‘ภราดร’ ลั่น ภท.หนุนแก้ รธน. ม.256 และ 272 ย้ำ ผู้เล่นไม่ควรเขียนกติกาเอง

“ภราดร” ลั่น ภท.หนุนแก้ รธน. ม.256 และ 272 ย้ำ ผู้เล่นไม่ควรเขียนกติกาเอง แต่ควรให้ ปชช.ร่างกติกาให้นักการเมืองลงสนาม

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 23 มิภุนายน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า จุดยืนของ ภท.คือ เราตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด เรามักได้ยินเสียงสอบถามจากประชาชนมายังรัฐสภาว่า ประชาชนได้อะไรจากการแก้รัฐธรรมนูญ เราจึงพยายามตอบโจย์พี่น้องประชาชนโดยการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนให้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญที่เราได้เสนอไปเมื่อคราวก่อน โดยเราเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน แล้วให้ ส.ส.ร.ไปเขียนกติกาที่รับฟังความเห็นมาจากพี่น้องประชาชน แต่ร่างที่เราเสนอนั้นไม่ผ่านสภา จึงเป็นที่มาของร่างรัฐธรรมนูญอีก 3 ฉบับนี้ ที่เราร่วมลงชื่อกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยหลักคิด แนวคิดของพวกเราทั้ง 3 ร่าง ก็วนเวียนอยู่ที่เดิมนี่เองคือ จะตอบคำถามของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร เราเสนอร่างที่ 1 คือ ขอให้แก้ไขหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 55 เพิ่มเป็น 55/1 เรื่องหลักประกับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้ประชาชน และเพื่อช่วยเหลือคนจนให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

นายภราดรกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 เราเสนอแก้ไขมาตรา 65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ โจทย์ของตนไม่ได้สนใจว่ายุทธศาสตร์ชาติจะมีอยู่หรือไม่ ตนเห็นด้วยที่จะมีการวางแผน และวางรากฐานระยะยาวให้กับประเทศ แต่สิ่งที่ยังติดใจ คือ ท่านเขียนกว้างมากเกินไป สามารถเขียนให้เฉพาะเจาะจงกว่านี้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของพลวัตร ยุทธศาสตร์ควรจะเป็นอย่าง เราควรไปถามประชาชนว่าวันข้างหน้าเขาอยากเห็นประเทศเป็นอย่างไร เราต้องมาช่วยกันคิด การวางยุทธศาสตร์ชาติต้องวางให้รอบด้าน ไม่ใช่เพียงแค่ด้านความมั่นคงเท่านั้น ตนจึงขอชวนเพื่อนสมาชิกรับหลักการ ประเด็นที่ 3 เราเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะการจะทำให้ ส.ว.มาโหวตเห็นด้วย เป็นไปไม่ได้เลยที่จะชักชวนโดยการข่มขู่ เสียดสี หรือด่าทอ รังแต่จะนำมาซึ่งความพินาจ และความไม่สำเร็จในการเดินสู่เป้าหมาย แต่ทางที่ดีที่สุดคือต้องเอาเหตุและผลมาคุยกัน ตนจึงขอนำเสนอว่า ในรัฐธรรมนูญปี 60 ในตัวบทหลักไม่มีที่ให้วุฒิสภาเลือกนายกฯ แปลว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ตั้งใจให้วุฒิสภาเข้ามากำหนดตัวนายกฯ ตลอดกาล หรือตลอดอายุของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพียงแต่อยู่ในบทเฉพาะกาลเท่านั้น ซึ่งบทเฉพาะกาลกำหนดไว้เพียง 5 ปี อยู่ที่ว่า 2 เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา เพียงพอหรือยังกับการเปลี่ยนผ่าน และพอหรือยังสำหรับบทเฉพาะกาลที่ว่า ถ้าถามตน ตนก็ว่าเพียงพอแล้ว และถ้าถามประชาชนเขาก็คงบอกว่า เพียงพอแล้ว แต่ตนไม่แน่ใจกับคำตอบถ้าถามทางวุฒิสภา ดังนั้น พรุ่งนี้ (24 มิถุนายน) เราจะมีคำตอบร่วมกัน

นายภราดรกล่าวต่อว่า ประเด็นสุดท้าย เรื่องกติกาการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะกติกาใดก็แล้วแต่ บัตร 1 ใบ หรือ 2 ใบ จะแบ่งกี่เขต หรือจะคิดคะแนนแบบใด ตนเรียนว่า หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่พวกเรา ภท.เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับกติกา แต่เราในฐานะผู้เล่น เรามีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหนที่จะมาเขียนกติกาให้ตัวเองเล่น นี่คือสิ่งที่เราต้องถามตัวเอง การเขียนกติกาให้ตัวเองเล่นอดไม่ได้หรอกที่สังคมจะครหาว่า เป็นการเขียนกติกาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายการเมือง นักการเมือง และพรรคการเมือง พวกเรามีส่วนได้ส่วนเสียกับกติกา ดังนั้น เราจึงไม่สมควรที่จะมาเขียนกติกา เพื่อให้ตัวเองลงไปเล่น กติกาควรเขียนโดยกรรมการ ซึ่งกรรมการคือประชาชน ที่ต้องเขียนกติกาให้ผู้เล่นได้เล่น ดังนั้น ตนขอสรุปว่า ร่างใดก็ตามใน 13 ร่างที่เสนอมา หากเป็นร่างที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนโดยตรง เราพร้อมที่จะสนับสนุน แต่ร่างใดที่จะแก้ไขแล้วถูกครหาว่านักการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ตนขอไม่ร่วมแสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image