สัมภาษณ์พิเศษ ‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ ชี้ นักการเมืองต้นเหตุรัฐประหาร

หมายเหตุ : นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ มติชน เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลตลอด 2 ปี รวมทั้งวิเคราะห์การเมืองนับจากนี้

– ภาพรวม 2 ปี การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นอย่างไรและอะไรที่ควรเร่งทำ

ด้านการเมืองความมั่นคงจะเห็นว่ามีความสงบเรียบร้อย ถือเป็นความโดดเด่น ไม่มีปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศ และนักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งประชาชนต่างก็ชื่นชม แม้จะมีเหตุไม่ปกติอยู่บ้าง เช่น การวางระเบิด แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับหลายประเทศ ที่ถือว่าสำคัญคือเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญที่สำเร็จจากการออกเสียงประชามติ เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลกำหนดไว้ และเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นในปลายปี 2560 แน่นอน เป็นไปตามพันธสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาคมโลก

ส่วนเรื่องที่ควรเร่งทำคือ 1.การศึกษา เพราะหมายถึงการพัฒนาคุณภาพของประชากร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ วันนี้ประเทศไทยเราล้าหลังเพราะขีดความสามารถของเราตกต่ำ เนื่องจากคุณภาพของประชาชนตกต่ำ ประเด็นนี้ไม่ควรรอ แต่ต้องเร่งรัดและทำเลย ช้าไปวันเดียวก็เสียหายแล้ว 2.แก้ไขปัญหาอาชีพของเกษตรกร ต้องทำอย่างจริงจัง สามารถแก้ไขได้ การปล่อยให้ชาวนาขายสินค้าแล้วขาดทุนอย่างต่อเนื่องไม่ได้ช่วยให้ประเทศดีขึ้น หัวใจสำคัญการแก้ไขปัญหานี้คือ ราคาขายต้องไม่ต่ำกว่าราคาทุน ถ้าปล่อยให้ขาดทุนก็เท่ากับเป็นหนี้ นั่นคือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมากกว่าครึ่งศตวรรษ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลที่ไม่สามารถทำให้เกษตรกรเป็นมืออาชีพได้ เพราะมืออาชีพเขาจะไม่ผลิตอะไรที่ขาดทุน นี่เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลมาโดยตลอด

Advertisement

– การปฏิรูปที่ผ่านมาเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่

การปฏิรูปวันนี้ยังไม่เด่นชัดเท่าที่ควร และรัฐบาลประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการปฏิรูปตำรวจ การกระจายอำนาจจะไม่มีในช่วงนี้ ส่วนที่เห็นว่าจะทำอยู่บ้างแต่ยังไม่เป็นรูปธรรมคือการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ไม่มีการขับเคลื่อนทั้งระบบ ถามว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำได้มากกว่านี้หรือไม่ ผมว่าอาจจะเริ่มงานสำคัญได้ เพราะการจะทำให้สำเร็จนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แน่เสมอไป ประเทศไทยเคยมีกฎหมายการปฏิรูปมาหลายเรื่องแล้ว แต่เมื่อนำมาปฏิบัติกลับไม่สำเร็จ เช่น การปฏิรูปที่ดิน เราประกาศใช้กฎหมายปฏิรูปที่ดินมาตั้งแต่ปี 2518 ถึงวันนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน เราประกาศใช้กฎหมายปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี 2542 และวันนี้ก็ต้องยกเลิกอีก ผมกำลังรอดูยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปเรื่องต่างๆ อยู่ ซึ่งวันนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีความชัดเจน

– ถ้ามองด้านการเมือง ก็เหมือนปัญหาถูกซุกไว้ใต้พรม ซึ่งไม่ได้มีความสงบอย่างแท้จริง

Advertisement

ประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ไม่มีใครที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเป็นปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองที่ยังดำรงอยู่ เพียงแต่คณะรัฐประหารเข้ามายุติเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น กว่าจะออกไปก็ 3 ปีเศษ ซึ่งคงพอทำให้สถานการณ์บ้านเมืองไทยพอมีความหวัง การเข้ามาของ คสช. ในด้านเศรษฐกิจแม้จะยังไม่ดีมากนัก แต่อัตราความเจริญเติบโตก็เป็นบวก ส่วนหลังการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองทุกฝ่ายต้องแสดงความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองเอง อย่างน้อยวันนี้ก็ทำให้ประเทศเราไม่เป็นเหมือนซีเรีย และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง ที่ประชาชนไม่มีอนาคต ทุกข์ยากลำบาก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของกลุ่มการเมือง ดังนั้น มันจึงอยู่ที่นักการเมืองจะบริหารประเทศอย่างไร และความปรองดองผมถือว่าขึ้นอยู่กับกลุ่มการเมือง หากเราได้กลุ่มการเมืองที่ดีบ้านเมืองก็จะปรองดองกัน หากได้คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ความปรองดองก็จะไม่เกิดขึ้น คนที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ก็คือกลุ่มการเมือง คนอื่นไม่มีสิทธิ รัฐบาลไม่ต้องมาเป็นเจ้าภาพ เพราะใครมาเป็นก็ไม่สำเร็จถ้าเขาไม่เอาด้วย แต่ถึงวันนี้ก็ไม่ได้ยินเสียงที่จะปรองดองกัน ไม่มี

– คิดว่านักการเมืองได้บทเรียนอะไรบ้างจากรัฐประหารครั้งนี้

รัฐประหารไม่ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอีกแล้ว ถ้าไม่เป็นปัญหาจากนักการเมืองก็คงไม่มีรัฐประหาร ทรรศนะของผมรัฐประหารเกิดขึ้นจากการกระทำของนักการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่อยากให้มีรัฐประหารอีก นักการเมืองต้องทบทวนบทเรียนของตัวเอง ในขณะที่นักเรียน นักศึกษา เรียกร้องประชาธิปไตยมากว่า 40 ปี หวังว่าจะได้นักการเมืองที่ดี แต่ผลลัพธ์กลับพิสูจน์ให้เห็นว่า นักการเมืองที่เข้ามานั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน

– เท่าที่ดูจากแนวคิด พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนต้องการสร้างกำแพงกันนักการเมืองไว้หลายชั้น

เมื่อการเลือกตั้งแล้วจะป้องกันไม่ได้ วันหนึ่งนักการเมืองเข้ามาไม่มีใครกันนักการเมืองได้ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีหมวดว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิของกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง นั่นหมายความว่า นักการเมืองเขาจะออกมาใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ แม้มีข้อจำกัดบางประการอยู่ แต่นักการเมืองก็ยังหาช่องทางให้ตัวเองได้เสมอ เนื้อหาที่เขียนมาในรัฐธรรมนูญไม่มีทางเอานักการเมืองอยู่ ไม่มีทางที่กฎหมายจะสกัดกั้นนักการเมืองได้ นักการเมืองวันนี้ใช้อำนาจนอกกฎหมายมากกว่าตามกฎหมาย ขอให้ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี แม้กฎหมายไม่เปิดช่อง แต่ก็สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น และบางเรื่องที่มีกฎหมายกำหนด เขาจะไม่ทำก็ได้

– เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นการปูทางของ คสช.ยังคงมีอำนาจและเป็นนายกฯต่อไป

เป็นสิ่งที่ปรากฏในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นจริงตามนั้นสักเท่าใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ส.ว.มีบทบาทในการบริหารประเทศน้อยมาก เพราะการตัดสินใจหลายอย่างอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ประกอบด้วยนักการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หากไม่มีอะไรจริงๆ ก็คงไม่ถึงมือ ส.ว. เสถียรภาพของรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร การบอกว่าให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดนายกฯคนนอกขึ้นจริง หลายคนคิดแบบฉาบฉวย ว่าเมื่อ ส.ว.รวมเลือกนายกฯแล้วเราจะได้คนนอก เป็นการคิดแบบวิเคราะห์ไม่เป็น เพราะโอกาสที่จะได้นายกฯจากคนนอกนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากขั้นแรกต้องเลือกจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ หากไม่เอาตามนี้ก็ต้องมีเสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนฯ และหากกลุ่ม ส.ว.จะอยากได้นายกฯของตัวเอง จะต้องมาเอาเสียง ส.ส.ให้ได้อีก 126 เสียงบวกกับ 250 เป็น 376 เสียง ถึงจะได้เสียงเกินครึ่ง

และหากไปดูการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม จะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง แต่มีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยได้เสียงมาก ดังนั้นหากจะได้เสียง 2 ใน 3 พรรคใหญ่หนึ่งพรรคกับพรรคขนาดกลางหรือเล็กต้องร่วมมือกัน แต่วันนี้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างไม่เอานายกฯคนนอก แล้วนายกฯคนนอกจะมาได้อย่างไร และสมมุติว่ามีพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กต้องการนายกฯคนนอก คำถามคือจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้อย่างไร เมื่อพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคไม่เอาด้วย กฎหมายจะผ่านสภาได้อย่างไร การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็คงไปไม่ได้ อุปสรรคที่กั้นคนนอกไม่ให้เป็นนายกฯนั้นมีหลายขั้น

– คิดว่า คสช.อยากได้นายกฯคนนอกหรือไม่

ความอยากกับสิ่งที่เป็นจริงไม่เหมือนกัน หากเงื่อนไขไม่เปิดให้ ก็มาไม่ได้ แต่กลไกที่เปิดมานั้น ก็ไม่ง่าย แม้บางคนคิดว่าจะง่ายแต่ผมว่ามันไม่ง่าย

– มองว่าการเมืองไทยหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

หลังการเลือกตั้งสำหรับผมคิดว่า การเลือกตั้งระบบใหม่จะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง และต้องตั้งรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ และต้องดูว่าพรรคการเมืองใดจะมาผสมกัน หากคิดจะเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ ทางที่ดีต้องเสนอชื่อตั้งแต่เลือกตั้ง ไม่ต้องรอล็อก 2 แต่เมื่อเสนอแล้วก็เหมือนการเปิดหน้า ต้องพร้อมที่จะโดนถล่ม หากคิดว่าสามารถต้านทานแรงถล่ม สามารถรวมกลุ่มกับพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก แล้วมีเสียง ส.ว.สนับสนุนได้ ด่านต่อไปคือ การมาเป็นรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านนั้น คิดว่าจะอยู่ได้สักกี่น้ำ และประเทศไทยเองก็มีบทเรียนจากรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพมาโดยตลอด อย่างล่าสุดก็รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งต้องถามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าเหตุใดจึงออกแบบรัฐธรรมนูญมาอย่างนี้ ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วย ทั้งในโครงสร้างรัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การเมืองไทยไม่มีอนาคต ที่สุดแล้วจะปฏิรูปประเทศไม่ได้สักเรื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image