สภาอุตฯ-สรท.หนุนรบ. ตั้ง‘สายการเดินเรือแห่งชาติ’

หมายเหตุ – ความเห็นภาคเอกชน กรณี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้น ตั้งเป้าหมายสำเร็จภายใน 1 ปี โดยดึงบริษัทเอกชนร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาการขนส่งทางทะเลของไทยให้มีประสิทธิภาพ

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เป็นเรื่องที่เห็นด้วยและสนับสนุนให้ทำเป็นอย่างยิ่ง แต่มองว่านโยบายนี้รัฐบาลไม่ควรลงทุนทำเอง ถ้ารัฐบาลลงมือทำเองทั้งหมด อาจจะไม่เหมาะสม เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของความคล่องตัวที่น้อยกว่าภาคเอกชน

Advertisement

หากรัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องการตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะทำการร่วมทุนกับภาคเอกชนหรือไม่ แต่คิดว่ารัฐบาลควรจะลงทุนกับโครงการนี้ ในรูปแบบที่รัฐบาลลงทุนร่วมกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการลงทุนแบบรัฐวิสาหกิจ หรือแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ
พีพีพี ก็แล้วแต่รัฐบาลจะตัดสินใจ หรือจะให้หน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพลงทุนทำโครงการดังกล่าว และรัฐบาลก็มาช่วยสนันสนุนและส่งเสริมในเรื่องของการให้สัมปทานแก่เอกชน หรือช่วยดูแลและแก้ไขเรื่องของกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุนและดึงดูดต่างชาติให้สนใจใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงเรื่องของการอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อลดอุปสรรคในการทำโครงการทำให้โครงการดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางในการเดินหน้าโครงการนี้ให้สำเร็จก็คือการดึงหน่วยงานขนาดใหญ่และเป็นหน่วยงาน
ที่แข็งแรง อย่าง ปตท. ให้เข้ามาช่วยหรือเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว เพราะ ปตท. ก็ใช้การเดินเรือในการขนส่งสินค้าอยู่แล้ว อาทิ การขนส่งน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ น่าจะมีความรู้และความชำนาญในด้านการเดินเรือ จะช่วยทำให้โครงการตามนโยบายดังกล่าว ดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ถ้ารัฐบาลในนามของกระทรวงคมนาคมดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยตนเองทั้งหมดนั้น คิดว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ มีโอกาสที่จะไม่สามารถสู้หรือแข่งขันกับภาคเอกชน ในกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้

สำหรับระยะเวลาที่จะดำเนินนโยบายการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ภายใน 1 ปีนั้น ถือว่าไม่ช้าเกินไป และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะดำเนินนโยบายนี้ เพราะในอนาคตเรื่องของการขนส่งโลจิสติกส์จะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมทุกประเภท และจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ รองรับให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการขนส่งระดับภูมิภาคต่อไป

Advertisement

ชัยชาญ เจริญสุข
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคม จัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อพัฒนาการขนส่งทางทะเลของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายสำเร็จภายใน 1 ปีนั้น การขับเคลื่อนดังกล่าวถือว่าเป็นแนวทางที่ดีในการผลักดันและเพิ่มศักยภาพให้กับด้านการส่งออกของไทย แต่ต้องดูว่าภาครัฐจะมีแผนในการพัฒนาอย่างไรบ้าง และตอบโจทย์กับการเป็นสายการเดินเรือแห่งชาติหรือไม่ ประเด็นหลักๆ ที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงคือ ในเรื่องของจำนวนเรือ หรือที่เรียกว่ากองเรือ จะสามารถเพิ่มจำนวน และขนาดได้มากแค่ไหน รวมทั้งต้องปักหมุดเป้าหมายเส้นทางในการเดินเรือให้ชัดเจนอีกด้วย

ในช่วงแรกของการพัฒนา คาดว่ารัฐบาลอาจจะเชื่อมเส้นทางการเดินเรือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน ก่อนจะขยายไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆ และคาดว่ารัฐบาลจะเริ่มจากการใช้เรือขนาดกลางในการเพิ่มจำนวนขนส่งสินค้า แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากขนาดของเรือแล้ว คือต้องมีพื้นที่ในเรือและตู้คอนเทนเนอร์ที่เพียงพอ ถ้ามีกองเรือแต่มีตู้ไม่มากพอต่อความต้องการ การมีสายการเดินเรือแห่งชาติ ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยดีขึ้นได้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้รับการส่งเสริมเรื่องตู้คอนเทนเนอร์เท่าที่ควร บริษัทหรือผู้ประกอบการที่ผลิตตู้ในไทยก็ยังมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น รัฐต้องมีการผลักดันในเรื่องนี้คู่กับการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติด้วย โดยเฉพาะการสร้าง ทั้งผู้ผลิตและผู้ซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นจำนวนมากในอนาคต และเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลหวังไว้ต่อไป

ส่วนปัญหาเรื่องตู้คอนเทน เนอร์ในช่วงนี้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ หลายช่วงเวลายังตึงตัว แต่ผลกระทบเริ่มทุเลาลงแล้วตามลำดับ เพราะในช่วงนี้สายการเดินเรือเริ่มมีการนำเข้าตู้เปล่าเพิ่มขึ้นแล้ว จากก่อนหน้านี้ที่มีการนำเข้าตู้เปล่าเพียง 1-1.2 แสนตู้ เพิ่มเป็น 1.5 แสนตู้ แต่ในการเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังไม่สามารถเป็นเครื่องการันตีได้ว่าจะสามารถทำให้การส่งออกในปี 2564 เติบโตได้มากกว่า 7% ได้ ดังนั้น จะต้องมีการผลักดันให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเพิ่มเป็น 2 แสนตู้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เพื่อเป็นส่วนช่วยสำคัญในการผลักดันภาคการส่งออกของไทยให้เติบโตถึง 10% ในปีนี้ให้ได้ต่อไป

ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในภาคการส่งออกแม้จะยังได้รับผลกระทบไม่มาก แต่เริ่มมีความกังวลเกิดขึ้นแล้ว ในเรื่องของซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง หากรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จนส่งผลต่ออุตสาหกรรมโรงงาน โดยเฉพาะอุตสากรรมที่มีการผลิตวัตถุดิบ เมื่อในส่วนดังกล่าวมีปัญหาก็จะสร้างผลกระทบต่อการผลิต และลามมาถึงภาคการส่งออก ซึ่งทุกอย่างหากมีการหยุดชะงักเพียงอุตสาหกรรมเดียวก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้

จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image