พท.จี้สภาทบทวน ตีตกร่างแก้ ม.256 ‘ชวน’ ยกคำวินิจฉัยโต้ ถ้าบรรจุเท่ากับท้าทายศาล

เพื่อไทยจี้สภาทบทวน ตีตกร่างแก้ ม.256 ‘ชวน’ ยกคำวินิจฉัยโต้ ถ้าบรรจุเท่ากับท้าทายศาล

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 มิถุนายน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค 8 ฉบับ โดยก่อนเข้าสู่วาระ ส.ส.ฝ่ายค้านได้หารือเพื่อขอให้ทบทวนการไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และแก้ไขเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไว้ในระเบียบวาระประชุมรัฐสภา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) สอบถามถึงเหตุผลการไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรค พท. เรื่องการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากฝ่ายรัฐสภาเห็นว่า ญัตติดังกล่าวเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้น พรรค พท.จะทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอให้ทบทวนความเห็นและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุ หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทำประชามติก่อน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ห้ามทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือว่าต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรก ไม่ทราบว่ามีกระบวนการ หรือใครเป็นผู้จัดทำ และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร หรือเวลาเท่าไร ครั้งที่สอง คือ ประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และครั้งที่สาม หลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ต้องใช้งบประมาณครั้งละ 3,000 ล้านบาท

“การยื่นแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ เป็นเพียงกระบวนการจัดทำการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องรองรับไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น หากรัฐสภาเห็นชอบก็ให้จัดทำประชามติต่อไป รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ถูกยกเลิก แต่การไม่บรรจุญัตติเท่ากับห้ามแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง ไม่อยากให้ตีความเกินคำวินิจฉัย ขอให้ทบทวน การไปยึดติดคำวินิจฉัยจนสมาชิกทำหน้าที่ไม่ได้ ขอให้เป็นหน้าที่สมาชิกวินิจฉัย ไม่ใช่ประธานวินิจฉัยเอง” นพ.ชลน่านกล่าว

ขณะที่ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (พท.) หารือให้รัฐสภา ถึงวิธีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มประชาชน ที่อยู่ระหว่างการเข้าชื่อให้ได้ 5 หมื่นรายชื่อ ซึ่งขณะนี้จำนวนคนเข้าชื่อดังกล่าวใกล้จะครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ การจะยกเว้นข้อบังคับคงทำไม่ได้ เพราะฝั่งของรัฐบาลมีความเร่งรีบอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุม และรีบยุบสภา ดังนั้น หากระหว่างที่กรรมาธิการพิจารณา แต่ยังไม่ลงมติวาระสาม จะมีช่องทางให้ร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนร่วมพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประหยัดต่องบประมาณ

Advertisement

ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ปฏิเสธการเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมยุบสภา โดยเนื้อหาของพรรค พปชร. มาจากผลการศึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ชุดที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน กมธ.

ทั้งนี้ นายชวน ชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาญัตติจะมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องผ่านฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายรัฐสภา ยกเว้นเรื่องสำคัญจะมีที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายช่วยพิจารณา ญัตติดังกล่าวนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่า บรรจุไม่ได้ จึงส่งให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายรัฐสภาช่วยพิจารณาก็มีความเห็นตรงกันว่า บรรจุไม่ได้ จากนั้นส่งมาให้ตนพิจารณา ตนก็พิจารณาด้วยความรอบคอบ เหตุที่ไม่บรรจุญัตติดังกล่าว เพราะมีมาตรา 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จากการตรวจดูพบว่า หลักการและเหตุผลของญัตตินี้ มีสาระสำคัญเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้วว่า มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และให้ไปทำประชามติก่อนว่า ประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ดังนั้น จึงมีความเห็นไม่บรรจุ ถ้าบรรจุแสดงว่าไม่ยอมรับคำวินิจฉัย

“ยืนยัน 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครมาสั่งประธานได้ นายกฯไม่เคยมายุ่ง ขอให้มั่นใจว่าการวินิจฉัยเป็นไปด้วยความสุจริต ยึดมั่นกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนร่างภาคประชาชน ถ้าส่งมาเมื่อใด ก็จะพิจารณาและบรรจุให้ทันที ไม่มีลับลมคมใน ถ้าไปท้าทายคำวินิจฉัย ด้วยการบรรจุญัตติ ก็เท่ากับผมทำผิดรัฐธรรมนูญ” นายชวนกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image