เพื่อน ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ วีรบุรุษแรงงาน เล่าเหตุถูกอุ้ม 1 วันก่อนบินไปเจนีวา

เพื่อน ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ วีรบุรุษแรงงาน เล่าเหตุถูกอุ้ม 1 วันก่อนบินไปเจนีวา

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เวลาประมาณ 18.30 น. ที่บริเวณถนนพระรามที่ 5 ข้างทำเนียบรัฐบาล กลุ่ม ‘โมกหลวงริมน้ำ’ จัดกิจกรรม ‘คืน-ยุติธรรม’ เนื่องในวาระครบ 1 ปี 1 เดือนการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ประเทศกัมพูชา

บรรยากาศทั่วไป มีประชาชนทยอยสมทบตั้งแต่ก่อนเวลานัดหมาย โดยกระจายตัวบริเวณริมถนนพิษณุโลกใกล้ศาลกรมหลวงชุมพรฯ มีการนำป้ายผ้ามีข้อความต่างๆผูกริมกำแพงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร อาทิ รัฐล้มเหลว, ประชาธิปไตยจอมปลอม, ประยุทธ์ออกไป เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนนำป้ายแขวนคอมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อาทิ ไหนว่า 120 วันจะเปิดประเทศ ล็อกดาวน์ทำ…? และประยุทธ์ออกไป นะจ๊ะ… เป็นต้น

Advertisement

สำหรับบริเวณผิวจราจรถนนพระรามที่ 5 ตั้งแต่สะพานชมัยมรุเชฐ มีการจัดเตรียมสถานที่เสวนาในประเด็นการทวงคืนความยุติธรรม โดยมีการขึงป้ายผ้ามีข้อความว่า ‘ไม่ควรมีใครถูกคุกคาม เพียงเพราะความเห็นต่าง’ เป็นฉากหลัง

เวลา 18.20 น.โดยประมาณ เยาวชนผู้ดำเนินรายการอ่านประวัตินักต่อสู้ในอดีตที่ถูกคุกคามโดยรัฐ อาทิ นายเตียง ศิริขันธ์, นายทนง โพธิ์อ่าน, นายสมชาย นีละไพจิตร และนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ เป็นต้น

จากนั้น มีการอ่านรายชื่อและเรื่องราวของบุคคลที่ถูกอุ้มหายในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาทิ นายเด่น คำแหล้, นายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ สปป.ลาว และนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

Advertisement

เวลาประมาณ 18.40 น. ‘วรชาติ’ เพื่อนนายทนง โพธิ์อ่าน นักต่อสู้เพื่อแรงงานซึ่งถูกอุ้มหาย กล่าวในวงสนทนาตอนหนึ่งว่า นายทนงเป็นวีรบุรุษแรงงาน ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ ผลักดันประเด็นต่างๆ เพื่อผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทรวงแรงงาน, พ.ร.บ.ประกันสังคม และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น โดยเป็นผู้ต่อรองระหว่างผู้ใช้แรงงานกับภาครัฐ

วรชาติกล่าวว่า นายทนงถูกอุ้มหายในวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ยุค รสช. ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 วัน ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมองค์การแรงงานโลกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเคยประกาศว่าจะนำเรื่องราวความไม่ยุติธรรมไปฟ้องโลก การเดินทางครั้งนั้น นายทนงใช้งบประมาณส่วนตัว ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ ไม่อนุมัติให้เดินทาง ตอนนั้นกลุ่มแรงงานตกใจมากว่าผู้มีอำนาจใช้วิธีแบบนี้เหรอ หลังจากนายทนงหายตัวไป รัฐทำให้กระบวนการแรงงานอ่อนแอลง อำนาจการต่อรองน้อยลง ในวันนี้ ตนขอให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการต่อสู้ของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นนิสิต นักศึกษา ประชาชน โดยจะสานต่ออุดมการณ์ แนวคิดของนายทนงต่อไป

จากนั้น นางสาวภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโส แอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีเกือบ 700 รายจากการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่ได้เพิ่งคุกคามประชาชน เพราะในช่วงรัฐประหาร 2557 มีคนจำนวนมากคือกว่า 24,00 คนต้องขึ้นศาลทหาร มีการไปหาที่บ้าน ชวนกินกาแฟ มาถามว่าสบายดีไหม

น.ส.ภัทรานิษฐ์กล่าวว่า ในการบังคับสูญหาย มักคำกล่าวที่ว่า ‘คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี’ อย่างไรก็ตาม ตนชอบคำกล่าวของทนายความที่ติดตามคดีของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่า การอุ้มหาย เหมือนไม่อนุญาตให้อยู่ แต่ก็ไม่อนุญาตให้ตาย ซึ่งทรมานกว่าตายไปแล้ว ครอบครัวของเหยื่อบางรายถึงขนาดขอร้องว่าถ้าตายขอให้ได้ศพคืน เพราะเรามีสิทธิร่ำลาคนที่รัก โดยในวันนี้ผู้คนกล้าที่จะชูรูปคนที่ถูกลืม กล้าพูดในสิ่งที่เกิดในสังคม ซึ่งสำคัญกว่าการฝากความหวังไว้ที่สภาอย่างเดียว แต่ไม่ใช่ว่าการขับเคลื่อนผ้านสภาจะไม่สำคัญ

ต่อมา เวลา 19.15 น. มีการฉายคลิปวิดีโอบุคคลที่ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ ‘เบิร์ด’ ซึ่งถูกติดตามสะกดรอยไปที่บ้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เกิดปัญหาด้านระบบเสียง จึงมีการเชิญ ‘เบิร์ด’ ขึ้นพูดสดในกิจกรรม โดยเจ้าตัวเล่าถึงการถูกบุคคล 4 รายติดตามตนเองหลังเข้าร่วมกิจกรมทางการเมือง มีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด

ต่อมา เวลา 19.30 น. มีการเปิดคลิปวิดีโอนักข่าว และผู้ช่วย บก.ข่าว สำนักข่าวประชาไท ซึ่งติดตามทำข่าวการอุ้มหายนายวันเฉลิม โดยในตอนหนึ่งกล่าวว่า สื่อกระแสหลักมีการนำเสนอข่าวนายวันเฉลิมมากกว่าการสูญหายของบุคคลอื่นที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่

น.ส.ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโส แอมเนสตี้ ประเทศไทย

‘สำนักข่าวประชาไท’ เล่ากรณีการติดตามทำข่าวการอุ้มหายนายวันเฉลิม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image