วิเคราะห์หน้า 3 : ครึ่งเทอมหลัง รบ. ทางลง บิ๊กตู่ ในโควิด รอบ 4

วิเคราะห์หน้า 3 : ครึ่งเทอมหลัง รบ. ทางลง บิ๊กตู่ ในโควิด รอบ 4

วิเคราะห์หน้า 3 : ครึ่งเทอมหลัง รบ. ทางลง บิ๊กตู่ ในโควิด รอบ 4

ตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นจากวันละ 5 พันขึ้นไปทะลุวันละ 6 พัน และคาดการณ์ว่าอาจจะถึงวันละหมื่นคนนั้น สะท้อนว่าสถานการณ์การระบาดยังหนักหน่วง

ตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้เตียงรักษาไม่เพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ จากต่ำกว่าครึ่งร้อยเป็นสูงกว่าครึ่งร้อย

และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังทะยานขึ้นทะลุ 60 คน

Advertisement

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำความวิกฤต และในสถานการณ์วิกฤตนี้ต้องการผู้นำที่มีฝีมือในการบริหาร

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะถูกไล่

แม้รัฐบาลกำลังเปิดประเทศในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” มีนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้าประเทศเพื่อมาพักผ่อน ซึ่งประเมินว่าหากเป็นเช่นนี้ 3 เดือนประเทศไทยจะมีเงินสะพัด 1.5 หมื่นล้าน ซึ่งฟังดูดี

แต่เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด และจำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ลดน้อยลง

ข่าวคราวเกี่ยวกับการระบาดย่อมกลบข่าวคราวเปิดประเทศ

และเป้าหมายที่ถูกโจมตี ย่อมหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์

เสียงก่นด่ารัฐบาลดังขึ้นมากเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน หลังจากที่คำสั่งห้ามกินในร้านในพื้นที่ 6 จังหวัดสีแดงเข้มประกาศออกมาแบบกระชั้น

รู้ตัววันที่ 27 มิถุนายน ห้ามกินในร้านวันที่ 28 มิถุนายน บรรดาร้านค้าที่ซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารต่างพร้อมใจกันด่ารัฐบาล

เปรียบเทียบกับคำสั่งปิดแคมป์คนงานที่บอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ผึ้งแตกรัง” กระจายเชื้อไปยังท้องถิ่น โดยให้แต่ละจังหวัดรับมือ

หลังจากนั้นทุกความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตกเป็นเป้าสายตา

ภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ชูสองนิ้วท่ามกลางกลุ่มอาจารย์หมอ คลิปที่ถ่ายทอดเสียงหัวเราะของผู้นำออกมา ได้กระตุ้นความรู้สึกเกลียดชังให้เกิดขึ้น

ภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะพักผ่อนริมทะเลในช่วงที่เดินทางไปต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จังหวัดภูเก็ต กระตุ้นให้ความเกลียดชังผุดขึ้นมาอีกครั้ง

คำตอบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการที่เดือดร้อน ด้วยวาทะ “ช่วยทุกกลุ่มไปหมดแล้ว จะเอาอะไรอีก”

ได้โหมให้ผู้ได้รับผลกระทบเกลียดโกรธรัฐบาล

วิกฤตการณ์ที่เกิดจากโรคโควิด-19 ได้ขยายตัวจากระบาดระลอก 3 เข้าสู่การระบาดรอบ 4 ซึ่งแม้ทางวิชาการการระบาดรอบ 4 ต้องเกิดจากการระบาดเชื้อใหม่คือสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดียทั้งหมด

แต่ด้วยสถานการณ์เช่นที่ปรากฏก็ยอมรับกันแล้วว่า ไทยเข้าสู่การระบาดรอบที่ 4 แล้ว

ผลจากการเข้าสู่การระบาดรอบที่ 4 ได้ส่งผลกระทบทุกด้าน เนื่องจากสายพันธุ์เดลต้ามีความสามารถในการระบาดเร็ว และมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

ดังนั้น กลุ่มแพทย์จึงเริ่มออกมาส่งเสียง

เพจเฟซบุ๊ก “ชมรมแพทย์ชนบท” โพสต์ข้อเสนอชมรมแพทย์ชนบทฉบับที่ 2 ว่า วัคซีนต้องมีให้ฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส ประเทศไทยจึงจะรอด

ตามแผนเดิมรัฐบาลจะได้แอสตร้าเซนเนก้า เดือนละ 10 ล้านโดส และซิโนแวค 3-5 ล้านโดส รวมเป็น 13-15 ล้านโดส แต่มาวันนี้ แอสตร้าฯส่งมอบให้รัฐบาลไทยได้เพียงเดือนละ 4 ล้านโดส ส่วนซิโนแวคนั้นมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัคซีนตัวอื่น

ต่อมา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดย นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงจุดยืน 5 ข้อ

ทุกข้อเกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่มีหน้าที่จัดหา กระจายการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์

เช่นเดียวกับสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เสนอให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีน mRNA มาทดแทนวัคซีนซิโนแวค

เหตุเพราะวัคซีนที่ฉีดกันอยู่ไม่สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยความวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาสนใจเรื่องการยับยั้งการระบาด และการแสวงหาวัคซีนเข้ามาฉีดให้ทันต่อการแพร่กระจาย

ทั้งนี้ การนำเข้าและการกระจายการฉีดวัคซีนในห้วงสถานการณ์วิกฤต ย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารงานของรัฐบาล

ดังนั้น นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล จะเป็นเป้าสายตาของกลุ่มผู้ประกอบการแล้ว

รัฐบาลยังตกเป็นเป้าสายตาของผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยที่ติดโรคโควิด-19 อีกด้วย

จึงไม่แปลกที่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองฝ่ายค้านจึงเสนอญัตติเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เข้าสู่การพิจารณา

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอญัตติให้ยุบ ศบค. เพื่อส่งให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

ถ้อยแถลงของนายพิธาระบุว่า สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยขณะนี้ คือ 90 นาทีต่อ 1 คน มากสุดรอบ 20 ปี สถานการณ์
ของไทยตอนนี้แย่กว่าสหรัฐ อินเดีย และแย่กว่าค่าเฉลี่ยเอเชียถึง 2 เท่า

นี่คือเหตุผลที่ต้องยื่นญัตติด่วนยุบ ศบค.เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาสู่กลไกปกติ

นายพิธายังบอกอีกว่า นอกจากยุบ ศบค.แล้ว รัฐบาลต้องปรับ ครม.ด้วย

วิกฤตโควิดกระเถิบใกล้รัฐบาลเข้าไปทุกขณะ

ข้อเสนอของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะนายพิธาระบุชัดว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในการบริหาร

เปลี่ยนแปลงองค์กรคุมสถานการณ์ เปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี รวมทั้งเปลี่ยนแปลงนายกฯ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้สร้างความแข็งแกร่งให้ พล.อ. ประยุทธ์อย่างมากล้น ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่นิยมการปรับ ครม.

เมื่อประเทศเกิดวิกฤต สังคมเกิดความเกลียดชัง แต่ทุกอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ประเทศไทยจึงเข้าสู่โหมดอันตราย

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯในรัฐบาลชุดนี้วันที่ 9
มิถุนายน 2562 ขณะที่รัฐบาลมีวาระ 4 ปี สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม ปี 2566

เท่ากับว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์กำลังนำรัฐบาลเคลื่อนต่อไปในครึ่งเทอมหลังของการบริหาร

พล.อ.ประยุทธ์ต้องประคับประคองรัฐบาลต่อไปอีก 2 ปี ท่ามกลางมรสุมโรคโควิด-19 ที่โหมกระหน่ำ

ณ เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลควรรับฟังข้อเสนอจากทั่วสารทิศ เน้นนำเข้าวัคซีนและการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยับยั้งการระบาด

ต้องรับฟังผู้ประกอบการรายย่อย และปรับมาตรการเยียวยาด้วยความเอาใจใส่มากกว่าเดิม

ต้องหยุดยั้งตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งสูง คลี่คลายความอดอยาก และลดความหวาดกลัว

หาก พล.อ.ประยุทธ์ทำได้ ก็พอมีหนทางในการลงจากหลังเสือในช่วง 2 ปีนี้

แต่ถ้าแก้ไขไม่สำเร็จ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพบกับแรงปะทะอย่างหนักหน่วงจากสังคมขณะก้าวลงจากตำแหน่ง

ส่วนจะเกิดขึ้นเมื่อใด และรุนแรงแค่ไหนนั้น สุดจะคาดเดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image