‘คนกลางคืน’ บุกสภา ขอเยียวยาอย่างเท่าเทียม เดือนละ 5 พันจนกว่าร้านจะเปิด

‘คนกลางคืน’ บุกสภา ขอเยียวยาอย่างเท่าเทียม เดือนละ 5 พันจนกว่าร้านจะเปิด

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 มิถุนายน ที่รัฐสภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ตัวแทนพนักงานบริการในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ ยื่นหนังสือถึง นายธัญวัจน์​ กมลวงศ์วัฒน์​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)​ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการ เนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการตามมาตรการของรัฐและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทต่อเดือน จนกว่าสถานการณ์จะสามารถกลับมาเปิดร้านตามปกติ

ด้าน นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักเคลื่อนไหวเพื่อกลุ่มเพศหลากหลาย (LGBTQ+) กล่าวว่า เมื่อมีการสั่งปิดสถานบริการทางเพศ สถานบริการร้านนวด และสปา ต่างๆ ทุกคนต้องดูแลตัวเองเป็นเวลาเกือบ 2 ปี โดยที่ผ่านมา ต้องใช้เงินที่สะสมมาใช้จ่าย ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังมีเท่าเดิม บางคนต้องมารวมตัวกันนอนที่ร้านนวดเพื่อลดค่าใช้จ่าย พนักงานบริการอย่างพวกเราสร้างรายได้ให้กับประเทศนี้อย่างมาก ภาษีที่เราจ่ายก็คือเงินเดือนที่จ่ายให้ ส.ส. และรัฐบาล พอถึงจุดวิกฤตทำไมถึงไม่ได้รับการเยียวยาเท่ากับผู้อื่น

ตัวแทนจากธุรกิจอะโกโก้ กล่าวว่า สิ่งที่เราพยายามจะพูดคือเราเดือดร้อนจริงๆ ตอนนี้เกินเลยคำว่าเยียวยามาแล้ว เพราะนี่คือการระบาดในระลอกที่ 3 แล้ว รัฐบาลมีเวลาในการทำงานดูแลประชาชน ฉะนั้นไม่น่าใช้คำว่าถึงเวลา แต่ตอนนี้รัฐบาลต้องทำอะไรแล้ว ข้อเรียกร้องของเรามีเพียงข้อเดียวคือขอเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทจนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดได้ตามปกติ โดยขอเป็นรูปแบบของเงิน เพราะสามารถนำไปใช้ได้จริง และขอให้รัฐบาลเยียวยาอย่างเร่งด่วนที่สุด

Advertisement

ขณะที่ นายสุเทพ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้คือความลำบากของพี่น้องแรงงานไทยทั่วประเทศ การบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลซึ่งจะเข้าปีที่ 2 แล้วคนเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยาที่เป็นระบบ แต่ผู้บริหารยังมาหัวร่อต่อกระซิกในการแถลงข่าว เป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดของประชาชน ตนในฐานะประธาน กมธ.แรงงาน ยินดีรับเรื่องและจะรีบผลักดันในการที่จะให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชนบ้าง

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ความเป็นความตายของพนักงานเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดโดยตรง ดังนั้นตนเห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวแทนมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ได้พูดว่า นี่จะไม่ใช่แค่การเยียวยาแต่คือการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ความผิดที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อแต่ต้องมารับกรรม แน่นอนว่าการเยียวยาเป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น เพราะตราบใดที่คนเหล่านี้ยังไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ อย่าว่าแต่เป็นแรงงานในระบบให้พวกเขาไปสมัครมาตรา 40 เป็นแรงงานนอกระบบก็ยังทำไม่ได้ ด้วยสถานะที่ไม่อยู่จริงในระบบกฎหมายของประเทศนี้ โดยในระยะต่อไปตนคิดว่านายธัญวัจน์ ในฐานะประธานอนุ กมธ. ที่ศึกษาเรื่องของการทำให้พนักงานบริการถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ในระยะกลางและระยะยาวต่อไป ให้พวกเขาได้มีที่ยืนในสังคมให้สมกับที่พวกเขาเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศนี้มาอย่างยาวนาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image