่างเพื่อความชัดเจน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image