‘วิโรจน์’กัดไม่ปล่อย บุก ‘สถาบันวัคซีน’ ร้องเปิดสัญญาซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ-ชิโนแวค

‘วิโรจน์’ เรียกร้อง ‘สถาบันวัคซีน’ เปิดหนังสือสัญญาวัคซีนแอสตร้าฯ-ชิโนแวค

วันที่ 9 ก.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางยื่นหนังสือที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติเพื่อทวงถามสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ตามที่เคยยื่นคำขอข้อมูลข่าวสารของราชการเกี่ยวกับสัญญา ข้อตกลง และเงื่อนไขผูกพัน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca ที่รัฐบาลไทยทำไว้กับทุกองค์กรโดย ยืนยันว่าเหตุที่ต้องทวงถามเนื่องจากงบประมาณที่ใช้จัดซื้อวัคซีนเป็นเงินภาษีของประชาชน การจัดซื้อควรมีความโปร่งใสและเปิดเผยได้ อีกทั้งจะขอให้มีการเปิดเผยสัญญาการซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มด้วย

นายวิโรจน์ เปิดเผยว่า หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่า อยู่ระหว่างดำเนินการตามที่ร้องขอไป อย่างไรก็ตาม หากนับจากวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่มีการยื่นหนังสือนับเป็นเวลากว่า 55 วันแล้ว หรือหากนับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2564 ที่ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ก็เป็นเวลากว่า 160 วัน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

“หากเทียบกับที่สหภาพยุโรปเปิดเผยสัญญา AstraZeneca ซึ่งสามารถเปิดเผยได้เลย ประชากรทั่วโลกสามารถเข้าดูสัญญาฉบับนี้ได้ ผมจึงมีความสงสัยว่าเหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถเปิดเผยสัญญาดังกล่าวได้ทั้งที่เรื่องนี้มีความสำคัญและควรทำทันที และหากจำกันได้ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา AstraZeneca Thailand สามารถส่งมอบวัคซีนได้เพียง 5,371,100 โดส ซึ่งต่ำกว่าแผนการจัดหาวัคซีน AstraZeneca ที่รัฐบาลได้แจ้งให้กับประชาชนทราบที่ 6,371,100 โดส จึงยังห่างอยู่ถึง 961,900 โดส หรือเกือบหนึ่งล้านโดส ตรงนี้สำคัญมากเพราะหมายถึงชีวิตของประชาชน 961,900 คน ซ้ำร้ายยังมีข่าวที่ได้รับการยืนยันจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติว่า AstraZeneca Thailand จะเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป ทำให้ AstraZeneca Thailand ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลได้ตามแผนการจัดหาวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส โดยจะส่งมอบวัคซีนได้เพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดส เท่านั้น”

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งที่สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้รุนแรงมาก วันนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวนกว่าเก้าพันคน ความน่ากังวลคือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนผู้ที่หายกลับบ้านได้ กว่าห้าพันคน นั่นหมายความว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องหาเตียงให้ได้วันละ 5,000 เตียงหากวันนี้รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชายังไม่เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการจัดสรรวัคซีน พี่น้องประชาชนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หนักหนาอย่างแน่นอน

Advertisement

“ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์เช่นนี้ วัคซีนที่มีงานวิจัยยืนยันถึงประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปกป้องชีวิตของประชาชน และควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่กลับปรากฏว่าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา AstraZeneca Thailand สามารถส่งมอบวัคซีนได้ต่ำกว่าแผนการจัดหาวัคซีนที่รัฐบาลได้แจ้งกับประชาชน ซึ่งเป็นการผิดเงื่อนไขการอุดหนุนเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector แก่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตามหนังสือที่ นร ๑๑๐๖/(คกง.) ๒๐๗ ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ที่ได้ระบุเอาไว้เป็นสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “…เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ … และวัคซีนที่เหลือบริษัท AstraZeneca วางเป้าหมายในการกระจายให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้” ด้วยเหตุที่รัฐบาลไม่ได้แสดงท่าที ที่จะบังคับสัญญา เพื่อให้ AstraZeneca Thailand ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ให้ได้ตามแผนการจัดหาวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส จึงทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่า รัฐบาลได้ระบุเงื่อนไขดังกล่าวนี้ เอาไว้ในสัญญาหรือไม่”

นายวิโรจน์ ยังระบุว่า ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือเสนอแนะแก่รัฐบาล ให้เร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า วัคซีน Sinovac ไม่เคยมีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ และตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการถึงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้องเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และได้เสนอแนะให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผล เช่น วัคซีนชนิด mRNA มาทดแทนวัคซีน Sinovac

แม้ว่าในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ประสิทธิผลของวัคซีน Sinovac ที่ประเทศชิลี จะได้รับการตีพิมพ์ที่วารสาร New England Journal of Medicine แล้วก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นประสิทธิผลต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ที่เป็นสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทย ณ ขณะนี้ แต่รัฐบาลยังดึงดันที่จะจัดซื้อวัคซีน Sinovac อีก 28 ล้านโดส โดยที่ประชุม ศบค. ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 และต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเชื่อว่าเป็นการอนุมัติให้จัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมอีก 10.9 ล้านโดส ด้วยวงเงินงบประมาณสูงถึง 6,111.412 ล้านบาท โดยคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อโดสอยู่ที่ 560.68 บาท

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี หากไม่นับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 จะพบว่าการจัดซื้อวัคซีน Sinovac นั้นมีเพียง 2.5 ล้านโดสแรกเท่านั้น ที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ ซึ่งก็คือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27เมษายน 2564 ที่ระบุงบประมาณค่าวัคซีน Sinovac จำนวน 500,000 โดส เอาไว้ที่ 271.25 ล้านบาท เมื่อคำนวณแล้ว จะพบว่าค่าวัคซีน Sinovac นั้นมีค่าเท่ากับ 542.50บาทต่อโดส (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากการประเมินราคาวัคซีน Sinovac ข้างต้น เท่ากับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดซื้อวัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนที่ยังไม่มีงานวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบ ที่ยืนยันได้ว่ามีประสิทธิผล และมีความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ ไปแล้วถึง 18.5 ล้านโดส ใช้งบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชนไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท และหากยังคงปล่อยปละให้รัฐบาลจัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมอีก 10.9 ล้านโดส ก็ต้องใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 6,000 ล้านบาท และหากจัดซื้อตามแผนการจัดหาเพิ่มเติมอีก 28 ล้านโดส ก็ต้องใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่เรื่องที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย และกังวลเป็นอย่างยิ่ง

“เพื่อความโปร่งใส และทำให้ประชาชนมั่นใจว่า การจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาล มีความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากการทุจริต คอร์รัปชั่น ผมจึงได้ทำหนังสือ เพื่อยื่นความประสงค์ ในการขอหนังสือสัญญา และเอกสารทั้งหมดที่เป็นเงื่อนไขในการจัดหา การจัดซื้อ การส่งมอบ ราคา ตลอดจนข้อกำหนด และเงื่อนไขผูกพันต่างๆทั้งหมด ที่รัฐบาลได้ทำไว้กับทุกองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา และจัดซื้อ วัคซีน AstraZeneca และวัคซีน Sinovac ในวันนี้” นายวิโรจน์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image