มติ กมธ.แก้ปัญหายากจนฯ ส.ว. ไม่เห็นด้วยแก้ รธน.ม.144, 185 ชี้เป็นหัวใจของ รธน.ฉบับปราบโกง ป้องคอร์รัปชั่น

มติ กมธ.แก้ปัญหายากจนฯ ส.ว. ไม่เห็นด้วยแก้ รธน.ม.144, 185 ชี้เป็นหัวใจของ รธน.ฉบับปราบโกง ป้องคอร์รัปชั่น

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 มิถุนายน ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำโดย นายสังศิต พิริยะสังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธาน กมธ. แถลงว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ทางคณะ กมธ.มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และมาตรา 185 เนื่องจากบทบัญญัติทั้ง 2 มาตราดังกล่าวห้ามไม่ให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 มีการกำหนดบทบัญญัติไว้ และแม้ว่าการเสนอแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ทำลายหลักการ แต่มีการตัดทอนบทลงโทษ ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้าราชการประจำ รวมถึงตัดข้อห้าม ส.ส.และ ส.ว.เข้ามามีส่วนในการใช้จ่ายหรืออนุมัติงบประมาณ และการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากบทบัญญัติส่วนที่ถูกเสนอตัดออกไป 2 มาตราในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ได้รับสมญานามว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”

นายสังศิตกล่าวว่า นอกจากนี้ บทบัญญัติในมาตรา 185 ยังสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่นอีกด้วย คณะ กมธ.มองว่าปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดของไทยมี 3 เรื่องคือ การศึกษา ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขไม่ได้หากปล่อยให้มีการโกง การทุจริตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะ กมธ.จะมีมาตรการแซงก์ชั่นอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา อาจจะเป็นเรื่องของการงดออกเสียง การลงมติไม่เห็นด้วย หรือการอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดปุ่มลงคะแนนใดๆ

Advertisement

ด้าน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ส.ว. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 185 เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ระบุในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีต้องตอบรับหลักการดังกล่าว รัฐธรรมนูญ 60 จึงบัญญัติไว้

เมื่อถามว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 อยู่ในญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ แสดงว่า ส.ว.ในคณะ กมธ.จะไม่รับร่างดังกล่าวใช่หรือไม่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า เป็นความลำบากใจของ กมธ.และ ส.ว.หลายคน เพราะมาตรา 144 และมาตรา 185 รวมอยู่ใน 5 ประเด็นใหญ่ในญัตติของพรรคพลังประชารัฐ เราแสดงจุดยืนในการแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว ซึ่งการลงมาแถลงแบบนี้คงพิจารณากันได้ว่าการลงมติจะเป็นอย่างไร แต่การตัดสินใจก็เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละท่าน ซึ่งต้องดูการเสนอญัตติของผู้เสนอญัตติก่อน ส่วนประเด็นอื่นๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องของ ส.ว.แต่ละคนที่จะมีมุมมองทั้งเหมือนและแตกต่างกัน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image