หน้า 3 วิเคราะห์ : ไฮไลต์ แก้ รธน. วุฒิสภา ล้ม 12 ร่าง ตีตกฉบับ พปชร.

หน้า 3 วิเคราะห์ : ไฮไลต์ แก้ รธน. วุฒิสภา ล้ม 12 ร่าง ตีตกฉบับ พปชร.

หน้า 3 วิเคราะห์ : ไฮไลต์ แก้ รธน. วุฒิสภา ล้ม 12 ร่าง ตีตกฉบับ พปชร.

ผลลงมติรัฐสภาในการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 ครั้งล่าสุด

จากจำนวน 13 ร่างที่มีพรรคพลังประชารัฐ พรรคฝ่ายค้าน และ 3 พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ

มีเพียง 1 ร่างที่ผ่านมาการพิจารณารับหลักการ

Advertisement

นั่นคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเนื้อหาแก้ไขให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ใบหนึ่ง เลือก ส.ส.เขต จำนวน 400 เขต

ใบหนึ่ง เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

Advertisement

ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 552 คะแนน แบ่งเป็น ส.ส. 342 คะแนน ส.ว. 210 คะแนน

ไม่รับหลักการ 24 คะแนน งดออกเสียง 130 คะแนน

ส่วนร่างอื่นๆ อีก 12 ร่างไม่ผ่านการพิจารณา

ในจำนวนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านวาระ 1 ของรัฐสภานี้ มีสาเหตุมาจาก ส.ว.ลงคะแนนสนับสนุนไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่

นั่นคือ ส.ว.โหวตสนับสนุนน้อยกว่า 84 เสียง

ทั้งนี้หากมองเฉพาะการโหวตให้ผ่านกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ พบว่าขณะนี้ รัฐสภามีสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 733 คน

ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือจำนวน 367 เสียง

พบว่าหลายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

หรือได้เสียงสนับสนุนเกินกว่า 367 เสียง

ได้แก่ ร่างที่ 2 : พรรคเพื่อไทย แก้ไขให้เพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน มีมติรับหลักการ 399 คะแนน ร่างที่ 3 : พรรคเพื่อไทย เสนอให้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ มีมติรับหลักการ 376 คะแนน ร่างที่ 4 : พรรคเพื่อไทย เสนอเปลี่ยนแปลงที่มานายกรัฐมนตรี มีมติรับหลักการ 455 คะแนน

ร่างที่ 6 : พรรคภูมิใจไทย เสนอปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 454 คะแนน ร่างที่ 7 : พรรคภูมิใจไทย เสนอเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 476 คะแนน

ร่างที่ 8 : พรรคประชาธิปัตย์ ให้เพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 469 คะแนน ร่างที่ 9 : พรรคประชาธิปัตย์-ตัดอำนาจ ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 415 คะแนน

ร่างที่ 10 : พรรคประชาธิปัตย์ ให้แก้การตรวจสอบ ป.ป.ช. ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 431 คะแนน ร่างที่ 11 : พรรคประชาธิปัตย์ เสนอปรับที่มานายกรัฐมนตรี ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 461 คะแนน

และร่างที่ 12 : พรรคประชาธิปัตย์-กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มติรับหลักการ 457 คะแนน

ส่วนรางที่ 1 : พรรคพลังประชารัฐ เสนอแก้ไข 5 ประเด็น 13 มาตรา มติรับหลักการ 334 คะแนน และร่างที่ 5 : พรรคเพื่อไทย-รื้อมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มติรับหลักการ 327 คะแนน ได้รับเสียงสนับสนุนต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง

การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีข้อน่าสังเกต คือ ปฏิกิริยาของวุฒิสภาต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ หรือร่างที่ 1 ที่เสนอโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน

สาเหตุที่วุฒิสภาไม่รับร่างเนื่องจากพรรคพลังประชารัฐเสนอแก้ไขให้เลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ และเสนอแก้ไขให้ปลดล็อกข้อห้าม ส.ส.มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณ และการแต่งตั้งของฝ่ายบริหาร

คือ แก้ไข มาตรา 144 และ มาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญปี 2560

วุฒิสภามองว่า การปลดล็อกดังกล่าวขัดต่อหลักการ “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”

ดังนั้น เมื่อร่างที่ 1 ไปผูกโยงการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบกับการแก้ไข ม.144 และ ม.185 เข้าด้วยกัน

ผลที่เกิดขึ้นคือ ส.ว. ไม่โหวตให้

ปฏิกิริยาของวุฒิสภาต่อร่างที่ 1 ทำให้นายไพบูลย์มีปฏิกิริยาตอบโต้

จากเดิมที่จะไม่อภิปรายสรุป เปลี่ยนเป็นขออภิปรายสรุปเพื่อแสดงเจตนารมณ์

เนื้อหาการอภิปรายสรุปจับใจความได้ว่า เคือง ส.ว.

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวเชิงลึกเพื่อตอบโต้ปฏิกิริยาของ ส.ว. ด้วยการสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องการตัดอำนาจ ส.ว.ทิ้ง

แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้การแก้ไขต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่

ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ว.ไม่สนับสนุน ย่อมไม่ผ่านการพิจารณา

ร่างที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐจึงร่วง

ควันหลงจากแนวปะทะที่รัฐสภาในวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือรอยร้าวระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว.

โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่มาจากการเลือกตั้ง กับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

นอกจากนี้ยังมีข้อคำถามถึงการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาโหวตรับหลักการ

เนื่องจากร่างที่ 13 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียง 2 มาตรา

หนึ่ง แก้ไข มาตรา 83 ให้ ส.ส.มีจำนวน 500 คน ระบบเขต 400 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน จากปัจจุบันที่ ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

หนึ่ง มาตรา 91 ยกเลิกวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของรัฐธรรมนูญ 2560 กลับไปใช้วิธีการคำนวณที่สอดคล้องกับรูปแบบบัตร 2 ใบ

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เกี่ยวเนื่องกับจำนวน ส.ส. และการเลือกตั้งมีมาตราอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย

กลายเป็นข้อสงสัยว่า หากแก้ไข 2 มาตรานี้ แล้วมาตราอื่นๆ จะทำอย่างไร

จะเดินหน้า หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือร้องถามศาลรัฐธรรมนูญ

การผ่านร่างที่ 13 ดังกล่าวจึงไม่แน่ว่าจะได้สำเร็จ

เมื่อมองสถานการณ์โดยรวมที่ประเทศยังดิ้นไม่หลุดจากบ่วงโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดประมาณการจีดีพีลงไปต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งมองเห็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มิได้มีเพียงนักเรียนนิสิตนักศึกษา หากแต่กลุ่มพลังมวลชนในอดีตทั้งเหลืองทั้งแดงเริ่มมีทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ขับไล่รัฐบาล

ยิ่งมองเห็นรอยร้าวภายในพรรคพลังประชารัฐ รอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และล่าสุดคือรอยร้าวระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว.

ยิ่งมองเห็นความเปราะบางของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความเปราะบางที่พร้อมทำให้รัฐบาลพังพาบลงไปเมื่อไหร่ก็ได้

สถานการณ์เช่นนี้ ประมาทไม่ได้ เพราะอะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image