“วิโรจน์” จี้ รัฐบาลเปิดเผยสัญญาระหว่างไทย กับ แอสตร้าฯ ประเทศไทย 

“วิโรจน์” จี้ รัฐบาลเปิดเผยสัญญาระหว่างไทย กับ แอสตร้าฯ ประเทศไทย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 กรกฎาคม ที่พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงถึงเรื่องวัคซีนและสถานการณ์โควิด-19 ว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลอยู่ที่ 31,482 คน และนับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนเป็นต้นไป เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้าน จนถึงวันนี้มีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากถึง59,938 คน โดยในวันที่30 มิถุนายนจนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้านวันละ 2-3พันคน

นายวิโรจน์ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดปัญหา จำนวนผู้ป่วยที่รองเตียงตกค้างสะสมมีเพิ่มมากขึ้นทุกวันและกว่าประชาชนจะได้เตียงอาการก็หนักขึ้นสังเกตได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือมีอาการต้องใช้ท่อช่วยหายใจเพิ่มในอัตราที่ชันมาก ซึ่งในวันนี้เป็นวันแรกที่มียอดผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจทะลุ 600 คน และในสถานการณ์ปัจจุบันแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยรับภาระมากขึ้นอยู่ในสภาวะโอเวอร์โหลด ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะปล่อยให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้านและดำรงอยู่ภายใต้ ‘นโยบายเต่าคลาน’ ที่ไม่ปรับเปลี่ยนไม่ได้

นายวิโรจน์ กล่าวว่า การส่งมอบวัคซีนแอสต้าเซเนก้ายังขาดอีก 961,900 โดส ซึ่งการขาดส่งนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปเร่งติดตาม เพราะนี้หมายความถึงเกือบ 1 ล้านชีวิตของประชาชน และที่น่ากังวลก็คือ ข่าวที่เพิ่มเติมออกมาว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัดจะเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ โดย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต จะสำรองไว้ให้กับประเทศไทย นั่นหมายความว่าจากกำลังการผลิต 180-200 ล้านโดสต่อปี หรือ 15-17 ล้านโดสต่อเดือนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯจะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น แล้วแผนการจัดหาวัคซีน ที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมาที่เว็บไซต์ของรัฐบาลไทย เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 เพจไทยคู่ฟ้า หรือ เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ระบุตรงกันว่าในเดือนมิถุนายนนี้จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 6.3 ล้านโดส กรกฎาคม – พฤศจิกายนเดือนละ 10 ล้านโดส และธันวาคมอีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส แต่แผนดังกล่าวเท่ากับว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามแผนการส่งมอบที่รัฐบาลกำหนดได้แน่ๆ ต่อมา

นายวิโรจน์ กล่าวว่า วันที่ 2 กรกฎาคม ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมายอมรับแล้วว่า บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) คงไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้เดือนละ 10 ล้านโดสได้ โดยระบุว่าสัญญาจัดซื้อไม่ได้ระบุจำนวน เพียงกำหนดกรอบคร่าวๆไว้ที่ 61 ล้านโดสต่อปีเท่านั้น กรมควบคุมโรคได้ส่งเพียงแค่แผนการจัดฉีดวัคซีนให้ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) รับทราบที่เดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่ง บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ไม่ได้ปฏิเสธ

Advertisement

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามว่า ถ้ารัฐบาลไปทำสัญญาเช่นว่านี้จริง ก็ถือว่าเป็นความหละหลวมใหญ่หลวงมาก สัญญาอะไรเพียงแต่กำหนดกรอบตัวเลขคร่าวๆ แล้วอย่างนี้จะวางแผนการฉีดวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร ที่ประชาชนจดจำได้ ก็คือ รัฐบาลไทยอุดหนุนเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector ให้กับประเทศไทย โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่ปรากฎ ในหนังสือที่ นร 1106/(คกง.) 207 เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2563 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 63 ระบุไว้ชัดว่า “… เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนความต้องการ … และวัคซีนที่เหลือบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า วางเป้าหมายในการกระจายให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้” ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 63 ก็มีมติ ครม. อนุมัติงบกลาง ของงบประมาณประจำปี 63 อุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด”

นายวิโรจน์ กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยมีความชอบธรรมที่จะได้รับวัคซีนจาก บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) เดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 5-6 ล้านโดส บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จึงสามารถนำไปส่งออกไป การที่ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5 ล้านโดสต่อเดือน เป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน 600 ล้านบาท ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับ แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ว่ามีเงื่อนไขนี้บรรจุอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีเท่ากับว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชน 600 ล้านบาท ไปอุดหนุนเอกชน โดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขตามที่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบ ซึ่งหากไม่สามารถชี้แจงได้ อาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยจัดหาซิโนแวคมาแล้ว 19.5 ล้านโดส หักจากที่จีนบริจาค 1 ล้านโดส เท่ากับซื้อ 18.5 ล้านโดส ใช้งบประมาณ 10,036.25 ล้านบาท แต่ถ้าซื้อในราคาอินโดนีเซียจะใช้งบประมาณ 8,214 ล้านบาท แตกต่างกัน 1,822.25 ล้านบาท และจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ซิโนแวค 5 แสนโดส เท่ากับ 271.25 ล้านบาท ตกราคาโดสละ 542.5 บาท แต่อินโดนีเซียซื้อโดสละ 200,000 หรือเท่ากับ 444 บาท ต่อโดส ส่วนต่าง 98.5 บาทต่อโดส และ จากข้อมูลประเทศชิลี เห็นได้ชัดว่า วัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพสูงกว่า ซิโนแวค แต่รัฐบาลก็ไม่รับฟัง และยังมีนักวิชาการจำนวนมาก เสนอความคิดเห็น ไม่เข้าใจว่า ทำไมรัฐบาล ไม่รีบจัดวัคซีนแบบ mRNA เหตุใดล่าช้า แล้วเหตุใดไม่กระตือรือร้นในการเร่งรับ mRNA และ ไม่เคยจะเร่งรัดให้แอสต้าเซเนก้าส่งมอบได้ครบตามกำหนดเลย ตนคงไม่ต้องพูดว่า การซื้อวัคซีน mRNA นั้น มีความสำคัญ อย่างไร จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทางพรรคก.ก. จึงเรียกร้องให้รัฐบาล ปฎิบัติตามข้อเรียกร้อง ดังนี้

Advertisement

1. ให้รัฐบาลบริหารจัดการวัคซีนใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน พ.ศ. 2561 ในการบังคับให้ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ส่งมอบวัคซีนให้เป็นไปตามแผนการส่งมอบเดือนละ 10 ล้านโดส ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท และปฎิบัติตามคำแนะนำจาก ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์กลายพันธุ์ต่างๆ เช่น วัคซีน mRNA เป็นต้น และ ขอให้ยุติการกระจายวัคซีน ซีโนแวค เพราะ ไม่มีงานวิจัยใดๆ รองรับว่า สามารถป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ รวมถึง รัฐบาลต้องเปิดเผยสัญญาการจัดซื้ออย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบ และ เร่งปรับปรุงระบบการจองฉีดวัคซีน เพื่อให้การกระจายวัคซีนเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม

2. ให้ใช้มาตรการ Home Isolation หรือ การกักตัวรักษาตัวเอง โดยมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ติดตามอาการ สั่งจ่ายยาโดยแพทย์ และมีระบบในการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน มีระบบติดต่อฉุกเฉิน (Emergency Call) และมีระบบจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ให้กับผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่กักตัวรักษาตนเองที่บ้าน และพิจารณาอนุญาตให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังไม่ครบระยะเวลา 14 วัน แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเบาบาง ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขที่สามารถกักตัวรักษาตนเองได้ ให้กักตัวรักษาตนเอง เพื่อจัดสรรเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง และอาการหนัก
3.รัฐบาลควรเร่งตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test พร้อมกับอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย. เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อมารักษา สกัดกั้นการระบาด

4. รัฐบาล ต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการเยียวยา ประชาชนที่เป็นแรงงานในระบบ และ นอกระบบ อย่างทั่วหน้า ในแบบ เงินสด เท่านั้นและขอให้รัฐบาลชดเชยย้อนหลังด้วย

5. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ล็อคดาวน์ และ ผ่อนคลาย เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ ทางพรรคก้าวไกล

“จึงขอสั่งการ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งไปดำเนินการ” วิโรจน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image