เดินหน้าชน : แก้รธน.สุดเอื้อม

หากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล รวมไปถึงมวลชนบางกลุ่มเห็นว่ามีปัญหาในหลายแง่มุมจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

ฉากการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็เสมอเพียงแค่เลาะเปลือกผิวไม่ได้เจาะถึงในกลางสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นผลไม้พิษ

จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ อันประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ พรรคเพื่อไทย 4 ฉบับ พรรคภูมิใจไทย 2 ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ 6 ฉบับ

สามารถผ่านเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเพียงฉบับเดียว

Advertisement

และผ่านกติการัฐธรรมนูญที่ต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3

หรือ 84 เสียง เป็นของพรรคประชาธิปัตย์

คือเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีมติรับหลักการ 552 คะแนน จากที่มี ส.ส.และ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 733 คน แบ่งเป็นส.ส. 342 คะแนน วุฒิสมาชิก 210 คะแนน

Advertisement

แม้แต่ร่างของพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล ที่ถือว่า “คนกันเอง” ก็ยังไม่รอดจากการถูก ส.ว.ตีตก ชนิดผิดคาดท่านผู้ชม

ห่างไกลจากเป้าหมายรื้อมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อยกร่างรัฐธรรมฉบับใหม่

หรือแม้แต่ปิดสวิตช์ ส.ว.ก็ไม่สามารถเข้าไปแตะต้อง

เส้นทางที่จะพอไปต่อได้ของฝ่ายต้องการยกเครื่องกฎหมายสูงสุดก็คืออาศัย พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาไปเมื่อ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ไปขอฉันทานุมัติจากประชาชนว่าเห็นด้วยกับการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

มี 3 ช่องทางให้เดินคือ การเสนอทำประชามติโดยคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และภาคประชาชนร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อ

ในช่องทางแรกน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะสำหรับพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงสร้างข้อได้เปรียบในทางการเมือง ถึงขนาด
มีวลีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ถูกออกแบบมาเพื่อเรา”

ช่องที่สอง อาศัยมติของรัฐสภาเป็นผู้เสนอและส่งให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้จัดฟังเสียงประชาชน อาจยังมีปัญหาเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 156 ว่าด้วยการประชุมร่วมของรัฐสภาไม่ได้มีข้อบัญญัติให้
ส.ส.-ส.ว.ประชุมร่วมในญัตติทำประชามติ

หมายความว่า แต่ละฝ่ายต่างไปประชุมลงมติกันเอง

กรณีสภาผู้แทนราษฎรสามารถสร้างความเห็นพ้อง มีมติเห็นด้วยกับการทำประชามติด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง

หากที่ประชุมในซีกวุฒิสภาให้ความเห็นชอบไม่ถึงครึ่ง

ข้อเสนอทำประชามติก็ไปไม่ถึงรัฐบาล

ยิ่งเมื่อตรวจสอบท่าทีตลอดมาของ ส.ว.สวนใหญ่ต่อประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยการแก้ไขมาตรา 256 ที่ออกมาในทางลบ หรือเข้าทำนองเดียวกับการประชุมพิจารณาร่างแก้ไข 13 ฉบับ เมื่อ 23-24 มิถุนายน

ก็พอจะคาดเดาได้ว่า การไปขอฟังเสียงประชาชน (ที่อาจจะสุ่มเสี่ยงไม่ตรงกับจุดยืนของ ส.ว.) ก็แทบเลิกคิดกันเลยทีเดียว

ในที่สุดจึงน่าจะเหลือช่องทางสุดท้าย ตัดสินกันที่ภาคประชาชนร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อเพื่อเปิดประตู “ประชามติ”

เช่นนั้นคงได้เห็นความเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาการชุมนุมรณรงค์บนท้องถนน พร้อมด้วยข้อเรียกร้องในมิติอื่นๆ ถี่บ่อยขึ้น

ขณะนี้ก็ได้เห็นสัญญาณเริ่มกันบ้างแล้ว จะร้อนแรงแค่ไหน ต้องติดตาม

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image