บทนำ : หนทางของ‘รธน.’

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ในประเด็นต่างๆ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพียง 1 ฉบับ คือร่างแก้ไขฉบับที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้เสียงเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ทำให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขได้ยากกว่าปกติ และให้ความสำคัญกับ ส.ว.จากการแต่งตั้งมากกว่า ส.ส.จากการเลือกตั้ง เพราะร่างแก้ไข 11 ฉบับ ได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่ง แต่ก็ตกไป และจาก 11 ฉบับที่ตกไป มีถึง 9 ฉบับที่ตัวเลขรับหลักการท่วมท้น ระหว่าง 399 ถึง 476 คะแนน แต่เพราะ ส.ว.ไม่ได้ลงคะแนนเห็นชอบตามที่กำหนดในมาตรา 256 (3) จึงต้องตกไปด้วยอย่างน่าเสียดาย

ส่วนร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านความเห็นชอบมาเพียงฉบับเดียว ก็ยังมีปัญหาอีก เพราะมีผู้หยิบยกว่าเป็นการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น ปรากฏว่าไม่ได้เสนอแก้ไขมาตราต่างๆ ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ให้มีเนื้อความตรงกับมาตราที่ขอแก้ไขในร่างอย่างครบถ้วน ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนระบุว่า เห็นว่ามีผลทำให้ร่างดังกล่าวไม่สมบูรณ์ เมื่อไม่สมบูรณ์ก็ต้องมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เช่น ปรับเพิ่มเติม แก้หรือบัญญัติเพิ่มได้หรือไม่ ทั้งนี้ รู้สึกหนักใจเพราะมองว่าร่างแก้ไขดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ขัดกับรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายแล้ว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจตกหมดทั้ง 13 ฉบับ หนทางต่อไป หรือทางออกในเรื่องนี้ วิธีหนึ่ง คือต้องใช้ช่องทางของ ร่าง พ.ร.บ.การลงประชามติฯ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอโปรดเกล้าฯ ก่อนมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากมีการเสนอขอให้จัดทำประชามติ ขอความเห็นชอบ หรือประชามติจากประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อันเป็นวิธีการที่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ส.ที่ได้ร่วมกันลงมติเห็นชอบการปิดสวิตช์ ส.ว.อย่างท่วมท้นมาแล้ว น่าจะผนึกกำลังกัน สนับสนุนให้เกิดการทำประชามติ ในบรรยากาศที่เปิดกว้าง ให้ทุกฝ่ายได้แสดงทรรศนะ และข้อมูลต่อสังคมเพื่อประกอบการพิจารณาลงประชามติ โอกาสที่จะได้เห็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนก็ยังมีอยู่ แม้จะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image