นักวิชาการชี้ผลโหวตร่างแก้รธน. มองไม่เห็นประโยชน์ในวาระ2-3

นักวิชาการชี้ผลโหวตร่างแก้รธน. มองไม่เห็นประโยชน์ในวาระ2-3

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวกรณีผลการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีเพียงร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โหวตรับหลักการเพียงร่างเดียวว่า รัฐสภาถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยแบบไทยๆ โดยสมบูรณ์ เป็นรัฐสภาที่ไม่ยึดโยงกับหลักการสากลที่ให้เสียงของประชาชนเป็นใหญ่ เหตุที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะเมื่อพิจารณาร่างทั้ง 13 ฉบับ มีเพียงฉบับที่เสนอโดยปชป.ที่ผ่านเงื่อนไข ให้อำนาจกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ปิดสวิตซ์ ยุติร่าง หรือกล่าวง่ายๆ ดับฝันกระบวนการสร้างและรับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

“ผมเชื่อว่าการพูดคุยของรัฐสภาและการอภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา แม้จะเห็นชอบในหลักการของที่มาของ ส.ส. ผ่านระบบการเลือกตั้ง 2 ใบทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อนั้น จะไม่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมือง และมองไม่เห็นประโยชน์ของการประชุมในวาระที่ 2 และ 3 ในอนาคต เพราะหลักใหญ่ใจความที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นั้นไม่ถูกหยิบยกมาแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งในประเด็นที่มาและอำนาจของ ส.ว. ประเด็นสิทธิเสรีภาพ รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากภาคประชาชนหลายฉบับก็ไม่ถูกนำมาพิจารณาหรือบรรจุด้วย การปิดประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและเปิดโอกาสให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างกฏหมายใหม่สูงสุดของประเทศไม่เกิดขึ้น จึงทำให้อนาคตการเมืองไทยเป็นอนาคตที่ไม่เห็นอนาคต เป็นประชาธิปไตยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

“ผมเชื่อว่าแนวทางที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนคือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวาระที่สำคัญของชาติผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง สัดส่วนหลักต้องมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ในระดับจังหวัด แต่ละจังหวัดอาจมีสมาชิกตามสัดส่วนประชากร ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละจังหวัดจะรวบรวมข้อคิดเห็นภายในพื้นที่ของตนเพื่อเป็นผู้แทน ส.ส.ร. ในระดับชาติ ทั้งนี้อาจพิจารณาให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถให้ข้อมูลในเชิงความต้องการของพื้นที่ ความถูกต้องตามหลักวิชา สามารถสะท้อนบริบทของแต่ละกลุ่มทางสังคม แต่ทั้งนี้ต้องมีสัดส่วนน้อยกว่าสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้การร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ส.ส.ร.อาจมีความซับซ้อน ใช้เวลายาวนาน ประเด็นมีความหลากหลาย แต่กระบวนการร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศที่เป็นธรรมจะช่วยป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม” ดร.ปิยณัฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image