รายงานหน้า 2 : ส่องวิกฤต‘หนี้ครู’ ‘ลงลึกให้ถึงราก’

รายงานหน้า 2 : ส่องวิกฤต‘หนี้ครู’ ‘ลงลึกให้ถึงราก’

รายงานหน้า 2 : ส่องวิกฤต‘หนี้ครู’ ‘ลงลึกให้ถึงราก’

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้ามาดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูโดยเฉพาะ

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

รายงานหน้า 2 : ส่องวิกฤต‘หนี้ครู’ ‘ลงลึกให้ถึงราก’

Advertisement

ปัญหารายได้ต่ำของครู ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิ่งที่สำคัญภายใต้ข้อจำกัดอันนี้ คือ ในระยะสั้น ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นก่อน เพื่อแก้ปัญหากับที่ประสบเจออยู่ ต่อมาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกคนอยากให้ครูมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยให้มีการปรับเงินเดือนครูขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณของภาครัฐ แต่ว่าก็ต้องมีการทำคู่ขนานกับการปรับคุณภาพของครู ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการปฏิรูปการศึกษา เป็นแผนในระยะกลางถึงยาว

การปรับโครงสร้างตรงนี้ไม่ใช่แค่ที่ครูอย่างเดียว ครูเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน จะต้องมีการเปลี่ยนการเรียนการสอน แม้ว่าครูได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ไปสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ต้องมีการปรับคุณภาพการศึกษาควบคู่กันไปด้วย แทนที่จะสอนกันอย่างทุกวันนี้ ก็ให้เปลี่ยนเป็นการเสริมสร้างให้นักเรียน เรียนเพื่อให้ค้นพบพรสวรรค์ (Talent) ของตนเอง เพราะมนุษย์ทุกคนมีความฉลาดกันทุกคน

การศึกษาที่ดี คือ การให้ครูสอนนักเรียนให้ค้นพบความฉลาดของตนเอง เมื่อนักเรียนค้นพบตัวเองเจอ รู้ถึงศักยภาพตนเอง หน้าที่ของครูจะต้องพยายามสร้างลักษณะการศึกษาให้นักเรียนค้นพบตัวเองให้เจอ เหมือนการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียน นำมาใช้ และมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ก็จะตอบสนองต่อประเด็นปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ ไม่อยากให้แก้ปัญหารายได้ต่ำของครูอย่างเดียว สิ่งที่ทำต้องเป็นการแก้ปัญหาแบบองค์รวม ปฏิรูปคุณภาพครู ปฏิรูปคุณภาพการศึกษา เพื่อที่จะให้การศึกษาไปพัฒนาขีดความสามารถของนักเรียน

Advertisement

อาจจะมีความจำเป็นในการแปรรูปองค์กรของโรงเรียน เหมือนกับการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ การพัฒนาในต่างประเทศมีการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน ในกรณีการพัฒนาคุณภาพครู อาจจะหมายถึงการส่งเสริมการขยายตัวของโรงเรียนเอกชน ไม่ใช่การเปิดโรงเรียนเอกชนอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นการเปิดโรงเรียนเอกชนอย่างมีคุณภาพ เพื่อที่จะรองรับรายได้ของครูที่มาตรงนี้จะมีรายได้ที่สูงขึ้น และเป็นการลดข้อจำกัดของงบประมาณภาครัฐ ก็อาจจะมีการต่อต้านจากข้าราชการครู เหมือนกับตอนที่ให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ในที่สุดก็มีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแทน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยเสริมรายได้ของครู และเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน โดยต้องทำเป็นแบบองค์รวมทั้งหมด มิเช่นนั้นปัญหาก็ไม่จบ

พอเงินเดือนครูขึ้นมาแต่คุณภาพของครูไม่ได้ดีตาม ก็ไปมีผลกระทบต่อเรื่องการศึกษา เรื่องงบประมาณ ต้องมีการทำอย่างครบวงจร เป้าหมายที่จะขึ้นเงินเดือนครู ต้องโยงไปถึงการพัฒนาขีดความสามารถของครู ของระบบการศึกษา ของนักเรียน ต้องมองประเด็นเชื่อมโยงกัน เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคขึ้นมา ทำให้การศึกษาเปลี่ยน นักเรียน นักศึกษา จะมีความสามารถไม่เท่ากับเด็กสมัยก่อน เพราะเน้นเรียนทางออนไลน์ ต้องมีความพยายามให้ครูมีความใกล้ชิดกับผู้ปกครอง แล้วก็ต้องพยายามช่วยเพิ่มรายได้ของครูด้วยการสอนเสริม เหมือนกับต่างประเทศที่มีกองทุนช่วยติวนักเรียนที่เรียนช้า ให้ครูช่วยติวในเรื่องต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้ตามทันการเรียนได้ทัน อีกส่วนหนึ่งคือให้การใช้ออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้วย ถ้าทำได้ดีจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เด็กสามารถใช้คอมพิวเตอร์เข้าถึงการศึกษาได้ ซึ่งก็ควรมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยแก้ปัญหาการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เหมือนอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการทำอย่างทั่วถึง

อดิศร เนาวนนท์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

รายงานหน้า 2 : ส่องวิกฤต‘หนี้ครู’ ‘ลงลึกให้ถึงราก’

ตนเองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหานี้สินครู ตามกระบวนการของรัฐสภา การดำเนินการของ กมธ.ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และธนาคารออมสิน เป็นต้น มาให้ข้อมูล ทำให้รู้ที่มาของแหล่งเงินกู้ของครู และต้นเหตุของปัญหาแล้ว ผลที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยแท้จริงต้องอยู่ที่รัฐบาล แม้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากหนี้สินครูมีจำนวนมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท อีกทั้งการจะโฟกัสมาแก้ไขเฉพาะปัญหาหนี้สินครู ซึ่งเป็นข้าราชการกลุ่มเดียว ทำให้มีคำถามขึ้นว่าข้าราชการอื่นๆ ก็มีหนี้สินเหมือนกัน คนที่สร้างหนี้เหตุใดไม่แก้ปัญหาเอง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อเปรียบเทียบดังกล่าว ตนเองอยากเสนอแนวทาง 3 ข้อ คือ 1.ต้องแยกครูที่เป็นหนี้สินและส่งผลกระทบต่อหน้าที่การจัดการเรียนการสอน มีผลกระทบต่อเด็กนักเรียน ดึงตัวเลขออกมาแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มนี้ก่อน อย่าไปแก้ปัญหาทั้งระบบ เพราะมันใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้ในระยะเวลา 6 เดือน 2.วางแนวทางป้องกันไม่ให้ครูเข้ามาสู่วงจรก่อหนี้สิน เพราะครูส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีพื้นฐานในการจัดการบริหารการเงิน ทางรัฐบาลต้องมีระบบหรือกลไกช่วยเหลือ เช่น มีระบบสวัสดิการที่ดี มีบ้านพักครูลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น และ 3.ต้องสร้างค่านิยม การมีวินัยทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยที่เกินตัว

ทนงศักดิ์ วังสงค์
ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จํากัด

รายงานหน้า 2 : ส่องวิกฤต‘หนี้ครู’ ‘ลงลึกให้ถึงราก’

ภาระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น อัตราการส่งชำระหนี้เป็นปกติ ยังหักได้ตามปกติ ซึ่งดูเรตที่ขึ้น ยังสามารถหักชำระหนี้ได้ ซึ่งครูมีวินัยในการชำระหนี้ทางสหกรณ์อย่างดี โดยในห้วงการกู้ของครูในจังหวัดขอนแก่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีการปล่อยให้ครูกู้ตามปกติ แต่อยู่ในกรอบของระเบียบและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกู้ ซึ่งทางสหกรณ์มีระเบียบและกฎเกณฑ์ที่รอบคอบมากขึ้น ที่จะปล่อยให้กู้ในช่วงนี้ ไม่ได้มีการปล่อยให้ครูกู้ง่ายๆ เราต้องดูหลักเกณฑ์ประกอบในเรื่องของเงินเดือน ที่จะต้องคงเหลือ 30% ที่ทางคณะกรรมการได้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ สำหรับอัตราการกู้ช่วงก่อนโควิดระบาดและช่วงนี้ไม่ได้มีความแตกต่างกัน

ตอนนี้จำนวนสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่กู้ต่อเดือนประมาณ 600-800 ราย จากสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีทั้งหมด กว่า 19,000 ราย ก็ถือว่าจำนวนสมาชิกที่กู้ต่อเดือนหนึ่งไม่ได้มาก ตอนนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นสภาพคล่องค่อนข้างเยอะ มีสมาชิกเอาเงินเข้ามาฝากเยอะขึ้น ตอนนี้เงินสภาพคล่องเยอะมาก ถึงจะมีสมาชิกมากู้จำนวนที่เยอะขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก็สามารถปล่อยกู้ได้ไม่มีปัญหา ซึ่งตอนนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยังไม่ได้ไปกู้สถาบันการเงินใดๆ เราใช้เฉพาะเงินฝากของสมาชิกเราในการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ตอนนี้สมาชิกนำเงินมาฝากก็สามารถที่จะดำเนินปล่อยสินเชื่อให้กับคณะครูได้ สำหรับวงเงินกู้ในส่วนของสามัญอยู่ที่ 3 ล้านบาท และสามัญสวัสดิการ 1 ล้านบาท รวมแล้ววงเงินกู้ต่อราย อยู่ที่ 4 ล้านบาทต่อคน วงเงินสำหรับปล่อยกู้ให้สมาชิกรวมทั้งสิ้น 28,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ

สงวน ศรีสวัสดิ์
ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครู แม่ฮ่องสอน จำกัด

รายงานหน้า 2 : ส่องวิกฤต‘หนี้ครู’ ‘ลงลึกให้ถึงราก’

สหกรณ์ได้ดำเนินการช่วยเหลือสมาชิกในช่วงโควิดระบาด โดยปรับโครงสร้างหนี้และขยายเวลาชำระหนี้ตามสัดส่วนวงเงินกู้ พร้อมปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้จาก 7% เหลือ 6% ต่อปี ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 3,000 คน มีหุ้นลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาท วงเงินกู้ รวมกว่า 3,000 ล้านบาท และเงินฝากอีก 1,400 ล้านบาท ฐานะการเงินของสหกรณ์มีสภาพคล่องสูง และมีเงินล้นในระบบ เนื่องจากครูกู้น้อย แต่ฝากเงินเพิ่ม หากกู้เงินเพื่อสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือลงทุนอื่นให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนใหญ่กู้เต็มเพดาน แต่ไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สูญหรือไม่ชำระหนี้ มีบางรายที่ขอขยายเวลาชำระหนี้เท่านั้น ทำให้สหกรณ์มีเงินเหลือหรือเงินฝากในธนาคารพาณิชย์มาก แต่ไม่นำไปลงทุนในกิจการอื่น เพราะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงโควิดระบาด เพื่อรักษาผลประโยชน์สมาชิกให้มากที่สุด ด้านสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา สหกรณ์ได้วางระบบจัดสรรอย่างครบวงจร อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าสงเคราะห์ศพ ทุนการศึกษาบุตรหลาน และสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะ อาทิ งานวันเด็ก งานบำรุงพระพุทธศาสนา งานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น หรืองานบวชของสมาชิก โดยยึดหลักสามัคคี ปรองดอง ไม่แบ่งฝ่าย และสมานฉันท์ เนื่องจากแม่ฮ่องสอน มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งสหกรณ์ได้ส่งเสริมการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เพื่อฟื้นฟูและรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและชุมชนดั้งเดิมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image