โฟกัสสูตรแต่งตั้ง ‘บิ๊กทหาร’ แชร์อำนาจรับโรดแมป’คสช.’

โปรดเกล้าฯลงมาเรียบร้อย สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลประจำปี 2559 ของทุกกองทัพ จำนวน 798 นาย โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ต้องยอมรับว่าบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในครั้งนี้ ผ่านการคัดกรองร่วมกันระหว่าง “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งผู้บัญชาการของแต่ละเหล่าทัพ

หากจะโฟกัส “เบอร์หนึ่ง” ของกองทัพบก (ทบ.) ในตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)” และตำแหน่ง “แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ.1)” ซึ่งถือเป็น 2 คีย์แมนสำคัญในการควบคุมกำลังการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ ขอกลั่นกรองเอง เพื่อให้ตอบโจทย์การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามโรดแมปของ คสช. ที่กำลังมุ่งเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2560 หรืออย่างช้าอาจเป็นช่วงต้นปี 2561 ตามกรอบของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ผ่านการทำประชามติ

คำตอบจึงออกมาที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท (ตท.16) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) เป็น “ผบ.ทบ.” คนที่ 40 ซึ่งถือเป็นนายทหารสายรบพิเศษ ที่ฝ่าวงล้อมนายทหารจากสายบูรพาพยัคฆ์ ขึ้นนั่ง “ผบ.ทบ.” ได้สำเร็จ เนื่องจากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นายทหารจากสายบูรพาพยัคฆ์ผูกปีขึ้นสู่ตำแหน่ง “ผบ.ทบ.” กันแบบรุ่นต่อรุ่น

นับตั้งแต่ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ตท.10) ปัจจุบันนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อด้วย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ตท.12) นายกฯ และหัวหน้า คสช. ตามด้วย “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และส่งต่อมาที่ “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) ผบ.ทบ. ที่จะเกษียนอายุราชการในเดือนกันยายนนี้

Advertisement

การเลือก “บิ๊กเจี๊ยบ” นายทหารจากสายรบพิเศษ สลับขึ้นมานั่ง “ผบ.ทบ.” นอกจากจะมาค้ำอำนาจของ คสช.ในช่วงปฏิรูปประเทศและเตรียมการเลือกตั้งแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนถ่ายดุลอำนาจในการแต่งตั้งนายทหารที่จะขึ้นมานั่งในตำแหน่งสำคัญๆ ของ ทบ.ด้วย เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการผูกขาดเพียงขั้วอำนาจใด อำนาจหนึ่ง

ขณะที่ในระดับ 5 เสือ ทบ. “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” จัดสูตรออกมา โดยขยับ “บิ๊กแกละ” พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร (ตท.17) เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) แคนดิเดตชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. เป็น รอง ผบ.ทบ. ดัน “บิ๊กเข้” พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ (ตท.18) แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) พล.ท.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล (ตท.16) แม่ทัพภาคที่ 3 เป็น ผช.ผบ.ทบ. พล.ท.สสิน ทองภักดี (ตท.17) รอง เสธ.ทบ. เป็น เสธ.ทบ.

ส่วนหน่วยคุมกำลังในระดับแม่ทัพภาค สูตรออกมาที่ “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ตท.20) นายทหารสาย “บิ๊กตู่” ขยับจากแม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ.1) “บิ๊กตู่” พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา (ตท.20) รอง มทภ.1 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ (ตท.18) รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 “บิ๊กอาร์ท” พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช (ตท.18) ที่ปรึกษากองทัพบก น้องชาย พล.อ.ธีรชัย เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ส่วน“บิ๊กแช” พล.ท.วิชัย แชจอหอ (ตท.17) ยังคงอยู่ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 เหมือนเดิม และ พล.ต.ศิริชัย เทศนา (ตท.16) รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

Advertisement

สำหรับหน่วยคุมกำลังระดับกองพล สูตรการแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญๆ ออกมาที่ พ.อ.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (รอง ผบ.พล.2 รอ.) เป็น ผบ.พล.2 รอ. พ.อ.สมชาติ แน่นอุดร (ตท.21) เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 พ.อ.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ (ตท.19) เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 พ.อ.สิทธิพร มุสิกสิน (ตท.22) เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 พ.อ.ธเนศ วงศ์ชอุ่ม เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 พ.อ.ณัฐวุฒิ ชุณหะนันท์ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 7

“ผู้การอู๋” พ.อ.วุฒิชัย นาควานิช (ตท.23) ซึ่งเป็นน้องชาย “พล.อ.ธีรชัย” รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (รอง ผบ.พล.ร.9) เป็น ผบ.พล.ร. พ.อ.วิชาญ สุขสง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 พ.อ.จิรเดช กมลเพ็ชร เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 พ.อ.ผดุงเกียรติ โปร่งจิตต์ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 พ.อ.พัลลภ เฟื่องฟู เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่

ขณะที่การจัดสูตรในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล (ตท.16) รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ (ตท.15) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ (ตท.16) ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.พลภัทร วรรณภักกตร์ (ตท.16) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (อัตราพลเอก) พล.ท.สุทัศน์ จารุมณี (ตท.18) ที่ปรึกษากองทัพบก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วนกองบัญชาการกองทัพไทยมี “บิ๊กปุย” พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ (ตท.15) เสนาธิการทหาร ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ (ตท.17) รองเสนาธิการทหาร เป็นเสนาธิการทหาร พล.อ.กฤษฎา อารีรัชชกุล (ตท.15) ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็นรอง ผบ.สส.

สำหรับกองบัญชาการกองทัพอากาศสูตรการแต่งตั้งออกมาที่ “บิ๊กจอม” พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง (ตท.16) เสนาธิการทหารอากาศ (เสธ.ทอ.) เป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.อ.ท.ทวิเดนศ อังศุสิงห์ (ตท.16) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผช.ผบ.ทอ.) เป็น รองผบ.ทอ. พล.อ.อ.เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว (ตท.15) ผช.ผบ.ทอ. เป็นคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ พล.อ.อ.สุทธิพงษ์ อินทรียงค์ (ตท.17) ผู้บัญชาการกรมควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ เป็น ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.ท.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน (ตท.18) รองเสนาธิการทหารอากาศ (รอง เสธ.ทอ.) เป็น ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.ท.สุรศักดิ์ พุ่มทอง รอง เสธ.ทอ. เป็น เสธ.ทอ.

ขณะที่กองทัพเรือมีการขยับ พล.ร.อ.พลเดช เจริญพูล (ตท.15) ที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพเรือ เป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผบ.ทร.) พล.ร.อ.นริศ ปทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (ผช.ผบ.ทร.) พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ (รอง เสธ.ทร.) เป็นหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา พล.ร.ท.สุชีพ หวังไมตรี รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ “บิ๊กลือ” พล.ร.ท.ลือชัย รุดดิษฐ์ (ตท.18) น้องชาย “บิ๊กโชย” พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ (ตท.16) ผช.ผบ.ทบ. ขยับจากผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ เป็น เสธ.ทร.

อย่างไรก็ตามสูตรการแต่งตั้งนายทหารประจำปี 2559 ที่ออกมานั้น ในมุมมองของ “นายยุทธพร อิสรชัย” รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ว่า การแต่งตั้ง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท (ตท.16) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.นั้น คิดว่าเป็นการประนีประนอมความสัมพันธ์อำนาจในกองทัพ พร้อมทั้งไกล่เกลี่ยความสมดุลในกองทัพ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่พึ่งกระทำอย่างยิ่ง ที่จะสลับสับเปลี่ยนขั้วอำนาจบ้าง เพื่อกระจายอำนาจต่างๆ ให้เกิดความสมดุลกับขั้วอื่นๆ เพราะว่าในอดีต 10 ปีที่ผ่านมาทหารสายบูรพาพยัคฆ์เข้ามามีอิทธิพลในตำแหน่งสูงๆ ในกองทัพค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ กลุ่มทหารสายบูรพาพยัคฆ์หาได้มีอำนาจในเพียงกองทัพไม่ หากแต่ยังมีอำนาจทางการเมืองอีกด้วย ดังนั้น การรักษาสมดุลที่กระทำเช่นนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

อีกทั้งยังเชื่อว่ากลุ่มนายทหารจากสายบูรพาพยัคฆ์จะผูกขาดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไว้แต่ในสายพวกตนอย่างเดียวเหมือนเช่นแต่ก่อนไม่ได้แล้ว เพราะว่าสถานการณ์ช่วงนี้มีปัจจัยการเมืองในประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่โผทหารออกมาแบบนี้ย่อมสะท้อนว่าเป็นการรักษาสมดุลอำนาจในทางสังคมอีกด้วย

ทั้งนี้การที่ พล.อ.เฉลิมชัยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกนั้น จะต้องทำหน้าที่ของตนให้ดี และต้องสร้างความยอมรับในกองทัพให้ได้ เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องสร้างความยอมรับจากคนทุกๆ กลุ่มในสังคม เพื่อให้ภาพของกองทัพมีความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งสิ่งนี้คือภารกิจหลักของ ผบ.ทบ. อันจะส่งผลต่อความชอบธรรมต่อองค์กรกองทัพอีกด้วยในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image