คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ความรับผิดชอบ’ของ‘ผู้ต้องรับผิดชอบ’

วิญญูชนทั้งหลายคงยอมรับกันมานานแล้วว่าการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อรับมือกับวิกฤต COVID-19 ของรัฐบาลนั้นเต็มไปด้วยความผิดพลาดบกพร่องทับซ้อนต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่การเลือก การจัดหา และการ
กระจายวัคซีน

เหลือเพียงได้แต่หวังว่า นี่จะเป็นเรื่องของ “ความผิดพลาด” ผสมกับความโชคร้ายและความบังเอิญ
อันร้ายกาจล้วนๆ โดยไม่มีส่วนผสมของการทุจริตมิชอบหรือหาประโยชน์อันไม่ควรอื่นมาเกี่ยวข้องเลย
อาจเป็นความโชคร้ายที่เราเลือกแทงม้าผิดตัว จนเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดมาตัวหนึ่ง เพราะในตอนที่ตัดสินใจนั้นอาจจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน ส่วนเรื่องที่วัคซีนนั้นเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีเครือบริษัทโภคภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของไทยผู้เป็นเครือญาติเข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วย ก็ขอให้เป็นเรื่องบังเอิญเช่นกัน

ส่วนวัคซีนอีกตัวหนึ่งที่แม้ในเชิงประสิทธิภาพจะถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานที่ยอมรับได้ แต่ก็เป็นความ
โชคร้ายอีกแล้วที่แม้ว่าจะมีโรงงานผลิตในประเทศไทย แต่ก็ด้วยติดที่สัญญาหรือกำลังความสามารถในการผลิต ทำให้ไม่สามารถส่งมอบมาให้รัฐบาลกระจายต่อไปได้ตามแผน

ทั้งหมดนั้นทำให้มีประชาชนเข้าชื่อจองวัคซีนทางเลือกกับโรงพยาบาลเอกชนกันร่วมๆ 9 ล้านคน หากองค์กรเภสัชกรรมที่เป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐที่มีอำนาจเจรจาสั่งซื้อจากผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศกลับยักแย่ยักยันทำสัญญาหรือความตกลงสั่งซื้อกับบริษัทผู้ผลิตล่าช้าเกินสมควร จนสำนักงานอัยการสูงสุดออกมาเปิดเผยข้อมูลจนถูกชาวบ้านผู้รอวัคซีนทางเลือกนั้นสวดกันทั้งเมืองถึงทำงานได้นั้น ก็ขอให้เป็นเพราะการขาดประสบการณ์หรือไม่มั่นใจในกระบวนการ และท่าทีน่าโมโหของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้ที่ทำเป็นเชื่อ
ไม่ลงว่าทำไมประชาชนต้องการวัคซีนทางเลือกขนาดนั้น ก็เป็นเพราะความตกใจและไม่เข้าใจจนไม่อาจสรรหาคำพูดและการแสดงออกที่เหมาะสมได้

Advertisement

เพราะถ้าเรื่องนี้มันมีการทุจริตหรือสมคบกันเพื่อหาประโยชน์โดยมิชอบเข้ามาเกี่ยวข้องจนทำให้กระบวนการทั้งหมดบิดเบือนบิดเบี้ยวจนเกิดผลดังข้างต้นแล้ว มันจะเป็นความชั่วร้ายระดับอนันตริยกรรมที่ไม่อาจจินตนาการถึงการชดใช้ใดที่สาสมได้เลย ไม่ต้องคิดไกลยาวไปถึงเรื่องการรับโทษตามกฎหมายหรือการลงทัณฑ์ในปรโลก เพราะเชื่อว่าหากมีหลักฐานปรากฏชัดว่าเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ออกมาเป็นปัญหาเช่นนี้เกิดจากความมิชอบฉ้อฉลเช่นนั้นแล้ว รับรองได้ว่าผู้เกี่ยวข้องไปจนแซ่สกุลวงศาก็จะตกเป็นจำเลยที่ถูกสาปแช่งจากประชาชนคนไทยต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ต่อให้เป็นนิติบุคคลยักษ์ใหญ่ก็อาจจะถูกมาตรการทางกฎหมายและการลงทัณฑ์ทางสังคมจนถึงระดับที่ทำมาหากินประกอบธุรกิจในประเทศนี้ไม่ได้อีกต่อไป

เนื่องจากมันไม่ต่างจากการหาประโยชน์อันมิชอบจากชีวิต ความตาย กิจการ และอนาคตของประเทศนี้ อย่างที่ไม่รู้เมื่อไรจะกลับฟื้นคืนได้ จึงได้แต่ภาวนาว่า เรื่องนี้จะเป็นเพียงความผิดพลาด ผสมความบังเอิญ
โชคร้ายหลายซับหลายซ้อนทับถมผสมต่อเนื่องกันไปเท่านั้น ไม่น่าที่จะมีใครจิตใจชั่วร้ายต่อคนไทยด้วยกันได้เพียงนั้น

กระนั้นหากยอมรับ หรือยอมสันนิษฐานให้ก่อนได้ว่าเป็นเรื่องของการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลผสมประกอบกับความโชคร้ายแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไปในสภาวะวิกฤตเช่นนี้

เราอาจต้องยอมรับว่าทางเลือกที่จะเปลี่ยนตัวผู้นำหรือคณะรัฐบาลน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในระยะยาว หรือทำได้มาแล้วก่อนหน้านี้ แต่อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ด้วยข้อจำกัดเรื่องความร้ายแรงของสถานการณ์และเวลา คงต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ที่จะต้องเป็นผู้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปก่อน

ทั้งนี้ การจะรับผิดชอบได้ต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงในส่วนของการ “รับผิด” เสียก่อน ว่าทั้งหมดที่ผ่านมามีเรื่องไหนที่ทำเต็มที่และดีแล้ว เรื่องไหนที่ทำผิดพลาดไป และความผิดพลาดนั้นมีส่วนไหนที่จะแก้ไขได้ต่อไปอย่างไรหรือไม่

ประการแรกคือ ยอมรับว่าวัคซีนตัวหนึ่งที่รัฐเลือกมาและเป็นตัวที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่อาจจะได้รับมาตามจำนวนที่กำหนดในแผน และส่งผลกระทบต่อการกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างที่จะต้องฉีดให้ได้มากที่สุดแล้วจริง

กับการยอมรับว่าวัคซีนตัวหลักอีกตัวหนึ่งว่ามีประสิทธิภาพต่ำอย่างไม่อาจยอมรับได้ และไม่สามารถป้องกันการติดไวรัส หรือแม้แต่การลดอาการป่วยหนักก็อาจจะช่วยไม่ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้อยู่ด่านหน้าที่จะต้องรักษาผู้ป่วยโดยตรง

อย่าเสียเวลาให้ทีมปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) บิดเบือนเรื่องนี้ว่าเป็นการด้อยค่าวัคซีนของรัฐ หรือเป็นเรื่องสงครามการค้าวัคซีน รวมถึงท่องมอตโตบ้องตื้นซ้ำซากว่า “วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มี” ในขณะที่ผลประสิทธิภาพของวัคซีนตัวที่มีปัญหานั้นปรากฏชัดแล้ว และการที่ประชาชนที่จองวัคซีนผ่านทางระบบของ
รัฐบาลเองก็ถูกเลื่อนวันเข้าไปรับวัคซีนเป็นทอดๆ ความพยายามปฏิบัติการทางจิตวิทยาเช่นนั้นรังแต่จะเป็นการสุมไฟแห่งความเดือดดาลให้แก่ประชาชน

การยอมรับความผิดนั้นและรีบแก้ไขให้ถูกต้องนั้นเป็นพฤติการณ์หนึ่งที่บ่งชี้ว่าที่ผ่านมานั้นเป็นความผิดพลาดโดยแท้ที่ไม่ได้มีเรื่องทุจริตหรือประโยชน์โดย
มิชอบเข้ามาเจือปน

ในทางตรงข้าม ความพยายามปกปิดป้องปัดเช่นที่ปรากฏออกมาตามเอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาแนวทางการให้วัคซีน mRNA แก่บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเห็นของคณะกรรมการว่าหากนำวัคซีนของไฟเซอร์มาฉีดให้กลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์) แสดงว่ายอมรับว่า ซิโนแวคอันเป็นวัคซีนหลักที่ไทยใช้กับบุคลากรทางการแพทย์นั้นไม่มีผลในการป้องกัน “แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น” นั้นเป็นเรื่องที่สังคมไม่อาจให้อภัยได้ และนี่ต่างหากที่จะทำให้แก้ตัวไม่ได้ หากมีการชำระสะสางเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะโดยกระบวนยุติธรรมหรือในกระบวนการสืบสวนหาความจริงเพื่อจัดทำรายงานบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่จะมีชื่อสกุลของพวกท่านปรากฏอยู่ต่อไปในประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าช่วงเวลาอันสาหัสที่สุดของประเทศนี้

เช่นเดียวกับความพยายามของทหารชั้นนายพล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค.ที่พยายามปกป้องวัคซีนดังกล่าวนั้นจนเกินสมควร เกินกว่าที่วิญญูชนจะยอมรับได้ก็เช่นกัน

สิ่งที่ควรต้องทำต่อมาเป็นการเร่งด่วน คือการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับได้ และกระจายฉีดให้ประชาชนโดยทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด ตลอดจนเปิดทางให้มีการนำเข้าวัคซีนทางเลือกโดยโรงพยาบาลเอกชนให้เป็นไปโดยสะดวก

เพื่อการนี้ สิ่งแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนคือวิธีคิดแบบราชการไทย ที่ผูกมัดติดกับดักกับขั้นตอนของกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ

มิตรสหายท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการในภาคเอกชนให้ข้อมูลถึงกรณีการรับมือกับวิกฤตที่ใช้ปฏิบัติการ Operation Warp Speed ของรัฐบาลสหรัฐเป็นตัวอย่าง ได้แก่ การ “บูรณาการ” ระหว่างภาครัฐและเอกชนที่แท้จริงโดยมีภารกิจที่ใหญ่และชัดเจนมากคือการส่งมอบวัคซีนให้ได้ 300 ล้านโดสภายในวันที่ 1 มกราคม 2021 ซึ่งในรายละเอียดของปฏิบัติการนั้นเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องการกำจัดความยุ่งยากของระบบราชการ (bureaucracies and red tape) ออกไปให้หมด เพื่อทำ
ยังไงก็ได้ให้พัฒนาวัคซีนให้สำเร็จให้ได้ ระบบราชการอะไรที่ยุ่งยากต้องหาทางเอาออกไปให้ได้

ปฏิบัติการที่ว่านั้นเป็นการผลิตคิดค้นวัคซีนขึ้นมาใหม่เลยตั้งแต่ต้น แต่ของเราแค่ขอให้ระบบราชการไม่ทำให้การซื้อวัคซีนที่เขาคิดเสร็จแล้วมันช้าจนเกินไปนั้นง่ายกว่า จึงอยากให้ทีมงานของรัฐบาลลองพิจารณาดูว่าเขาทำได้อย่างไร เพราะวันนี้คงถึงเวลาที่เราต้องทำอะไรแบบนี้บ้าง เอาบริษัทยาทั้งหมดมานั่งในทีมเดียวกันกับฝ่ายราชการ แล้วทำทุกอย่างสุดความสามารถเพื่อเอาวัคซีนที่ดีมาฉีดให้คนไทยให้ได้ ความเร็วแม้เพียงวันเดียวก็มีความหมาย เพราะเราเหลือเวลาอีกไม่เยอะแล้ว

ถามว่าเราสามารถทำอย่างเขาได้หรือไม่ นี่แหละคือสิ่งที่กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรจะต้องใช้อย่างที่มันควรจะเป็น

มาตรา 7 ของพระราชกำหนดดังกล่าว ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับ บัญชา หรือช่วยในการป้องกันแก้ไขยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเพื่อฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน แทนอำนาจที่รัฐมนตรีกระทรวงใดมีอยู่ในฐานะเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายต่างๆ รวมถึงมีอำนาจแต่งตั้งบุคคล ซึ่งหมายถึงใครก็ได้ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ได้รับโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว โดยให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอยู่เดิมก็ได้

พูดง่ายๆ คือจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคนไหน หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปหรือภาคเอกชนคนใดมีอำนาจรัฐและใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอะไรก็ได้เป็นการชั่วคราวเพื่อการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลและฝ่ายราชการไทยสามารถทำอะไรที่คล้ายๆ กับ Operation Warp Speed ของสหรัฐอเมริกาได้ เพียงแต่ขอให้ท่านใช้กฎหมายนี้อย่างสมเจตนารมณ์บัญญัติไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติในอันที่จะ
“…กำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ…”

ไม่ใช่เพียงเพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินคดีกับคนคิดต่าง เห็นต่าง หรือประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง

สุดท้ายนี้ สำหรับความรับผิดชอบในอนาคตอันไกล อาจจะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ก็คือความรับผิดในทางกฎหมาย ซึ่งควรจะต้องยอมรับว่า ต่อให้เราหวังอย่างยิ่งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การกระทำโดยทุจริต หรือหาประโยชน์โดยมิชอบอย่างใด แต่ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของรัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สิน และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นี้ จะไม่ให้ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายในทางใดเลยนั้นก็คงจะไม่ได้

เพียงแต่จะต้องรับผิดชอบในทางแพ่งหรือความรับผิดอย่างอื่นตามกฎหมายปกครองอย่างไรเท่าไร และจะมีโทษทางอาญาด้วยหรือไม่ คงจะขึ้นจากพฤติการณ์และการปฏิบัติหน้าที่ตลอดจนการแสดงออกของพวกท่านหลังจากนี้ไปเป็นสำคัญว่ามีความจริงใจและใช้ความพยายามตั้งใจในการแก้ไขสถานการณ์ แก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง หรือเยียวยาสถานการณ์หรือไม่แค่ไหน

ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นพฤติการณ์ประกอบเพื่อพิจารณาถึงความสุจริตหรือทุจริตในการใช้อำนาจของท่านในทางอาญาด้วย ตามหลัก “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

ด้วยกรรมนั้นกำลังตกหนักแก่ประชาชนทั้งชาติ ไม่เว้นแม้แต่ตัวตนผู้พิพากษาตุลาการ ที่ท่านเหล่านั้นส่วนมากก็ได้รับวัคซีนเจ้าปัญหาตัวเดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์นั่นแหละ

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image