เศรษฐา เขียนบทความเตือน ไอเดียให้รัฐแทรกแซง-ห้ามส่งออกวัคซีน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เศรษฐา ทวีสิน เขียนบทความเตือน ใช้กลไกรัฐแทรกแซง ห้ามส่งออกวัคซีน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หวั่นกระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แนะรัฐบาลมองทางเลือกในการแก้ปัญหาวัคซีนขาดด้วยวิธีอื่นก่อน

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง เขียนบทความเรื่อง ห้ามส่งออกวัคซีน: ความละเอียดอ่อนของการแก้ปัญหาวิธีนี้ แสดงความเห็นกรณี ปัญหาการผลิตวัคซีนในไทย และประเด็นการส่งออก โดย ระบุว่า

วันนี้ (2 กรกฎาคม) นั่งอ่านคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทยในหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเรื่องของการห้ามส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในไทยแล้วผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับแนวทางนี้ที่อาจจะถูกมองว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องวัคซีนของรัฐบาล

จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับที่หลายๆ ฝ่ายพยายามช่วยกันคิดและเสนอแนะทางออกให้กับท่านนายกฯ ด้วยความประสงค์ดีกันทุกคน แต่ด้วยความเคารพครับ ผมรู้สึกว่าการแก้ปัญหาวัคซีนในขณะนี้ต้องมองในหลายๆ แง่มุมและนัยยะของทางออกทั้งในระยะสั้น ระยะยาวไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นผมขออนุญาติแสดงความเห็นที่ต่างจากข้อเสนอแนะดังกล่าว

Advertisement

เป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีนยี่ห้อนี้ บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ได้ลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก แอสตราเซเนกา เมื่อปีที่แล้วเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าหมายผลิตวัคซีนโควิด-19 จำนวน 200 ล้านโดสต่อปี ซึ่งจะปันส่วนวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสไว้ใช้ภายในประเทศปีนี้ และส่งที่เหลือไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทีนี้เมื่อหลายๆ ฝ่ายเริ่มวิตกกังวลกับการนำส่งวัคซีนให้ประเทศไทยจะไม่เป็นไปตามแผน และเริ่มมีแรงกดดันให้รัฐบาลพิจารณาใช้อำนาจฉุกเฉินผ่าน พรบ. ความมั่นคง“กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วนการใช้วัคซีนภายในประเทศ” หรือตีความกันตรงๆ ก็คือสั่งระงับการส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในไทยชั่วคราว และให้แอสตราเซเนกาส่งมอบวัคซีนให้ไทยครบตามสัญญาทุกเดือนก่อน จึงอนุญาตให้ส่งออกวัคซีนที่เหลือ

ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าของกลไกการจ้างผลิตและการนำส่งวัคซีนแล้ว เมื่อทางแอสตราเซเนกาตัดสินใจที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและจ้างทางสยาม ไบโอไซนส์ เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ทางแอสตราฯ ในฐานะผู้จ้างผลิตย่อมมีพันธะผูกผันในการที่จะนำส่งวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่มีความต้องการผ่านการสั่งซื้อเช่นเดียวกับประเทศไทยเรา จะเป็นล็อตที่มาจากการผลิตของสยาม ไบโอเซนส์ หรือจากที่อื่นก็ตามแต่ เป็นหน้าที่ของทางแอสตราฯ ต้องไปจัดการ

Advertisement

การที่เราจะใช้อำนาจทางกฎหมายบีบบังคับห้ามมิให้ส่งออกหรือจำกัดจำนวนการส่งออกวัคซีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้แผนการฉีดวัคซีนของประเทศเพื่อนบ้านของเรากระทบไปด้วย ซึ่งผมคิดว่ามีความละเอียดอ่อนในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งจุดยืนของประเทศไทยในสายตาเพื่อนบ้านและประชาคมภูมิภาคนี้ เนื่องจากเรากำลังพิจารณาใช้กลไกของรัฐเข้าไปแทรกแซงธุรกรรมและพันธะสัญญาระหว่างประเทศอื่นกับผู้ผลิตวัคซีนรายนี้โดยตรง ซึ่งทั้งมาเลเซียและฟิลิปปินส์สองประเทศในอาเซียน รวมถึงไต้หวันออกมาร้องเรียนว่าไม่ได้รับวัคซีนจากทางแอสตราฯ ตามที่กำหนดและยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเมื่อไหร่

จะเห็นว่าการแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลนนี้ นับวันยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศเราอย่างเดียวแล้วแต่อาจกลายเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงไประดับภูมิภาคได้ ผมยังอยากเสนอให้ทางรัฐบาลมองทางเลือกในการแก้ปัญหาวัคซีนขาดด้วยวิธีอื่นก่อน กลับไปเรื่องเดิม คือความพยายามจัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือกอื่นมาให้ประชาชนก่อนก็เป็นสิ่งที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่องถ้าหากทราบอยู่แล้วว่ายังไงวัคซีนก็ยังมีมาไม่พอ กลับไปแก้ปมแรกก่อน อย่าเพิ่งผูกปมใหม่ที่อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมระยะยาวครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image