‘คำนูณ’ มองแก้ รธน.แค่สมนาคุณพรรคใหญ่ ยันจุดยืนเดิม ส่วนตัวพร้อมปิดสวิตช์ ส.ว.

‘คำนูณ’ มองแก้ รธน.แค่สมนาคุณพรรคใหญ่ ยันจุดยืนเดิม ส่วนตัวพร้อมปิดสวิตช์ ส.ว.

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่า สมนาคุณพรรคใหญ่ ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกงปิดสวิทช์ ส.ว.ขีดเส้นใต้ศึกแก้รัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ 3 กลุ่ม 9 ประเด็น

ใช้เวลาสแกนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับจาก 3 กลุ่มพรรคการเมือง คือ พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ, พรรคเพื่อไทย 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค 8 ฉบับ

ในมุมมองของผมขอจำแนกเป็น 9 ประเด็นกระจายอยู่ในร่างฯทั้ง 13 ฉบับ

1.เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ส.ส.เป็นระบบบัตร 2 ใบ 400 : 100 คู่ขนาน ตามแบบรัฐธรรมนูญ 2540 (พปชร., พท., พรรคร่วม รบ.)

Advertisement

2.ตัดบทลงโทษรุนแรงต่อนักการเมืองและข้าราชการประจำที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยแก้ไขมาตรา 144, 185 ที่เพิ่งมีเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 (พปชร.)

3.ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และขยายที่มาของนายกรัฐมนตรีไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะที่แต่ละพรรคเสนอชื่อในวันเลือกตั้งเท่านั้น โดยให้มาจาก ส.ส.ด้วย (พท., พรรคร่วมรบ.-ยกเว้น ชพ.ที่ไม่ร่วมลงชื่อ)

4.เปลี่ยนแปลงวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกเงื่อนไข ส.ว. 1/3 ในวาระ 1, 3 และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 20% ในวาระ 3 (พรรคร่วม รบ.)

Advertisement

5.เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (พปชร., พท., พรรคร่วม รบ.)

6.ยกระดับหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหน้าที่ของรัฐ (พปชร., พท., พรรคร่วม รบ.)

7.ปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษ ป.ป.ช. (พรรคร่วม รบ.)

8.ยกระดับหมวดการปกครองท้องถิ่น (พรรคร่วม รบ.)

9.ป้องกันการรัฐประหาร ยกเลิกบทบัญญัตินิรโทษกรรม คสช. (พท.)

พอสรุปภาพรวมได้ดังนี้ “สมนาคุณพรรคใหญ่” (ประเด็น 1) “ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง” (ประเด็น 2) “ปิดสวิทช์ ส.ว.” (ประเด็น 3)

เชื่อว่าเป้าหมายหวังผลเต็ม 100 คือประเด็น 1 และประเด็น 2 ‘สมนาคุณพรรคใหญ่’ และ ‘ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง’ โดยจะเห็นได้ว่า 2 เป้าหมายนี้อยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐพรรคแกนนำรัฐบาล ที่มัดรวมกันเข้าเป็นร่างเดียวร่วมกับประเด็นอื่นด้วย คือประเด็น 5 และ 6

เป็นร่างที่มีโอกาสผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามากที่สุด !

เพราะประเด็นที่ 1 มีอยู่ในร่างของทุกกลุ่ม และแม้ประเด็นที่ 2 จะเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่เชื่อว่าลึกๆ แล้วนักการเมืองแทบทุกพรรคเห็นด้วย

และถ้าเราเชื่อมโยงทั้ง 2 ประเด็นนี้เข้ากับสถานการณ์การเมืองที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนเวลาที่เหลืออีกไม่เกิน 2 ปีรัฐบาลจะอยู่ครบเทอม การเตรียมรับมือการเลือกตั้งของทุกพรรค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารในพรรคพลังประชารัฐ จะเข้าใจภาพรวมของการเมืองไทยในอนาคตไม่ยาก และเข้าใจได้ไม่ยากเช่นกันว่าเหตุใดพรรคพลังประชารัฐจึงผลักดันเต็มที่

ส่วนประเด็น 3, 4 ‘ปิดสวิทช์ ส.ว.’ แม้ไม่อาจหวังผลได้ เพราะยากจะได้เสียงสนับสนุนตามเกณฑ์จาก ส.ว. แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องเสนอไว้ เพื่อรักษาวาทกรรมประชาธิปไตย

ประเด็น 6, 8 มีไว้เพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลว่าเป้าหมายการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้คือเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง

ตั้งใจจะอภิปรายตามแนวนี้ แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนไม่แน่ใจ เพราะเวลาที่ได้รับมาจำกัดมาก

ส่วนจะลงมติอย่างไรนั้น…

ที่แน่นอนที่สุดคือประเด็นตัดอำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ผมแสดงเจตนารมณ์ต่อสาธารณะมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเห็นด้วย และเคยโหวตเห็นด้วยไปครั้งหนึ่งแล้วแม้จะไม่เป็นผล

ณ วันนี้ไม่มีเหตุผลที่จะเห็นต่างไปจากเดิม

ร่างฯใดเสนอตัดมาตรา 272 ผมลงมติเห็นชอบให้แน่นอนครับ

ประเด็นนี้ชัดเจน

นอกจากนี้ ผมยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 144 และ 185 ที่เป็นการถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง

แต่ไม่สามารถแยกลงมติเฉพาะประเด็นนี้ได้ เพราะเป็นประเด็นที่ถูกมัดรวมอยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐ

เรื่องระบบเลือกตั้ง โดยพื้นฐานแล้วผมไม่เห็นด้วยกับระบบบัตร 2 ใบ 400 : 100 แบบคู่ขนาน หรือ MMM : Mixed-member majoritarian ที่มี 2 กฎเอื้อพรรคใหญ่ตามแบบรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะก่อให้เกิดวิกฤตใหญ่มาแล้ว เป็นการผูกขาดการเมืองไว้กับพรรคใหญ่ กลุ่มทุน และนักการเมืองอาชีพ ตัดหนทางพรรคทางเลือก แต่การจะคงระบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญ 2560 นับคะแนนแบบการเลือกตั้ง 2562 ก็เป็นปัญหาเช่นกัน ทางที่ควรจะเป็นคือการใช้บัตร 2 ใบ ในระบบสัดส่วนผสม

หรือ MMP : Mixed-member proportional ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณเคยยกร่างไว้เมื่อปี 2558 โดยผมเป็นหนึ่งในกรรมาธิการยกร่างชุดนั้นด้วย แต่ไม่มีร่างใดของกลุ่มใดเสนอ
จะลงมติอย่างไรใน 2 ประเด็นนี้ ขอตัดสินใจอีกครั้ง

รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ทั้งประเด็นยกระดับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในร่างของทั้ง 3 กลุ่ม และประเด็นปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษ ป.ป.ช. ต้องขอพิจารณาลงรายละเอียดอีกครั้ง รวมทั้งฟังคำชี้แจงของผู้เสนอร่างเพื่อความชัดเจน วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ได้รู้กันครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image