‘ชาวบ้าน’ ร้อง กมธ. หลังถูกอ้างทำประชามติสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมกทม. แต่กลับสร้างบ้านมั่นคง

‘ชาวบ้าน’ ร้อง กมธ. การมีส่วนร่วมปชช. หลังถูกอ้างทำประชามติสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมกทม. แต่กลับสร้างบ้านมั่นคง แฉถูกบังคับออมเงิน รื้อบ้านแต่ไม่ได้รับเงินเยียวยา

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 23 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนครองเปรมประชากร ในการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง

โดย นายณัฐชา กล่าวว่า มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 10,000 หลังคาเรือนในการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ยุค คสช. การก่อสร้างบ้านมั่นคงเป็นการเชิญชวนแนวบังคับให้เข้าสู่กระบวนการสหกรณ์ และมีการชำระเงินค่าก่อสร้างเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งไม่ใช่ทุกหลังคาเรือนจะสามารถจ่ายเงินจำนวนนี้ได้ หากไม่มีจ่ายก็จะยึดบ้านในโครงการนั้น นอกจากนี้ยังมีการนำมวลชนจากนอกพื้นที่เข้ามาสมัครเข้าโครงการในพื้นที่ เพื่อให้เหมือนกับว่ามีคนเข้ามามีส่วนรวมจำนวนมาก และมีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม คิดว่าปัญหาเหล่านี้ต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด โครงการภาครัฐใดๆ ก็แล้วแต่ ควรต้องได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ

Advertisement

ด้าน ตัวแทนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า รัฐมีการชักชวนชาวบ้านโดยบอกว่าจะมีการทำเขื่อนเพื่อไม่ให้น้ำท่วมกทม. ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางเรื่องการทำเขื่อน มีการนัดให้ชาวบ้านไปลงประชามติ แต่ภาพที่ออกมากลับกลายเป็นว่าชาวบ้านยินยอมให้สร้างบ้านมั่นคง จากที่เรามีบ้านอยู่โดยไม่มีหนี้แต่กลับสร้างหนี้ให้พวกเรา ทั้งยังรื้อบ้านหลังเก่าโดยไม่มีเงินเยียวยา แม้จะบอกว่ามีเงินช่วยเหลือเยียวยา 100,000 กว่าบาท ซึ่งความจริงแล้วประชาชนต้องกู้ถึง 360,000 บาทเพื่อสร้างบ้าน รวมกับดอกเบี้ย 20 ปีที่ต้องส่ง ทำให้รวมแล้วต้องเสีย 600,000 กว่าบาท หากใครไม่เข้าออมกับสหกรณ์ต้องออกจากพื้นที่ แต่สิ่งที่ชาวบ้านทุกคนต้องการคือเงินชดใช้ค่าเสียหายจากการรื้อบ้าน เรายินยอมให้พื้นที่แต่ภาครัฐต้องให้ความชัดเจนในเรื่องขั้นตอนการทำงานของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์ มีการเซ็นสัญญาเช่า 30 ปี หากไม่ต่อสัญญาเท่ากับว่าเราไม่เหลืออะไรเลย สิ่งนี้เรียกว่าโครงการบ้านมั่นคงหรือไม่ หากอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ ขอให้ลงมาทำข้อมูลกับประชาชนว่ามีความต้องการแค่ไหน ประชาชนมีรายได้เท่าไหร่และจะเข้าอยู่โครงการนี้ได้อย่างไร

นายณัฐชา กล่าวว่า กมธ.จะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาโดยเร็วที่สุดเพื่อบรรจุระเบียบวาระ ตนเน้นย้ำว่าโครงการของภาครัฐสร้างผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย และเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image